Photo Techniques Photography

เคล็ดลับจัดการ 5 สภาพแสงเพื่อภาพสวย

แสงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการถ่ายภาพ ช่างภาพทุกคนต่างพยายามสร้างเรื่องราวที่น่าสนใจให้ภาพถ่าย ซึ่งทั้งหมดล้วนเกี่ยวข้องกับแสงเสมอ นั่นเป็นเพราะแสงมีการเปลี่ยนแปลงตลอดทุกช่วงเวลาของวัน ในบางเวลาแสงมีความท้าทายต่อการถ่ายภาพ บางเวลาแสงกลับกายเป็นตรงข้ามที่เอื้อต่อการถ่ายภาพ

ไปเรียนรู้เคล็ดลับการจัดการกับแสงในแต่ละช่วงเวลา เพื่อให้ถ่ายภาพสวยได้ทุกครั้งตามที่ต้องการ

 

1. Midday Sun แสงแดดแรงในช่วงเที่ยงวัน
     แสงแดดในตอนกลางวัน เป็นหนึ่งในประเภทของแสงที่ท้าทายที่สุดในการถ่ายภาพ การถ่ายภาพในสภาพที่แสงอาทิตย์ตั้งฉากส่องแสงลงมาตรงๆแแบบนี้จะทำให้เกิดเงาแข็ง แก้ไขได้ยาก หากถ่าย portrait จะทำให้เกิดเงาแข็ง และชัดเจนบริเวณใต้ดวงตา ช่างภาพส่วนมากพยายามหลีกเลี่ยงการถ่ายภาพในช่วงเวลาเที่ยงๆ แบบนี้
     หากหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ มีวิธีที่ง่ายที่สุดในการจัการกับแสงประเภทนี้คือการฟิลแฟลช fill flash หรือใช้แสงแฟลชลบเงา สามารถทำได้ทั้งการใช้แฟลชในตัวกล้อง และแฟลชเสริม หรือหากไม่มีแฟลชอาจใช้แผ่นสะท้อนแสงช่วยลบเงาออกจากบริเวณที่ไม่ต้องการให้เกิดเงา แต่อาจจะให้ผลที่ด้อยกว่าการใช้แฟลช

 

2. Bright Overcast Skies แสงสว่างปริมาณมากบนท้องฟ้า
     การถ่ายภาพให้มีส่วนของท้องฟ้าติดอยู่ในภาพถ่าย ไม่ว่าจะเป็นฉากหลังหรือให้เป็นจุดเด่นในภาพ หากช่างภาพได้ช่วงเวลาที่แสงดี หรือวัดแสงได้ถูกต้องก็สามารถได้ภาพถ่ายสวยไม่ยาก แต่สภาพแสงบนท้องฟ้าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ หากท้องฟ้ามีแสงสว่างต่างกับวัตถุอื่นๆในภาพมากๆ การอ่านค่าแสงของกล้องอาจผิดพลาดและทำให้ภาพถ่ายที่ได้ออกมาอันเดอร์ (underexposure)​ ภาพได้รับแสงน้อยกว่าปรกติ ทำให้ภาพมืดและมองไม่เห็นรายละเอียด
     วิธีที่ง่ายที่สุดและนิยมนำมาใช้จัดการกับปัญหานี้คือการใช้ฟิลเตอร์ ND แบบครึ่งซีก ด้วยคุณสมบัติในการลดปริมาณแสง จะช่วยให้ช่างภาพควบคุมปริมาณแสงในภาพถ่ายได้เท่ากัน ท้องฟ้ายังคงสดใส ส่วนอื่นๆก็ได้รับแสงที่ถูกต้อง รายละเอียดชัดเจน ฟิลเตอร์ ND มีให้เลือกปรับค่าแสงได้หลากหลาย ช่างภาพและมือใหม่ควรศึกษาและหาซื้อติดตัวไว้ใช้งาน

 

3. Backlight ถ่ายภาพย้อนแสง
     ภาพย้อนแสงเกิดขึ้นเมื่อวางตําแหน่งวัตถุหลักที่ต้องการถ่ายภาพเอาไว้ด้านหน้าแหล่งกำเนิดแสง กล้องจะอ่านค่าแสงที่พื้นที่สว่างด้านหลัง ทำให้ภาพที่ได้ออกมาเป็นเงาทึบหรือที่เรียกว่าซิลลูเอท -​ silhuoette หรือ อาจจะกลายเป็นภาพที่ได้รับแสงน้อยกว่าปรกติ (อันเดอร์)​
     การแก้ปัญหานี้สามารถทำได้สองวิธีคือ เปลี่ยนมาใช้ระบบวัดแสงเฉลี่ยหนักกลางภาพ (Center-weighted metering) หรือวัดแสงเฉพาะจุด (spot metering) หรืออีกวิธีหนึ่งคือใช้วิธีฟิลแฟลชเข้าไปที่วัตถุ หรือใช้แสงสว่างจากไฟถ่ายภาพประเภทอื่นๆช่วยเปิดเงาวัตถุก็ได้เช่นกัน

 

4. Low light การถ่ายภาพในสภาพแสงน้อย
     การถ่ายภาพในสภาพแสงน้อย เป็นภาพถ่ายที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง โดยเฉพาะกับการถ่ายภาพ Landscape ที่ต้องการระยะชัดลึกสูง (Depth of Field)​ ซึ่งต้องใช้รูรับแสงแคบ แต่ในสภาพความเป็นจริงไม่สามารถทำได้ หากต้องการใช้รูรับแสงแคบจริงๆจะต้องชดเชยด้วยการใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำมาก ซึ่งไม่สามารถถือถ่ายด้วยมือเปล่าได้ต้องวางกล้องบนขาตั้งกล้อง
     หากไม่ได้พกขาตั้งกล้องติดตัว อีกวิธีหนึ่งที่นำมาใช้แก้ปัญหานี้คือการใช้ค่าความไวแสง iso สูงๆแทน กล้องถ่ายภาพทั้งดีเอสแอลอาร์ และมิลเลอร์เลสรุ่นใหม่ๆมีประสิทธิภาพสูงมาก แม้จะใช้งานที่ความไวแสงสูงๆ เช่น iso 3200, 6400 ก็ยังให้ภาพถ่ายที่ดี มีคุณภาพสูง มีสัญญาณรบกวน noise ต่ำ เก็บรายละเอียดของภาพได้ครบถ้วน

 

5. The Golden Hour 
     Golden Hour เป็นช่วงเวลาสั้นๆของวันก่อนพระอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้า และหลังพระอาทิตย์ตกตอนเย็น ซึ่งจะให้สภาพของแสงบนท้องฟ้าที่สวยงาม ช่างภาพจำนวนมากรอคอยที่จะถ่ายภาพในช่วงเวลานี้ โดยเฉพาะกับช่างภาพสาย Landscape การถ่ายภาพในช่วงเวลานี้ก็มีข้อควรระวังเช่นกัน
     การปรับตั้งค่ากล้องเพื่อให้ได้ค่าพอดีอาจจะทำได้ยาก เพราะสภาพของแสงสว่างบนท้องฟ้าที่มากกว่าจะทำให้ภาพด้านหน้าเกิดเงาทึบ หรือมืด ช่างภาพบางคนอาจจะชอบภาพในลักษณะนี้เพราะสามารถเก็บสีสันบนท้องฟ้าได้ครบ แต่บางสถานการณ์ก็อาจทำให้ภาพที่ดูไม่เป็นธรรมชาติ ขาดองค์ประกอบที่ทำให้ภาพมีความน่าสนใจ อาจจะแก้ไขได้ด้วยการใช้ฟิลเตอร์ ND ครึ่งซีก มาช่วยให้สภาพแสงของท้องฟ้ากับฉากหน้ามีความใกล้เคียงหรือไม่แตกต่างกันมาก

     หวังว่าการรับมือกับการถ่ายภาพในสภาพแสงต่างๆในแต่ละช่วงของวัน จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการถ่ายภาพอีกต่อไปนะครับ

แปลจาก  : How to Photograph 5 Challenging Types of Light
ผู้เขียน  :  JO PLUMRIDGE