Basic

อัตราขยายของ ระยะโฟกัสใกล้สุด คืออะไร

โดยทั่วไปแล้ว เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสตั้งแต่ 35 มม. ขึ้นไป (เลนส์ทางยาวโฟกัสเดียว) จะมีระยะโฟกัสใกล้สุด เท่าๆ กับ ทางยาวโฟกัส x10 เช่น เลนส์ 35มม. มักจะโฟกัสใกล้สุดได้ 0.35 เมตร เลนส์ 50 มม. โฟกัสใกล้สุด 0.5 เมตร เลนส์ 85 มม. จะโฟกัสใกล้สุดได้ 0.85 เมตร เป็นต้น โดยจะได้อัตราขยายประมาณ 1:8 ซึ่งอัตราขยายขนาดนี้ คือ ขนาดภาพประมาณ 19.2×28.8 ซม. สำหรับกล้องที่ใช้เซ็นเซอร์ภาพขนาดฟูลเฟรม ทำให้เลนส์ทางยาวโฟกัสเดียวส่วนใหญ่ ไม่สามารถถ่ายภาพโคลสอัพได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้เลนส์ที่ออกแบบสำหรับการถ่ายภาพใกล้โดยเฉพาะ คือ เลนส์มาโคร ซึ่งจะเป็นเลนส์ที่สามารถปรับโฟกัสได้ใกล้เป็นพิเศษ แทบทั้งหมดจะให้อัตราขยาย 1:1 มีเพียงไม่กี่รุ่นที่ให้อัตราขยาย 1:2 และมีไม่กี่รุ่นเช่นกันที่ให้อัตราขยาย 2:1 หรือมากกว่า

นักถ่ายภาพหลายท่านจึงอาจสงสัยว่า อัตราขยายคืออะไร 1:1 , 1:2 , 1:4 คืออะไร และมีผลอะไรต่อการถ่ายภาพมาโคร เพื่อให้เข้าใจง่าย ผมขอยกตัวอย่างเรื่องอัตราขยายด้วยระบบฟิล์มนะครับ เพราะหากเป็นกล้องดิจิตอลมักจะเกิดความสับสนเมื่ออธิบาย

อัตราขยาย1:1 คือ ภาพซับเจกต์ที่ได้บนฟิล์มของทุกคน จะมีขนาดเท่ากับวัตถุจริงพอดี เช่น หากคุณถ่ายภาพผึ้งด้วยอัตราขยาย 1:1 ของเลนส์มาโคร แล้วหยิบฟิล์มชิ้นนั้นมาทาบลงบนผึ้งตัวจริงที่คุณถ่ายภาพ มันจะมีขนาดเท่ากันเป๊ะ ส่วนอัตราขยาย 1:2 คือ ขนาดผึ้งบนฟิล์มจะน้อยกว่าผึ้งตัวจริงเท่าตัว เช่น ผึ้งมีลำตัวยาว 12 มม. แต่บนฟิล์มที่ถ่ายด้วยอัตราขยาย 1:2 จะวัดความยาวผึ้งบนฟิล์มได้ 6 มม. ส่วนอัตราขยาย 1:4 จะวัดความยาวผึ้งบนฟิล์มได้ 3 มม. แต่ถ้าอัตราขยายสูงกว่า 1:1 เช่น เลนส์มาโครบางรุ่นที่ทำได้ 2:1 ก็จะวัดขนาดผึ้งบนฟิล์มได้ 24 มม. ใหญ่กว่าผึ้งตัวจริงเท่าตัว อัตราขยายจึงเป็นค่าที่บ่งบอกว่า คุณจะได้ขนาดวัตถุเมื่อเทียบกับขนาดภาพ เพียงพอต่อความต้องการใช้งานหรือไม่ แน่นอนครับว่า การเลือกใช้เลนส์ที่ปรับโฟกัสได้ใกล้ๆ ไว้ก่อนเป็นสิ่งที่ดีกว่าแน่นอน เช่น เลนส์ 35มม. ส่วนใหญ่จะโฟกัสได้ 0.35-0.3 เมตร แต่ก็มีบางรุ่นโฟกัสได้ใกล้ถึง 0.17-0.2 เมตร ทำให้สามารถถ่ายภาพวัตถุเล็ก ๆ ได้ จึงใช้งานได้หลากหลายกว่า

อัตราขยายกับขนาดของเซ็นเซอร์

ภาพชุดนี้แสดงให้เห็นว่าเลนส์มาโครอัตราขยาย 1:1 เท่ากัน แต่ขนาดวัตถุเมื่อเทียบกับเฟรมภาพแตกต่างกันอย่างมาก กล้อง Micro Four Thirds จะให้ผึ้งต่อขนาดเฟรมที่ใหญ่กว่ากล้องฟูลเฟรมเท่าตัว

ยังมีความเข้าใจผิดกันในเรื่องอัตราขยายกับขนาดของเซ็นเซอร์ภาพกันค่อนข้างมาก เช่น อัตรขยาย 1:1 ของกล้องฟูลเฟรม กับอัตราขยาย 1:1 ของกล้อง APS-C เหมือนกันหรือแตกต่างกัน เอาเลนส์มาโคร 1:1 ของกล้องฟูลเฟรมไปใช้กับกล้อง APS-C จะยังได้อัตราขยาย 1:1 เท่ากันหรือไม่

คำตอบก็คือ ถ้าคุณเอาเลนส์มาโคร 1:1 ของฟูลเฟรมไปใช้กับกล้อง APS-C หรือ Micro Four Thirds อัตราขยายของเลนส์ก็ยังคงเป็น 1:1 เช่นเดิม แต่ขนาดของวัตถุเมื่อเทียบกับเฟรมภาพจะไม่เท่ากัน ตัวอย่างเช่น ถ้าถ่ายภาพผึ้งตัวเดิมที่ลำตัวยาว 12มม. บนเซ็นเซอร์ฟูลเฟรม ความยาวของผึ้งบนภาพจะเท่ากับ 1/3 ภาพ แต่ถ้าเอาไปใช้กับกล้อง APS-C (ที่มีขนาดเซ็นเซอร์ภาพ 16×24มม.) ความยาวบนผึ้งจะเท่ากับ 1/2 ของภาพ (ขนาดวัตถุใหญ่ขึ้น 1.5 เท่า เทียบได้กับอัตราขยาย 1:5:1 บนกล้องฟูลเฟรม) และถ้าเอาไปใช้กับกล้อง Micro Four Thirds ที่มีขนาดเซ็นเซอร์ภาพ 17.3×13.0 มม. ก็จะได้ความยาวของผึ้งบนภาพเท่ากับ 2/3 บนภาพ (ความยาวและกว้างของขนาดผึ้งเมื่อเทียบกับเฟรมภาพ จะมากกว่าเมื่อใช้กับเซ็นเซอร์ฟูลเฟรมเท่าตัว) ดังนั้นจะเห็นได้ว่ากล้องที่ใช้ขนาดเซ็นเซอร์เล็กกว่า จะได้ขนาดวัตถุเมื่อเทียบกับขนาดเฟรมภาพใหญ่กว่า จึงดูเสมือนว่า ได้อัตราขยายสูงกว่า เช่น APS-C จะได้ขนาดวัตถุบนภาพเมื่อเทียบกับเฟรมภาพเท่ากับอัตราขยาย 1:5:1 ส่วน Micro Four Thirds จะเท่ากับอัตราขยาย 2:1 ซึ่งนี่คือข้อดีของกล้องที่ใช้เซ็นเซอร์ภาพขนาดเล็ก อีกเรื่องคือ เซ็นเซอร์ภาพขนาดเล็กจะได้ความชัดลึกสูงกว่าเซ็นเซอร์ภาพขนาดใหญ่ เมื่อถ่ายให้ขนาดของวัตถุ / ขนาดภาพเท่ากัน โดยเซ็นเซอร์ขนาด APS-C จะได้ความชัดลึกสูงกว่ากล้องที่ใช้เซ็นเซอร์ฟูลเฟรม 1 สตอป ส่วน Micro Four Thirds จะได้ความชัดลึกสูงกว่า 2 สตอป

การแสดงอัตราขยายในข้อมูลจำเพาะ

เมื่อคุณดูข้อมูลจำเพาะของเลนส์ในเว็บไซต์ในแคตตาล็อก มักจะไม่แสดงค่าเป็น 1:2 , 1:3 ,หรือ 1:4 แต่จะแสดงเป็นค่าจุดทศนิยม เช่น 0.12X , 0.25X หรือ 0.5X เป็นต้น วิธีเทียบอัตราขยายเป็น 1:2 ,1:3 ฯลฯ ทำได้โดยเอา 1 หารด้วยตัวเลขที่ต่อท้ายจุดทศนิยม เช่น 0.12X เท่ากับ 1 / 0.12 = 8.33 คือ 1 : 8.33 ส่วน 0.2X เท่ากับ 1 / 0.25 = 4 ก็คืออัตราขยาย 1:4 นั่นเอง

เรียบเรียง : กองบรรณาธิการ


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่
Line@ : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/basic