Photography Planner

“เพชรบุรี” ใน 1วัน วัด + วัง Plan A

“วันนี้ไปถ่ายภาพที่ไหนดี” เชื่อว่านี่เป็นคำถามง่ายๆ แต่อาจหาคำตอบที่ถูกใจได้ยากสักหน่อยนะครับ สำหรับนักถ่ายภาพที่มีถิ่นพำนักพักอาศัยอยู่ใจกลางกรุงบางกอก คือจริงๆ ในกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมรของเรา มันก็มีอะไรให้ถ่ายภาพอยู่ไม่น้อยหรอกครับ แต่ถ้าคุณต้องกินนอน ทำงาน หายใจเข้าๆ ออกๆ อยู่ในนี้มาตั้งห้าหกวันแล้วล่ะก็การได้ออกไปถ่ายภาพพร้อมสูดโอโซนจากโลกภายนอก(กรุงเทพฯ)มันคงจะดีกว่าเป็นไหนๆ จริงไหมล่ะครับ ?

ในความเป็นจริงสำหรับตัวผมเองนับเป็น “ผู้รํ่ารวยเวลาว่าง” จนอาจถึงขั้น “มากผิดปกติ” ซะด้วยซํ้า แต่สำหรับพี่น้องผองเพื่อนอีกจำนวนไม่น้อย ล้วนมีชีวิตผูกพันกับที่ทำงานมากกว่าบ้านตัวเอง ใช้เวลาอยู่บนท้องถนนมากพอๆ กับเวลาบนเตียงนอน ดังนั้นหากจะเอ่ยปากชักชวนใครไปถ่ายภาพด้วยกัน ในบางครั้งผมจึงต้องดูเวลาของคนอื่นเป็นที่ตั้ง

ซึ่งส่วนใหญ่ข้อจำกัดอันสำคัญของเขาเหล่านั้นคือเวลาเพียงหนึ่งวัน หรือก็คือไปเช้า-เย็นกลับ ตัวเลือกดีที่สุดจึงไม่พ้นต้องอยู่รายรอบชายขอบเมืองหลวงนี่เอง โดยผมเอาระยะทางที่ไม่ควรจะเกิน 200 กิโลเมตร หรืออย่างน้อยก็ต้องใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 2 ชั่วโมง เป็นอย่างมาก เป็นตัวตั้ง มิเช่นนั้นเวลาก็จะหมดไปกับการเดินทาง มากกว่าที่จะได้ใช้ถ่ายภาพนั่นเองครับ (เกินกว่านั้นต้องเป็นทริป 2-3 วันขึ้นไปครับ)

ข้อดีหน่อยของผมและเพื่อนร่วมก๊วนใกล้ชิด คือเราแทบจะถ่ายภาพกันได้ทุกอย่าง ทุกแนวทาง ทั้งธรรมชาติ สถาปัตยกรรม วัดวาอาราม วิถีชีวิตผู้คน ฯลฯ สถานที่ในการถ่ายภาพจึงมีให้เลือกค่อนข้างจะหลากหลาย

เขาใหญ่ เป็นชื่อแรกสุดที่ผุดโผล่ขึ้นมา ทว่าก็ถูกตัดทิ้งไปแทบจะในทันที เพราะผมขึ้นเขาใหญ่จนคร้านจะนับครั้ง เผลอๆ จะเกินร้อยด้วยซํ้าไปครับ แน่นอนว่าไม่ใช่มันไม่ดี แถมยังมีวัตถุดิบในการถ่ายภาพมากมาย แต่ก็มีที่อื่นที่ผมยังไม่ได้ไปอีกเยอะ ส่วน อยุธยา ก็เช่นกัน ที่ผมแทบจะจำชื่อวัดทั้งเก่าใหม่ใหญ่เล็กได้เกือบหมด สำหรับปทุมธานี รวมถึงนนทบุรีและสมุทรปราการ กระทั่งสมุทรสาคร ถึงแม้มันจะใกล้ไม่เสียเวลาเดินทาง ทว่ามันไม่ได้ให้ความรู้สึกที่แตกต่างไปจากกรุงเทพฯสักกี่มากน้อย

สมุทรสงครามผมก็ไปมาหลายครั้ง ส่วนชลบุรี ผมรู้สึกว่าที่เที่ยวแต่ละแห่ง(ที่น่าสนใจสำหรับผม)ค่อนข้างไกลกันไปนิด ดูไปดูมาตัดไปตัดมา ตัวเลือกจึงเหลือเพียง นครนายก สระบุรี นครปฐม ราชบุรี และเพชรบุรี ที่เหลือทั้ง 5 จังหวัดนี่ เอาจริงๆ ผมก็ไปได้หมดล่ะครับ มีทั้งวัด วัง นํ้าตก ธรรมชาติ สถาปัตยกรรม ปะปนกันไป แต่ในเมื่อต้องเลือกเพียงหนึ่งเดียว ผมจึงต้องใช้วิธีการ “สุ่มเลือก” ซึ่งคราครั้งนี้หวยไปออกที่จังหวัด “เพชรบุรี” ครับ

นี่ถือว่าดีแล้วนะครับที่ผมเลือกจุดหมายได้ก่อนออกรถ เชื่อไหมครับว่า มีบางครั้งในช่วงที่ผมกับเพื่อนขับรถเที่ยวต่างจังหวัดถี่ๆ เรานั่งกันอยู่บนรถซึ่งมีทุกอย่างพร้อมออกเดินทางแล้ว แต่ยังไม่รู้เลยว่าจะไปไหนกันดี!!!

ทุกคนอยู่ในอารมณ์ประมาณว่า ขอให้ได้ออกไปเที่ยวไปถ่ายภาพกันเถอะ จะไปไหนก็ได้ไม่มีเกี่ยง ขอเพียงให้ออกไปพ้นชายขอบรอบกรุงเทพฯ เป็นอันใช้ได้ แล้วแต่ละคนก็คิดว่าคนอื่นๆ คงจะมีจุดหมายในใจไว้บ้างแล้ว กะจะตามเขาไปอย่างเดียว แต่บังเอิญทุกคนดันคิดอย่างนี้กันหมด ก็เลยต้องมานั่งไล่เปิดแผนที่กันบนรถ เพื่อหาจุดหมายปลายทางเอานาทีแรกเมื่อล้อเริ่มหมุน! ไม่ใช่นาทีสุดท้ายก่อนล้อหมุนนะครับ เพราะจริงๆ คือ เพื่อนคนขับเข้าเกียร์ขยับรถไปก่อนแล้วถึงได้เอ่ยออกมาว่า “จะไปไหนกันดี ?!”

จังหวัดเพชรบุรี จะว่าใกล้ก็ไม่ใช่ จะถือว่าไกลก็ไม่เชิง เพราะเมื่อลงทางด่วนพระราม 2 ไปแล้ว ความรู้สึกมันบอกว่าอีกเดี๋ยวเดียวก็ถึง สถานที่ถ่ายภาพในจังหวัดเพชรบุรี หลักๆ คือวัด กับวัง ซึ่งจริงๆ มีจำนวนมากมายเกินกว่าจะเก็บให้ครบจบในวันเดียว จึงมีความจำเป็นต้องตัดออกหลายสถานที่ที่อาจจะดูซํ้าๆ กันออกไปบ้าง

เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ผมเคยไปมาบ้างแล้ว มีข้อมูลอยู่ในหัวพอสมควร รวมกับการหาข้อมูลเพิ่มเติมจากจากอินเทอร์เน็ทอีกนิดหน่อย ทำให้ง่ายต่อการวางแผน โดยเราจะออกจากกรุงเทพฯ เช้ามืดหน่อย ไปกินมื้อเช้าเอาแถวๆ เขาย้อย พอแดดเริ่มออกก็ถึงตัวเมืองเพชรฯพอดี ไปเปิดกล้องกันที่ “วัดมหาธาตุวรวิหาร” เพื่อถ่ายภาพปรางค์ห้ายอด และปูนปั้น งานฝีมืออันเลื่องชื่อของช่างเมืองเพชรฯ เน้นงานสถาปัตยกรรมและงานภายนอกเป็นหลัก ซึ่งเหมาะกับแสงเช้ามากๆ

“ วัดมหาธาตุวรวิหาร” วัดนี้นอกจากพระปรางค์จะสูงเด่นแล้ว งานปูนปั้นสวยๆ ที่ประดับตามมุมหลังคา หน้าบันก็มีเยอะ หลังจากหามุมถ่ายพระปรางค์แบบเด่นๆ เน้นๆ ไปแล้ว ผมก็อยากได้มุมที่โชว์งานปูนปั้นประกอบไปด้วย เพราะสิ่งนี้นับเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของวัดเมืองเพชรบุรีก็ว่าได้ มุมถ่ายก็ง่ายๆ ตรงๆ นี่ล่ะครับ เลือกใช้เลนส์ช่วงนอร์มอลเพราะถ้าใช้เทเลฯ กว่านี้ พระปรางค์จะเห็นได้ไม่เต็มองค์ ส่วนเลนส์มุมกว้างจะทำให้งานปูนปั้นประดับมุมหลังคามีขนาดเล็กมาก แถมยังมีหลังคาสังกะสีเขียวปั๊ดหน้าโบสถ์เข้ามากวนในภาพเยอะด้วย EOS 5D MK II, LENS Carl Zeiss Planar 50  mm. F/1.4 T*, 1/800 Sec. F/8, ISO 200

พอสายๆ แดดแรง ทิศทางแสงเริ่มไม่ค่อยดี ก็หลบไปถ่ายภาพต่อกันใน “วัดถํ้าเขาหลวง” ซึ่งจุดถ่ายภาพทั้งหมดอยู่ภายในถํ้า มีแสงไฟและแสงส่องจากปล่องถํ้าเป็นแสงหลัก จึงไม่ต้องพะวงกับทิศทางแสงจากภายนอกมากนัก

ตอนเที่ยงหาก๋วยเตี๋ยวเนื้อเจ้าอร่อยให้เอ็นจอยปาก ต่อด้วยร้านกาแฟนั่งชิลๆ หลบแดดสักพัก แล้วเข้าโบสถ์ไปถ่ายภาพจิตรกรรมฝาผนังใน “วัดเกาะแก้วสุทธาราม” ซึ่งเป็นวัดที่ผมยังไม่เคยไป แต่ได้ข้อมูลจากการอ่านบล๊อกของผู้สนใจจิตรกรรมฝาผนังมา เขาว่า ภาพกองทัพมารด้านหลังพระประธานของที่นี่ ดุเด็ดเผ็ดมันไม่เป็นสองรองใครในใต้หล้า

บ่ายแก่ๆ ทิศทางแสงเริ่มกลับมาเหมาะกับการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมอีกครั้ง ก็แวะไป “วังบ้านปืน”  หรือ “พระรามราชนิเวศน์” เพราะช่วงบ่ายๆ อย่างนี้แสงสาดเฉียงๆ เข้าหน้าวังพอดีครับ  นอกจากด้านนอกหน้าวังแล้ว ภายในอาคารก็มีการประดับตกแต่งไว้อย่างสวยงาม เข้าไปถ่ายภาพได้เช่นกัน

“พระรามราชนิเวศน์” นี่เป็นมุมมาตรฐานง่ายๆ ของการถ่ายสถาปัตกรรม ที่ผมจะต้องถ่ายภาพเก็บไว้ทุกครั้ง ก่อนจะเดินไปหามุมอื่นๆ ที่มันแปลกแตกต่างและใช้ความคิดหรือเทคนิกการถ่ายภาพที่ซับซ้อนขึ้นใครจะว่ามันธรรมดาเกินไปยังไง ผมไม่เถียงเลยครับ เพราะมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่บอกได้เลยว่ามุมธรรมดาๆ ทำนองนี้ล่ะครับ ที่จะขายภาพได้ง่าย ได้เร็ว กว่ามุมที่ดูอาร์ตจัดๆ พวกนั้นเหมาะเอาไว้โชว์ครับ และการจะทำให้ภาพที่มีมุมมองธรรมดาๆ ดูดีขึ้นมา มันก็ต้องอาศัยแสงดีฟ้าสวยเข้ามาเป็นตัวช่วยนั่นเองครับ โดยเฉพาะกับการถ่ายภาพแนวสถาปัตยกรรม ที่เรื่องของทิศทางแสง และสภาพท้องฟ้านับเป็นสิ่งสำคัญลำดับต้นๆ เลยก็ว่าได้EOS 5D MK II, LENS TS-E 24  MM. F/3.5L II, 1/50 Sec. F/8, ISO 50

ตกเย็นไปปิดทริปกันที่ “วัดใหญ่สุวรรณาราม” ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ของเมืองเพชรบุรี เป็นวัดที่ มีงานเด่นๆ ทั้งสถาปัตยกรรม ปูนปั้น รวมถึงจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม จริงๆ วัดนี้จะเอาไว้ช่วงเช้าก็ได้ และควรมีเวลามากพอสมควร แต่ผมเคยไปเก็บภาพมาบ้างแล้วจึงไม่ได้เน้นมากนัก

ส่วนสถานที่เด่นดัง เป็นที่รู้จักมากที่สุดของเพชรบุรีอย่าง “เขาวัง” ในครั้งนี้ผมไม่เอามารวมอยู่ในแผนการเดินทางด้วยเหตุผลสองประการ ข้อแรก “ไปเพชรทีไรต้องไปเขาวังทุกที” หรือก็คือไปมาหลายครั้งแล้วนั่นเองครับ ข้อที่สองคือ มันต้องใช้เวลากับสถานที่เยอะมากหากจะเดินเก็บภาพให้ถ้วนทั่ว เอาเวลาไป 1 วันเต็มๆ ยังได้เลยครับ คือถ้าไปถ่ายภาพที่นี่ ที่อื่นๆ ก็แทบไม่ต้องไปกันเลยทีเดียว

แต่สำหรับผู้อ่านท่านที่ยังไม่เคยไปเขาวังมาก่อน ยังไงก็ควรจะต้องวางสถานที่แห่งนี้อยู่ในแผนการเดินทางครับ เพราะมีให้ถ่ายทั้งวัด ทั้งวัง กับทั้งวิวทิวทัศน์ด้วย เรียกว่าแค่ที่เดียวก็เที่ยวคุ้มเลย

“ วัดถ้ำเขาหลวง” ภาพอันชินตาของวัดแห่งนี้ คือภาพมุมกว้างๆ ที่มีแสงส่องจากปล่องถํ้าขนาดใหญ่ มีพระพุทธรูป มีเจดีย์เก่าๆ ประดับประดาอยู่ตามมุมต่างๆ  เป็นมุมที่สวยงาม แสงก็สวยดีครับ เป็นมุมมหาชนที่ใครๆ ก็ถ่ายกันทั้งนั้น แต่นอกเหนือไปจากนี้แล้ว ภายในถ้ำยังมีอะไรให้ถ่ายอีกมากครับ โดยเฉพาะมุมเล็กๆ แบบเอาเทเลฯเจาะถ่ายเฉพาะส่วน มีเพียบ ตัวผมเองสามารถอยู่ถ่ายภาพที่นี่ได้ทั้งวันโดยไม่ต้องออกไปไหนยังได้เลยครับ มุมนี้องค์พระนอนมีไฟประดับดวงเดียวจากด้านล่าง ทิศทางแสงอาจไม่ถึงกับดีนัก แต่ก็พอใช้ได้ ไม่ทำให้ภาพดูแบนเกินไปหากจะถ่ายแบบเน้นๆ ผมกำลังเล็งๆ หามุมอยู่ก็พอดีมีคนเข้ามาขวาง เงยหน้าขึ้นไป อ้าว! เพื่อนเราเองนี่หว่า อย่ากระนั้นเลย ช่วยอยู่นิ่งๆ ให้ซักแป๊ปก็แล้วกันนะ เพราะมันช่วยให้ภาพดูมีเรื่องราวกว่าถ่ายองค์พระมาเฉยๆ เยอะเลย ผมขอให้เพื่อนทำท่าทางอย่างนั้นค้างไว้ แล้วก็ขยับขาตั้งจัดองค์ประกอบภาพใหม่ ให้เข้ากับไอเดียใหม่ที่โผล่เข้ามา หลังจากนั้นก็ขอให้เพื่อนลองทำท่านั่งไหว้พระ กราบพระ ให้ด้วย แต่พอเอาภาพมาดูภายหลังแล้ว ผมกลับชอบภาพนี้มากกว่า เพราะอากัปกิริยามันดูเป็นธรรมชาติ ส่วนภาพที่นั่งไหว็ก็สวยดีครับ แต่มันดูจงใจเกินไปนิด EOS 5D MK II, LENS EF 70-200  MM. F/4L IS, 1 Sec. F/8, ISO 200

ในส่วนของอุปกรณ์ถ่ายภาพ สำหรับทริปนี้หลักๆ คือวัดกับวัง ซึ่งมีงานสถาปัตยกรรม งานปูนปั้นกับพระพุทธรูป และงานจิตรกรรมฝาผนังเป็นหลัก ซึ่งรวมๆ ก็ไม่ต้องใช้อุปกรณ์หรือเลนส์เฉพาะทางอะไรเป็นพิเศษ เอาจริงๆ เพียงซูมมุมกว้างสักตัว กับเทเลฯซูมอีกตัวก็ครอบคลุมการถ่ายภาพทั้งหมดได้แล้วครับ

แต่ในเมื่อเอารถไปกันเอง แถมมีพลขับรับ-ส่งถึงที่ ผมจึงจัดเต็มเป้หลังแบบไม่ที่ว่างแม้แต่ตารางเซ็นติเมตรเดียว มีเลนส์ตั้งแต่ฟิชอายไล่ไปจนถึง 500 มม. รีเฟล็กซ์ ฟิลเตอร์โพลาไรซ์ ฟิลเตอร์กราดูเอทชุดใหญ่ แฟลชและอุปกรณ์แยกแฟลช รวมไปถึงขาตั้ง Gitzo รุ่นใหญ่สูงท่วมหัว เพื่อเอาไว้ถ่ายภาพจิตรกรรมฝาผนังที่อยู่สูง โดยไม่ต้องเงยกล้องมากเกินไปนั่นเองครับ

แผนการเดินทางในครั้งนี้ ค่อนข้างรวบรัดชัดเจนมากๆ เหลือสิ่งให้ลุ้นเพียงอย่างเดียวคือเรื่องของฝนฟ้าอากาศว่าจะเป็นใจให้เพียงไหน เพราะมีสถาปัตยกรรมสองแห่ง ที่จะได้ภาพดีหรือไม่ ท้องฟ้าสวยๆ มีส่วนช่วยเยอะครับ นั่นคือ ปรางค์ห้ายอดในวัดมหาธาตุวรวิหาร และวังบ้านปืน

พอเดินทางไปจริงๆ สภาพอากาศเป็นใจมากๆ นับว่าดีถึงดีที่สุดก็ว่าได้ครับ ฟ้าเป็นสีฟ้า แถมยังประดับประดาด้วยเมฆฟูฟ่อง ทั้งเช้าทั้งบ่ายอีกต่างหาก เราจึงเริ่มวันกันอย่างเพลิดเพลิน นอกจากจะเอาเลนส์มุมกว้างเก็บภาพรวมของโบสถ์วิหาร และพระปรางค์ห้ายอดแล้ว ผมยังเอาเลนส์ 500 รีเฟล็กซ์ ออกมาเก็บงานปูนปั้นที่ประดับอยู่ตามเชิงชายตามมุมหลังคาที่อยู่สูงๆ แบบแน่นๆ เน้นๆ เพราะได้ฉากหลังเป็นสีฟ้าเข้มๆ ส่วนใหญ่ผมเน้นถ่ายภายนอกอาคารเต็มที่ครับ เพราะแสงดีเหลือหลาย

จากนั้นก็หลบแดด ย้ายที่ไปเดินขึ้นบันไดเพื่อเข้าวัดถํ้าเขาหลวง เหงื่อตกกันเล็กน้อยด้วยความสูงชันของขั้นบันได(และวัยวาร) แต่เข้าไปถึงข้างในแล้วก็เย็นสบายจนแทบอยากจะหามุมนอนมากกว่าถ่ายภาพซะอีกครับ…555

ภายในถํ้าเป็นโถงสูงใหญ่กว้างขวางและอากาศปลอดโปร่งมากๆ เพราะมีปล่องถํ้าขนาดใหญ่ระบายอากาศและเป็นช่องแสงไปด้วยในตัว มีมุมให้ถ่ายภาพได้มากมายเต็มไปหมด ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงหมดไปได้อย่างสบายๆ สำหรับนักถ่ายภาพ

มีที่เกือบผิดแผนอยู่หน่อย คือภาพจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์วัดเกาะแก้วสุทธาราม เพราะไปถึงแล้ว ประตูโบสถ์ปิดมิดชิด มองหาพระก็ไม่เจอ ทีแรกก็นึกว่าจะกินแห้วเสียแล้ว

แต่ผมลองเดินดุ่มๆ ไปทางกุฎิซึ่งแม้จะมองไม่เห็นพระในทีแรก ทว่าก็ได้ยินเสียงดังก๊อกๆ แก๊กๆ จากด้านใน แสดงว่าต้องมีใครอยู่แน่ๆ รอสักครู่พระท่านก็เดินออกมา จึงเอ่ยปากขออนุญาตท่านถ่ายภาพแบบเป็นการเป็นงานเสียเลย เพราะเราคงจะใช้เวลาถ่ายภาพอยู่ในโบสถ์กันนานกว่าชาวบ้านชาวช่องเขาพอสมควร ท่านจะได้ไม่ต้องระแวงแปลกใจ ว่าไอ้พวกนี้มันเข้าไปทำอะไรกันนานสองนาน

โบสถ์ที่นี่เป็นแบบปิดทึบไม่มีหน้าต่างทั้งสองด้านหรือที่เรียกกันว่า “มหาอุด” จึงมีพื้นที่ให้กับจิตรกรรมฝาผนังอย่างเต็มที่ ภาพในโบสถ์มีลักษณะการวาดแตกต่างจากวัดอื่นๆ อย่างชัดเจนเลยครับ แต่ผมขอไม่ลงรายละเอียดเชิงลึก เพราะมันจะยาวมากและเป็นวิชาการไปหน่อย (หากสนใจใคร่รู้ ลองถามพี่ Goo ดูได้ครับ หรือดูโดยตรงจากเว็บไซท์ของเมืองโบราณ http://www.muangboranjournal.com)

ภายในโบสถ์มีป้าย “ห้ามใช้แฟลช” ติดไว้อย่างชัดเจน คือให้ถ่ายภาพได้ ใช้ขาตั้งกล้องได้ แต่ห้ามใช้แฟลช ด้วยเหตุผลทางการอนุรักษ์ภาพเขียนโดยตรง เพราะแสงแฟลชทำให้สีเสื่อมสภาพได้นั่นเองครับ แสงภายนอกก็ไม่มี จึงเหลือแสงหลักๆ ให้ใช้เพียงแหล่งเดียวคือไฟทังสเตนเหนือพระประธาน ซึ่งก็ไม่เป็นปัญหาเพราะยังไงก็ใช้ขาตั้งกล้องได้ ปรับไวท์บาลานซ์แบบเคลวินให้ตรงกับความต้องการแล้วก็ใช้ค่านั้นถ่ายยาวไปเลย

 “ วัดเกาะแก้วสุทธาราม” โบสถ์ของวัดเกาะแก้วฯ มีพื้นที่ไม่ได้กว้างขวางอะไรนัก แต่เนื่องจากสร้างด้วยรูปแบบมหาอุด จึงมีผนังให้ช่างเขียนรูปแสดงฝีมืออย่างเต็มที่ ซึ่งช่างเขียนก็ “ปล่อยของ” กันสุดฝีมือจริงๆ ครับ เป็นภาพจิตรกรรมที่ดูแปลกตาไม่เหมือนที่อื่นใดที่ผมเคยชมมาเลย ในส่วนของการถ่ายภาพ ผมเลือก “ปิดประตู” ทางเข้าทุกบานให้มิดชิดไปเลย เพื่อใช้แสงจากไฟทังสเตนภายในโบสถ์เพียงอย่างเดียว เพื่อให้ปรับไวท์บาลานซ์ได้ง่าย เพราะถ้าเปิดประตูโบสถ์ไว้ ก็จะมีแสงแดดเข้ามาเกี่ยวด้วยทำให้อุณหภูมิสีในแต่ละส่วนของภาพไม่เท่ากัน ซึ่งแก้สียากครับ และแสงจากประตูจะทำให้ภาพบริเวณรอบประตูดูฟุ้งๆ แฟลร์ๆ ไม่ต่างอะไรจากการถ่ายภาพย้อนแสงอีกต่างหาก การปิดประตูไปเลยจึงทำให้การถ่ายภาพสะดวกง่ายดายกว่าเยอะ แต่ทั้งนี้เพราะผมได้อธิบายและขออนุญาตพระท่านเป็นที่เรียบร้อยแล้วนะครับ อยู่ดีๆ จะไปปิดประตูโบสถ์กันดื้อๆ ก็ไม่เหมาะ แถมจะถูกเข้าใจผิดได้ง่ายๆ ว่าทำการโจรกรรมของในโบสถ์เอาซะอีก ยิ่งมีข่าวทำนองนี้ให้ได้ยินได้เห็นบ่อยๆ ดังนั้นจะทำอะไรก็ต้องคิดให้รอบคอบถ้วนถี่ดูความเหมาะสม และที่สำคัญต้องขออนุญาตเจ้าของสถานที่ให้เรียบร้อยเสียก่อนครับ ภาพนี้อยู่ด้านหลังพระประธาน ซึ่งมีพื้นที่ยืนจำกัดมากๆ แต่ผมต้องการเก็บภาพทั้งหมดให้ได้ ตัวเลือกจึงมีเพียงหนึ่งเดียวแบบไม่ต้องคิด และเลนส์ฟิชอายคือคำตอบสุดท้ายครับ EOS 5D MK II, LENS Pentax 16  MM. F/2.8  Fisheye, 5 Sec. F/11, ISO 100

ออกจากวัดเกาะ เราก็ไปต่อกันที่วังบ้านปืนซึ่งท้องฟ้าเป็นใจมากอย่างที่ว่า จึงแยกย้ายกันหามุมถ่ายภาพตามใจ ตัวใครตัวมัน ถึงเวลานัดหมาย ค่อยกลับมารวมกันเพื่อไปปิดท้ายวันในวัดใหญ่สุวรรณารามตามแผน วัดแห่งนี้นอกจากงานฝีมือช่างจะ “ดี เด่น ดัง” แล้ว โดยส่วนตัวผมว่า พระประธานปางมารวิชัยในพระอุโบสถมีพุทธลักษณะที่งดงามมากๆ อีกด้วย และที่ทำให้ดูแปลกตาไม่เหมือนพระประธานวัดไหนๆ คือร่มกระดาษที่กางแขวนลอยไว้เหนือเศียรพระประธาน ดูเรียบๆ ง่ายๆ ทว่าก็ส่งเสริมให้องค์พระดูเด่นขึ้นเป็นอย่างมาก รวมกับการให้ทิศทางไฟและความสว่างที่กำลังดี แลดูสงบงามและขลังอย่างบอกไม่ถูกเลยครับ

ในโบสถ์วัดใหญ่อนุญาตให้ใช้ขาตั้งได้เช่นกัน แต่วัดนี้อาจจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาชมมากหน่อยนะครับ เพราะด้านหลังพระประธานยังมี “พระหิ้วนก” หรือจริงๆ คือ “พระหกนิ้ว” ที่พุทธศาสนิกชนนิยมมากราบไหว้บูชากันมาก ดังนั้นหากจะตั้งขาถ่ายภาพ ก็ดูจังหวะจะโคนให้ดี เกรงใจคนใช้สถานที่คนอื่นๆ ด้วยครับ

 “ วัดใหญ่สุวรรณาราม ” วัดนี้นับเป็นแหล่งรวมงานช่างของเมืองเพชรบุรีก็ว่าได้ครับ มีอะไรให้ถ่ายภาพได้เยอะแยะไปหมด แต่อย่างที่ว่า ผมเคยมาถ่ายภาพเก็บไว้แล้วครั้งหนึ่ง ในครั้งนี้เป็นการพาเพื่อนมาถ่ายซะมากกว่า ส่วนผมเองก็เน้นจุดเล็กๆ เป็นส่วนๆ ไป ครับ ทั้งงานจิตรกรรมภายในโบสถ์ และพระพุทธรูปมากมายหลายองค์ ภาพนี้ก็เน้นที่องค์พระประธานกับร่มเหนือเศียรพระ ด้วยความชอบส่วนตัวเป็นพิเศษจริงๆ  เป็นมุมง่ายๆ ธรรมดาที่ตั้งตั้งใจเก็บเอาไว้ดูเองมากกว่า ไม่รู้ว่าเป็นเพราะผมถ่ายภาพมาเยอะเกินไปหรือเปล่านะครับ ผมจึงชอบภาพที่มันดูเรียบๆ ง่ายๆ ซะเป็นส่วนใหญ่ คือภาพที่มีมุมแปลกๆ แรงๆ เมื่อก่อนผมก็ขยันหาขยันถ่ายไม่ใช่น้อยเหมือนกัน แต่ปัจจุบันกลับไม่ค่อยชอบอะไรแบบนั้นมากนัก(แต่ไม่แอนตี้อะไรใครนะคร๊าบบบ…^-^ อย่าเข้าใจผิด)  แต่ถ้าจะถ่ายเพื่อเอาไปประกอบงานเขียน หรือรับงานงานถ่ายภาพมาจากผู้ว่าจ้างคนอื่นๆ ผมก็ต้องขยันถ่ายมุมอื่นๆ หามุมที่แปลกแตกต่าง เพื่อให้ภาพมันดูน่าสนใจกว่านี้แน่นอนครับ

นับเป็นทริปใกล้ๆ ง่ายๆ ที่แดดเป็นใจทุกอย่างเป็นไปตามแผน เพชรบุรีใน 1วัน วัด + วัง จึงนับเป็น Plan A ด้วยประการละฉะนี้

การวางแผนการเดินทางภายในประเทศ ส่วนใหญ่ผมมักจะใช้การดูแผนที่จากหนังสือแผนที่ก่อนครับ มันทำให้เราเห็นภาพกว้างๆ เห็นตัวเลือกที่มากกว่าการค้นหาผ่านทางหน้าจอคอมพ์ฯหรือสมาร์ทโฟน เป็นคนละเรื่อง ทั้งในเรื่องของเส้นทางที่จะใช้เดินทาง และในเรื่องของสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ หนังสือแผนที่ของบางสำนักพิมพ์ มีการเน้นจุดท่องเที่ยวเป็นหลัก แถมมีภาพประกอบ มีข้อมูลสั้นๆ ให้อีกด้วย (อย่างที่ผมใช้เป็นหลักเลยก็คือของสำนักพิมพ์สารคดีครับ)

จากนั้นพอได้จุดหมายคร่าวๆ เป็นจังหวัด หรือเป็นอำเภอใดๆ แล้ว ผมจึงค่อยค้นหาสิ่งน่าสนใจ หาข้อมูลรายละเอียดแบบจำเพาะเจาะจงจากเว็บไซท์ต่างๆ เพิ่มเติมอีกที การใช้หนังสือแผนที่ หลายท่านอาจมองว่ามันโบราณไปแล้ว แต่ในมุมมองของผม มันยังมีประโยชน์ และที่สำคัญคือเรียกใช้งานได้ทันที ในทุกพื้นที่ของประเทศจริงๆ ไม่ต้องคอยวิ่งหาสัญญาณ 3จี 4จี ให้เสียเวลา เพื่อให้การโหลดแผนที่แต่ละหน้าโชว์ขึ้นมาให้เห็นอย่างสมบูรณ์ แล้วพอจะเปลี่ยนกลับไปกลับมา ก็ต้องรอโหลดใหม่อีก ในรถของผม หรือแม้แต่ของเพื่อนที่มีจีพีเอสอยู่แล้ว ผมก็ยังจะเอาหนังสือแผนที่ติดรถไปด้วยทุกครั้ง ยิ่งถ้าออกไปต่างจังหวัด ต่างอำเภอไกลๆ มีโอกาสที่มันจะถูกเรียกขึ้นมาใช้งานสูงมากครับ

 

เรื่อง / ภาพ : จิรชนม์ ฉ่ำแสง


  • บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นตัวอย่าง สำหรับการวางแผนถ่ายภาพเมื่อต้องเดินทางไปในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ อันแปลกหูแปลกตา โดยเอาประสบการณ์การถ่ายภาพของผู้เขียนมาบอกเล่าแบ่งปันสู่กันฟัง โดยเอาความชอบของผู้เขียนเป็นที่ตั้ง หากแนวทางการถ่ายภาพจะไม่ถูกใจใครบ้างก็ขออภัยไว้ด้วยครับ และจริงๆ ก็ไม่ได้เน้นเรื่องสถานที่สักเท่าไร แต่อยากเน้นเรื่องวิธีการคิดและวางแผนสำหรับการถ่ายภาพ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสถานที่อื่นๆ ได้
    Plan A หมายถึง การถ่ายภาพที่สามารถทำได้ตามแผนทุกอย่างที่วางไว้โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไร
    Plan B หมายถึง การถ่ายภาพที่พบเจออุปสรรคบางประการ ทำให้ต้องมีการปรับแผนกันบ้าง อย่างเช่น เจอสภาพอากาศไม่เป็นใจ หาที่พักในจุดใกล้เคียงไม่ได้ ฯลฯ
    Plan C หมายถึง การถ่ายภาพที่พบเจออุปสรรคค่อนข้างมาก สิ่งที่คาดหวังไว้ ไม่เป็นอย่างที่คิด จนถึงขั้นต้องทำให้เปลี่ยนแผนไปเลย อย่างเช่น เจอกับการปิดซ่อมแซมสถานที่ เจอการเดินขบวนประท้วง เจอน้ำท่วมฉับพลัน หรือสถานการณ์ที่ล่อแหลมอันตราย หรืออาจหมายถึงอุปกรณ์ถ่ายภาพเสียหายหรือสูญหาย ฯลฯ

อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หรือสนใจบทความท่องเที่ยวที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/travels/photography-planner