Shooting Destination

เยือนศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า ปีนดอยชมวิวภูลังกา

ตามรอยพระบาท 12 โครงการหลวง 12 เส้นทางแห่งความสุขโครงการหลวง

จากรถครอบครัวเอนกประสงค์ ฉบับนี้ผมและทีมงานได้รับรถยนต์ Toyota Fortuner 2.8V 4WD AT ที่ออกแบบให้รองรับการลุยหนักๆ แบบเส้นทางออฟโรดได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าหากจะใช้แบบงานหรูหราในเมืองก็เหมาะสมและดูดีทีเดียว จากรูปลักษณ์ภายนอกที่ออกแบบได้สวยงาม และยังได้รับการเพิ่มเทคโนโลยีที่ช่วยให้การขับขี่ได้อย่างปลอดภัย และให้ความมั่นใจได้อย่างเต็มเปี่ยม อาทิ ระบบเบรก ABS หรือ Anti-lock Braking System ป้องกันล้อล็อกตายในขณะเบรก ช่วยให้หักหลบสิ่งกีดขวางได้, ระบบ EDB หรือ Electronic Brake force Distribution ซึ่งจะกระจายแรงเบรกไปยังล้อทั้งคู่หน้าและคู่หลัง โดยมีเซ็นเซอร์คำนวณความเร็วของล้อทั้งสี่ และควบคุมแรงดันนํ้ามันเบรกให้เหมาะสมกับความเร็วของล้อ เพื่อให้รถหยุดได้อย่างปลอดภัย โดยไม่มีอาการล้อล็อกหรืออาการท้ายสะบัดด้วยครับ

นอกจากนี้ยังมีระบบ A-TRC หรือ Active Traction Control ที่ทำงานประสานกันเป็นอย่างดีกับระบบ VSC หรือ Vehicle Stability Control ในการสั่งให้ปั๊มเบรก ABS ส่งแรงดันนํ้ามันที่เหมาะสมไปยังล้อที่เซ็นเซอร์ตรวจจับได้ว่ามีการหมุนฟรี หรือหมุนเร็วกว่าล้ออื่นๆ พร้อมกับลดรอบเครื่องยนต์เพื่อให้ตัวรถกลับมาอยู่ในระบบการขับขี่ปกติ ระบบ DAC หรือ Downhill Assist Control สำหรับการขับลงเขาหรือเส้นทางลาดชันที่ระบบจะช่วยควบคุมการเบรกของล้อทั้งสี่อย่าง อิสระ ให้รถใช้ความเร็วตํ่าโดยอัตโนมัติ โดยผู้ขับขี่ควบคุมพวงมาลัยไปยังทิศทางที่ต้องการเท่านั้นเอง

จุดหมายของเราคือ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า ซึ่งตั้งอยู่ในเขตวนอุทยานแห่งชาติภูลังกา ในพื้นที่อำเภอปง จังหวัดพะเยา ซึ่งสำหรับพะเยาแล้ว หลายๆ ครั้งหรือเกือบจะทุกครั้ง ผมเพียงผ่านมาแล้วก็ผ่านไปเท่านั้นเอง ยังไม่เคยแวะชื่นชมทรัพยากรต่างๆ ของ เมืองพะเยาเลยแม้แต่ครั้งเดียว คราวนี้จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่ได้มาเยือนอย่างเป็นทางการครั้งแรกครับ

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2530 โดยกรมพัฒนาที่ดินได้ทำการบุกเบิกพื้นที่ทำการพัฒนาที่ดิน จัดทำระบบอนุรักษ์ดินและนํ้า รวมทั้งจัดสรรพื้นที่ทำกินให้แก่ราษฎรเพื่อยุติการบุกรุกทำลายป่าไม้ และส่งเสริมให้ปลูกไม้ผลเมืองหนาว อาทิ สาลี่, พลับ, อโวคาโด และถั่วแดงหลวง โดยศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่ารับผิดชอบพื้นที่ 3 หมู่บ้าน นั่นคือ บ้านสิบสองพัฒนา บ้านปางค่าใต้ และบ้านปางค่าเหนือ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวม้งและชาวเมี่ยน หรือเย้า

ผมใช้เส้นทางจากกรุงเทพฯ มุ่งตรงสู่จังหวัดนครสวรรค์ ผ่านกำแพงเพชร ลำปาง ตรงเข้าสู่พะเยา ซึ่งตลอดเส้นทางนั้น เป็นถนนลาดยางราบเรียบ ช่วงล่างที่ได้รับการออกแบบใหม่ ให้ความรู้สึกนุ่มนวลและนุ่มหนึบในขณะขับขี่ รวมทั้งยังรู้สึกถึงการยึดเกาะ ถนนที่ดีขึ้นจากการกระจายแรงส่งไปยังล้อทั้งสี่ ไม่ว่าจะเป็นทางตรงๆ หรือทางโค้งก็ตาม ช่วยให้มั่นใจกับการขับขี่ได้ดียิ่งขึ้นครับ

และถึงแม้จะเป็นการขับขี่ในระยะไกล แต่การออกแบบเบาะนั่งให้โอบกระชับเข้ากับสรีระ ช่วยให้นั่งได้อย่างสบายมากทีเดียว โดยในรุ่นท๊อปสุดนั้น เบาะนั่งจะเป็นหนังสีชามัวร์ เดินด้ายตะเข็บสีทองแลดูหรูหราและสวยงามทีเดียว การวางตำแหน่งปุ่มปรับต่างๆ ในห้องโดยสารและคอนโซลกลาง ออกแบบให้ใช้งานได้สะดวก รวมทั้งการควบคุมอุปกรณ์บางอย่าง เช่น เครื่องเสียง ก็สามารถปรับควบคุมจากปุ่มบนพวงมาลัยได้ โดยไม่จำเป็นต้องละสายตาจากการขับขี่เพื่อความปลอดภัยสูงสุดอีกด้วยครับ

จากตัวเมืองพะเยา ผมเลี้ยวเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 1021 ตรงไปยังอำเภอจุน และดอกคำใต้ โดยเส้นทางนี้สามารถไปยังอำเภอเชียงคำ และเข้าสู่ภูชี้ฟ้าได้เลยเช่นกัน ผมขับตามเส้นทางสายหลักมาจนเกือบๆ ถึงอำเภอเชียงคำ และเลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 1186 และขับตามทางมาจนถึงสามแยกตัว T ก่อนที่จะเลี้ยวซ้าย ขับตามทางมาสักพักก็จะถึงสามแยกไฟแดง เลี้ยวขวาตามเส้นทางไปอีกประมาณ 17 กิโลเมตร จะเจอทางแยกซ้ายมือไปยังศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า ระยะทาง 6 กิโลเมตร และวนอุทยานภูลังกา ระยะทาง 9 กิโลเมตร

เส้นทางเข้าสู่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงค่อนข้างแคบ และคดเคี้ยวไปตามไหล่เขา แต่มีช่วงที่สูงชันมากๆ อยู่ไม่เยอะนัก บางช่วงเป็นทางลงเขาและหักเลี้ยวทันที แน่นอนครับ ขากลับก็จะเป็นตรงกันข้ามคือ หักเลี้ยวและขึ้นเนินเขาสูงทันทีเช่นกัน และเพื่อความมั่นใจ ผมเลือกใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ H4 กับเส้นทางแบบนี้ เพราะให้ความมั่นใจในการปีนป่ายทางชันได้ดีกว่าการใช้กำลังจากล้อเพียง 2 ล้อหลังเท่านั้น ซึ่ง Toyota Fortuner 2.8V 4WD AT ใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ Sigma 4 ผ่านระบบส่งกำลังของเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด ผมสามารถเลือกใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ H4 ได้ตลอดเวลา เมื่อขับขี่ด้วยความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อเจอกับสภาพถนนที่เปียกลื่น หรือเมื่อต้องขึ้นเนินเขาสูงชันแบบนี้ครับ หรือเมื่อต้องการยึดเกาะถนนที่มากขึ้น เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการขับขี่ที่มากขึ้นด้วย ส่วนเส้นทางขรุขระ หรือเส้นทางแบบออฟโรด หรือในการขับขี่ที่ต้องการแรงบิดที่สูงมากขึ้น ผมจะเลือกใช้ระบบขับเคลื่อนแบบ L4 โดยการบิดเลือกระบบขับเคลื่อนที่แป้นปรับตรงคอนโซลหน้าได้ตามสภาพถนน หรือตามสภาพการขับขี่ที่ต้องการครับ

ลิ้นจี่ที่กำลังแตกดอกออกช่อ ริมทางขึ้นไปยังศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า

สองข้างทางส่วนใหญ่เป็นไร่ลิ้นจี่ที่กำลังแตกดอกออกช่อกันเต็มต้น คาดว่าอีกไม่นานก็จะติดลูกและเติบโตพร้อมเก็บเกี่ยวสร้างรายได้ให้กับชาวไร่ต่อไป นอกจากนี้ยังมีแปลงพริกหวานปลูกอยู่ในโรงเรือนเป็นระยะๆ ก่อนที่จะถึงที่ทำการศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า ผมและทีมงานแวะเข้าไปสั่งอาหารและเครื่องดื่มเสริมพลังงานให้กับร่างกายก่อนที่จะตะลุยถ่ายภาพกันต่อ “วันนี้ไม่มีนํ้าแข็งนะคะ ปกติในวันธรรม-ดานักท่องเที่ยวน้อย เลยไม่ได้สั่งขึ้นมาค่ะ” เจ้าหน้าที่ศูนย์แจ้งกลับมาเมื่อเราสั่งกาแฟเย็น “ตอนนี้มีนํ้าเปล่าแช่เย็นอย่างเดียวค่ะ” “ตามนั้นครับ” ผมตอบกลับไป

มะเขือมิ๊กกี้เม้าท์ หน้าตาน่ารักน่าชัง ที่มีอยู่มากมายภายในที่ทําการศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า

หลังจากที่อิ่มหนำสำราญกันแล้ว ผมสอบถามข้อมูลเบื้องต้นในการถ่ายภาพในสถานที่ต่างๆ ภายในพื้นที่ของศูนย์ฯ “ได้เลยค่ะ แปลงปลูกพริกหวานกับผักต่างๆ เป็นของชาวบ้านที่มาใช้พื้นที่ภายในศูนย์ ขอกับชาวบ้านได้เลย” อย่างที่ทราบกันว่า จุดเด่นของโครงการหลวง คือช่วยให้ชาวบ้านได้มีอาชีพที่แน่นอน มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และรับซื้อผลผลิตของชาวบ้านส่งไปจำหน่ายยังร้านค้าของโครงการหลวงทั่วประเทศ สำหรับกล้าพันธ์ุพืชต่างๆ นั้น ชาวบ้านก็จะมาซื้อจากโครงการหลวงในราคาพิเศษ และนำไปปลูกเพื่อสร้างรายได้กันต่อไป ผมขับรถย้อนกลับไปถ่ายภาพที่แปลงพริกหวานของพี่วุฒิชัยที่ขับผ่านมาแล้ว ซึ่งปลูกเรียงกันอยู่ 4 โรงเรือน ทั้งหมดเป็นพริกหวานสีเหลืองและสีแดงที่เริ่มแก่ และเริ่มเปลี่ยนสีผิวจากเขียวๆ เป็นสีแดง และสีเหลือง แปลงพริกหวานแต่ละสีถูกปลูกแยกกันอยู่ในโรงเรือน มีหลังคาโปร่งใส และปิดล้อมด้วยตาข่ายถี่ๆ ป้องกันแมลงเข้ามากัดกินทำความเสียหายครับ

แปลงพริกหวานที่มาใช้พื้นที่ภายในศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่

พริกหวานแดงกำลังเปลี่ยนสี บ่งบอกถึงใกล้ถึงช่วงเก็บเกี่ยว

พี่วุฒิชัย เจ้าของแปลงพริกหวาน กำลังจับเพลี้ยตัวเล็กๆ ที่เข้ามากัดกินดอกพริก

“จะรู้ได้ยังไงว่าต้นไหนสีเหลือง ต้นไหนสีแดงครับ” ผมถามพี่วุฒิชัยเจ้าของสวน “โครงการหลวงจะคัดแยกพันธ์ุแต่ละสีไว้แล้วครับ” พี่วุฒิชัยไขข้อข้องใจ มิน่าละถึงไม่มีปะปนกันเลย ผมนึกในใจ “พี่เพาะพันธ์ุเองบ้างหรือเปล่าครับ” ผมถามต่อ “ไม่ครับ มีชาวไร่บางคนลองเพาะพันธ์ุเอง แต่บางทีพันธ์ุก็เพี้ยน ลูกไม่สมบูรณ์ ให้ผลผลิตที่ไม่แน่นอน พันธ์ุพริกหวานจากโครงการหลวงจะให้ผลผลิตที่ดีกว่า ทนโรคได้ดีกว่าครับ” “ผลผลิตทั้งหมดนี่ ส่งให้โครงการหลวงที่เดียวเลยเหรอครับ” ผมถามต่อ “ใช่ครับ โครงการหลวงรับซื้อทั้งหมด” นั่นคือ ผลพวงจากแนวพระราชดำริของในหลวง รัชการที่ 9 ที่ทำให้ประชาชนในแนวเทือกเขาสูงที่พระองค์ได้เสด็จไปเยือน ได้มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น …สังเกตุได้จาก Hilux Revo ใหม่เอี่ยมที่จอดอยู่ตามไร่ต่างๆ นั่นเองครับ

เมนูอาหารจากผักสดๆ ที่ปลูกอยู่ภายในศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า

ข้างๆ แปลงพริกหวานของพี่วุฒิชัย มีทั้งไร่ลิ้นจี่ แปลงผักเบบี้จักรพรรดิ หรือผักกวางตุ้งลูกผสมที่ผมเพิ่งหม่ำแบบผัดนํ้ามันหอยไปหนึ่งจานมาหมาดๆ นั่นเองครับ  “เอาเคพเบอรี่ไปกิน” เสียงสาวชาวไร่ที่ผมไม่ได้ถามชื่อยื่นถุงใส่ผลไม้ชนิดหนึ่งมาให้ในระหว่างที่ผมเดินไปเดินมาเพื่อถ่ายภาพอยู่แถวๆ นั้น ผมทำหน้างงๆ พร้อมนึกในใจ ลูกอะไรหว่าาาาา.. สาวชาวไร่ หยิบขึ้นมาลูกหนึ่ง พร้อมแกะเปลือกนอกสีนํ้าตาลอ่อนที่ห่อหุ้มอยู่ เผยให้เห็นลูกกลมๆ ขนาดประมาณนิ้วโป้งสีเหลืองสดอยู่ด้านใน “กินได้เลย” สาวชาวไร่ยื่นมาให้ ผมหยิบเข้าปาก และกัดเข้าไปเต็มคำ “ปรี๊ดดดดดดดดด..” รู้สึกถึงความเปรี้ยวซ่านกำลังวิ่งพล่านไปทั่วช่องปากในบัดดล.. แต่พอเคี้ยวไปอีกหน่อย ก็มีรสหวานตามมา “อร่อยดีแฮะ” ผมคิดในใจพร้อมๆ กับหยิบขึ้นมาแกะเปลือกเอง โยนเข้าปากไปอีก 3 ลูก อิ อิ อิ.. พร้อมรำพึงรำพัน ทำไม ไม่เคยกินมาก่อนหนอออออ…

เคพกูสเบอรี่ ผลไม้มหัศจรรย์ที่อุดมไปด้วยวิตามินมากมาย

กลับมาหาอากู๋ เสริชดูถึงได้รู้ว่า “เคพเบอรี่” หรือเคพกูสเบอรี่ (Cape Gooseberry) เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารอาหาร และมีวิตามินซีสูงมาก เป็นพืชพันธ์ุเดียวกับพริก, มะเขือ และมะเขือเทศ ชื่อไทยคือ “โทงเทงฝรั่ง” มีต้นกำเนิดมาจากประเทศในแถบอเมริกาใต้ ส่วนสรรพคุณทางยานั้นมากมายจนน่าทึ่ง โดยอุดมไปด้วยวิตามินซี บำรุงกระดูกและฟัน ช่วยป้องกันอาการหวัด และโรคภูมิแพ้ นอกจากนี้ยังมีวิตามิน A ช่วยบำรุงสายตา และเต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) ช่วยให้ผิวพรรณดีขึ้น รวมทั้งช่วยให้มีผมดกดำเป็นเงางามอีกด้วย เอ๊า!! สาวๆ รู้แล้วละก็จัดมาเป็นผลไม้ประจำบ้านกันไปเลยนะครับ

เสร็จสรรพจากการถ่ายภาพตามแปลงพริกหวาน แปลงผัก และ ไร่ลิ้นจี่แล้ว เราเดินทางต่อไปยังวนอุทยานภูลังกาที่อยู่ห่างออกไปอีก 3 กิโลเมตร “ที่นี่มีจุดท่องเที่ยวที่ไหนบ้างครับ” ผมสอบถามเจ้าหน้าที่ตรงประตูทางเข้า “ด้านในมีจุดชมพระอาทิตย์ตกครับ ส่วนบนยอดดอยภูลังกาเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้น แต่ทางขึ้นค่อนข้างลำบาก ต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อขับขึ้นไปสามกิโลครึ่งครับ” เจ้าหน้าที่ตอบ กลับมา “ที่นี่มีบ้านพักมั๊ยครับ” ผมสอบถามไปแบบหวังฟลุ๊ก เพราะตามระเบียบแล้วบ้านพักอุทยานต่างๆ จะต้องจองมาก่อนล่วงหน้า นอกจากว่าจะไม่ใช้หน้าท่องเที่ยวจริงๆ ที่บ้านพักว่าง ซึ่งอาจจะคุยกับเจ้าหน้าที่ได้ “เต็มครับ” แต่มีลานกางเต็นท์ว่างอยู่ พักได้นะครับ” เจ้าหน้าที่ตอบกลับมา “ขึ้นไปสอบถามได้ที่ด้านบนเลยครับ” เจ้าหน้าที่เสริมพร้อมชี้มือไปที่อาคารที่ตั้งอยู่บนเนินสูงขึ้นไป

“เต็นท์นอนขนาด 3 คน พร้อมอุปกรณ์เบาะรองนอน และถุงนอนคืนละ 300 บาทครับ” ผมตกลงพร้อมขับรถตามเจ้าหน้าที่ขึ้นไปบนเนินที่สูงขึ้นไปอีก “เอาลานไหนดีครับ ลานนี้มีกรุ๊ปที่มาพร้อมๆ กับที่จองบ้านพักไว้อ่ะครับ” เจ้าหน้าที่ถาม พร้อมชี้แจงเกี่ยวกับเต็นท์ 5 หลัง ที่กางเรียงกันอยู่ที่ลาน 6 “ลาน 9 ก็แล้วกันครับ ขอห่างมาหน่อย” ผมตอบกลับไปพร้อมกับสอบถามถึงจุดท่องเที่ยวในวนอุทยานภูลังกา “ด้านโน้นเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกครับเดินขึ้นเนินไปอีกหน่อย ตรงนั้นก็มีลานกางเต็นท์ครับ แต่ลมค่อนข้างแรง ผมเลยไม่แนะนำครับ” เจ้าหน้าที่ตอบพร้อมชี้มือไปยังเนินด้านหน้าที่มีเส้นทางเดินขึ้นไป “ส่วนยอดดอยภูลังกา ต้องขับรถไปอีก 3.5 กิโลเมตร และเดินเท้าไปอีก 800 เมตรครับ แต่ทางขึ้นจะต้องใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อนะครับ” เจ้าหน้าที่ตอบกลับมา พร้อมกับมองเลยไปยัง Toyota Fortuner 2.8V 4WD AT ที่จอดอยู่ลานจอดด้านหลังของผม “ขับสี่ครับ” ผมตอบกลับไป และวางแผนถึงการเดินทางในเช้าวันรุ่งขึ้น

ยามเย็นบนจุดชมวิวลานกางเต็นท์ วนอุทยานภูลังกา

ใกล้ๆ ช่วงพระอาทิตย์ตก ผมเดินหิ้วขาตั้งกล้องไปกางรออยู่ที่จุดชมวิวด้านบน มีนักท่องเที่ยวขึ้นมากางเต็นท์ที่นี่ 2 หลัง เมฆ ค่อนข้างเยอะ ทำเอาใจแป้วว่าจะไม่ได้ดวงอาทิตย์กลมๆ ตกลงลับหลังเขา หรือแสงสีส้มแดงสาดทาบทาผืนฟ้า แต่ก็หวังลึกๆ ว่า ในกลุ่มเมฆทั้งหมดนั้น น่าจะมีช่องให้แสงสาดออกมาบ้าง ซึ่งก็ตามที่หวังครับ ฟ้าเปิดขึ้นมาในช่วงที่พระอาทิตย์เริ่มคล้อยตํ่า และสาดแสงออกมา สักพัก ก่อนที่จะหายลับลงไปในกลุ่มเมฆทะมึนด้านล่างที่เกาะกลุ่มกันแน่นหนาไม่ยอมขยับไปไหน ..แต่เท่านั้นก็เพียงพอสำหรับผมแล้วละครับ นักท่องเที่ยวหลายๆ คนเดินกลับไปยังที่พักทันทีที่ดวงอาทิตย์ลับก้อนเมฆ แต่ผมยังคงรอแสงชุดสุดท้ายที่จะสาดกระจายออกมา หลังดวงอาทิตย์ตกลงเล็กน้อย แต่ก็มีแสงสาดออกมาเพียงแค่ชั่วครู่เท่านั้นเองครับ ถ่ายภาพธรรมชาติเอาแน่นอนไม่ได้จริงๆ

ตี 4 ครึ่ง ผมและทีมงานเตรียมตัวเดินทางสู่ยอดดอยภูลังกา เพราะไม่แน่ใจในเส้นทาง จึงต้องเผื่อเวลาไว้เยอะหน่อย อีกทั้งเจ้าหน้าที่ก็แจ้งไว้ก่อนแล้วว่าต้องเป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อเท่านั้น จึงจะขึ้นไปได้ แสดงว่าเส้นทางไม่ได้ราบเรียบแน่ๆ แสงไฟหน้ารถแบบเลนส์โปรเจคเตอร์ Bi-Beam LED สาดส่องสว่างไสวให้เห็นว่าเส้นทาง ในช่วงแรกยังคงเป็นทางปูน แต่ค่อนข้างแคบ และเป็นเส้นทางวิ่งสวนกัน ขับมาเกือบๆ กิโล เส้นทางแปรเปลี่ยนเป็นทางแบบออฟโรดที่ทอดยาวลึกเข้าไปในดงไม้ที่ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น

ผมหยุดรถ และเปลี่ยนเกียร์เป็นแบบ L4 เพราะต้องการแรงบิดของเครื่องยนต์ที่สูงขึ้นมากพอที่จะพาตัวรถไต่ตามเส้นทางขรุขระ และเป็นร่องเป็นหลุมที่เกิดจากการไหลเซาะของนํ้าฝนนั่นเอง บางเนินค่อนข้างสูงชันพอสมควร ผมแตะคันเร่งให้รอบเครื่องอยู่ที่ประมาณ 1500 รอบต่อวินาที และให้แรงบิดขับเคลื่อนตัวรถค่อยๆ ไต่เนินขึ้นไป โดยหลีกเลี่ยงการกดคันเร่งหนักๆ เพราะอาจจะทำให้ตัวรถไถลออกนอกเส้นทางที่ค่อนข้างลื่นได้ครับ

ประมาณครึ่งชั่วโมงผมเดินทางมาถึงจุดจอดรถ ก่อนที่จะเดินเท้าต่อขึ้นไปยังยอดเขา ฟ้ายังคงมืดอยู่ ดังนั้นไฟฉายจึงมีความจำเป็นมากทีเดียว มีนักท่องเที่ยวขึ้นมาสมทบอีกหนึ่งคันจากกลุ่ม 4×4 ภูลังกา ซึ่งถ้าหากมาเที่ยวโดยไม่ได้ใช้รถแบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ก็สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ของวนอุทยาน เพื่อใช้บริการในการพาขึ้นดอยได้ครับ

ยอดดอยภูลังกา หรือดอยเทวดา จากการเรียกขานของชาวเมี่ยนหรือเย้า ที่เป็นชนกลุ่มใหญ่ที่อาศัยอยู่ในแถบนี้ เป็นยอดดอยที่อยู่ในแนวเทือกเขาสันปันนํ้าที่มีแนวเขาสลับซับซ้อนกันมากมาย หลังจากที่เดินมาได้ประมาณครึ่งทาง จะเจอทางแยกและป้ายบอกทาง ด้านขวาไปยังยอดภูนม ระยะทาง 100 เมตร และด้านซ้ายไปยอดภูลังกา 400 เมตร และลานหินล้านปี 350 เมตร

ดอยภูนม มุมมองจากยอดภูลังกา

จุดชมวิวบนยอดดอยภูลังกา ความสูง 1,720 เมตรจากระดับนํ้าทะเล

ยอดดอยภูลังกา มีความสูงจากระดับนํ้าทะเล 1,720 เมตร ทางเดินจะเลาะไปตามแนวหน้าผา บนยอดดอยสามารถชมวิวได้รอบ 360 องศา สามารถชมได้ทั้งพระอาทิตย์ขึ้น และพระอาทิตย์ตก ถ้าหากเป็นวันที่ฟ้าใสๆ สามารถมองไปได้ไกลถึงฝั่งลาวเลยทีเดียว และถ้าหากเป็นวันที่มีความชื้นสูง ก็จะเห็นทะเลหมอกห่มคลุมยอดเขาด้านล่าง ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายมากที่วันของผมไม่ใช่ทั้งสองรูปแบบครับ เฮ้อ!! สงสัยต้องมีนัดล้างตาละครับ

มีนักท่องเที่ยวขึ้นมาชมวิวตอนเช้าอยู่เยอะพอสมควร ผมถ่ายภาพอยู่จนนักท่องเที่ยวอื่นๆ กลับลงไปจนหมด มองซ้าย มองขวา รู้สึกโดดเดี่ยวยังไงพิกล เลยเก็บอุปกรณ์เดินทางกลับลงมายังที่จอดรถ แน่นอนครับ เหลือ Toyota Fortuner 2.8V 4WD AT สีขาวมุก จอดโดดเด่นเป็นสง่าอยู่เพียงคันเดียว

ขากลับ เส้นทางส่วนใหญ่เป็นทางลงเขา ซึ่งผมยังคงใช้ระบบขับเคลื่อนแบบ L4 อยู่เช่นเดิม ความโดดเด่นของ Toyota Fortuner 2.8V 4WD AT ใหม่ที่ผมเองชื่นชอบ นั่นคือระบบ DAC หรือ Downhill Assist Control ที่ระบบจะช่วยควบคุมการเบรกของล้อทั้งสี่อย่างอิสระ ให้รถใช้ความเร็วตํ่าลงโดยอัตโนมัติ ในขณะที่ขับลงเขาหรือเนินสูงชัน โดยที่ผมไม่จำเป็นที่จะต้องคอยเหยียบเบรกเพื่อลดความเร็วของรถอยู่ตลอดเวลา และผมเพียงควบคุมพวงมาลัยไปยังทิศทางที่ต้องการเท่านั้นเองครับ ซึ่งระบบนี้จะช่วยลดการทำงานหนักๆ ของเบรก ช่วยให้ระบบบเบรกมีอายุการใช้งานนานขึ้นด้วยครับ

หลังจากที่กลับลงมาถึงที่ทำการวนอุทยานแล้ว ผมเดินทางต่อมายังศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่าเพื่อรับประทานอาหารเช้า และสังเกตเห็นผ้าปักที่ทำเป็นพวงกุญแจประดับอยู่ตรงโต๊ะรับแขกตรงทางเข้า “สวยดีนะ” ผมเอ่ยขึ้น น้องเจ้าหน้าที่ศูนย์ที่นั่งคัดเลือกลูกเคพเบอรี่ข้างๆ เอ่ยขึ้น “ถ้าพี่สนใจผ้าปัก ไปคุยกับพี่หมวงได้นะ เค้าอยู่ที่บ้านปางค่าใต้ คนนี้รู้เรื่องผ้าปักชาวเมี่ยนเป็นอย่างดี” แนะนำคนให้ พร้อมบอกเส้นทางไปบ้านพี่หมวงให้เสร็จสรรพ

หลังมื้อเช้า ผมมุ่งหน้าเข้าสู่บ้านปางค่าใต้ ตามเส้นทางที่ได้รับข้อมูลมา หาไม่ยากครับ มีคนกำลังนั่งเย็บผ้าอยู่ที่บ้านขวามือ “พี่ หมวงหรือเปล่าครับ” ผมทักไป “ใช่ค่ะ” พี่หมวงตอบกลับมา ผมแนะนำตัว พร้อมอธิบายถึงที่มาที่ไปก่อนที่จะถามเรื่องผ้าปัก พี่หมวงหยิบผ้าหลายๆ ชิ้นมาให้ดู “เป็นตัวอย่างผ้าปักลายโบราณค่ะ เป็นฝีมือคนเฒ่าคนแก่ คนรุ่นใหม่ปักไม่ได้หรอกค่ะ” พี่หมวงอธิบายเพิ่มเติม พร้อม แนะนำถึงเรื่องลวดลายต่างๆ ว่ามีที่มาอย่างไรบ้าง โดยชาวเมี่ยนหรือเย้าที่เราเรียกกันติดปาก ได้ชื่อว่าเป็น “ราชินีแห่งผ้าปัก” เลยละครับ

ผู้เฒ่าชาวเมี่ยนปักผ้าลายโบราณให้ดูเป็นตัวอย่าง

การหาคู่ของหนุ่มสาวชาวเมี่ยนสมัยก่อน ก็จะดูจากผ้าที่สวมใส่นั่นแหละครับ ใครที่มีผ้าปักใหม่ๆ ใส่สลับสับเปลี่ยนบ่อยๆ ก็แสดงว่าเป็นคนขยัน ก็มักจะเป็นที่หมายตาของหนุ่มๆ แต่ถ้าใครใส่ผ้าซํ้าๆ ก็แสดงว่าเป็นคนขี้เกียจ หนุ่มๆ ก็มักจะเมิน ชาวเมี่ยนสมัยก่อนจะสอนให้ลูกๆ หลานๆ ปักผ้าไว้ใช้เอง ใครไม่ฝึกปัก หรือไม่เรียนรู้การปักผ้า ก็ไม่มีผ้าใหม่ๆ ใส่ ถือเป็นกุศโลบายในการกระตุ้นการเรียนรู้ และการอนุรักษ์วิถีผ้าปักให้คงอยู่กับชาวเมี่ยนตลอดมานั่นเองครับ

ปัจจุบันผู้ที่ปักผ้าลายโบราณได้ ยังคงเป็นผู้สูงอายุในหมู่บ้าน ส่วนหนุ่มสาวแทบจะไม่มีใครปักได้ ซึ่งก็น่าใจหายเหมือนกัน เพราะผ้าปักลายโบราณอาจจะสูญหายไปได้เช่นกัน “ตอนนี้ที่โรงเรียนจะมีการสอนปักผ้าแบบโบราณอาทิตย์ละหนึ่งวัน โดยผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านจะเป็นคนสอนเด็กๆ ด้วยตัวเอง” พี่หมวงบอกกล่าวเรื่องดีๆ ให้เรารับรู้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมากทีเดียวครับ เพราะการปักผ้าลายโบราณนั้น ปักขึ้นจากความชำนาญเป็นหลัก ไม่มีการวาดโครงร่างรูปแบบไว้ก่อน การปักจะเป็นการปักจากด้านใน แต่ลวดลายที่ใช้งานจริงจะเป็นด้านนอกผ้า ซึ่งผมดูแล้วแทบจะไม่มีความแตกต่างกันเลย และการเก็บซ่อนปลายเส้นด้ายทำได้แนบเนียนมาก ผ้าลายปักตัวอย่างที่พี่หมวงหยิบมาให้ดูในครั้งแรก ผมยังดูลายที่เป็นด้านในอยู่เลย ถ้าพี่หมวงไม่บอก ไม่รู้เลยว่านี่คือด้านนอก หรือด้านในครับ

ลายผ้าปักโบราณของชาวเมี่ยน

ก่อนจากมา ผมอุดหนุนผ้าพันคอ และพวงกุญแจผ้าปักมาจำนวนหนึ่ง ด้วยความทึ่งในลวดลายที่สรรสร้างขึ้นจากฝีมือและความชำนาญที่เครื่องจักรยังไม่สามารถทดแทนได้ ลายปักแต่ละลายยังสื่อถึงการสืบทอดวัฒนธรรม ความเชื่อและประเพณีที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิม ผมเดินทางออกมาจากบ้านปางค่าใต้ เพื่อมุ่งหน้าสู่จุดหมายต่อไป นั่นคือ ศูนย์
พัฒนาโครงการหลวงผาตั้ง ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย แล้วพบกันในฉบับหน้าครับ ………………

..สวัสดีครับ..

เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ
ขอขอบคุณ… บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด


การเดินทาง : ไปศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า

จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 มุ่งตรงสู่จังหวัดนครสวรรค์ ผ่านกำแพงเพชร อุทัยธานี ลำปาง ตรงเข้าสู่พะเยา จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 1021 ตรงไปยังอำเภอจุน และดอกคำใต้ ขับตามเส้นทางสายหลักมาจนเกือบๆ ถึงอำเภอเชียงคำ ให้เลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 1186 และขับตามทางมาจนถึงสามแยกตัว T ก่อนที่จะเลี้ยวซ้าย และขับตามทางมาสักพักก็จะถึงสามแยกไฟแดง เลี้ยวขวาตามเส้นทางไปอีกประมาณ 17 กิโลเมตร จะเจอทางแยกซ้ายมือไปยังศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า ระยะทาง 6 กิโลเมตร และวนอุทยานภูลังกา ระยะทาง 9 กิโลเมตร

 


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


ติดตามบทความ ตามรอยพระบาท 12 โครงการหลวง 12 เส้นทางแห่งความสุขโครงการหลวง หรือสนใจบทความท่องเที่ยวที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/travels/photography-planner