Smartphone Reviews

สเปคมือถือ ดูยังไง อย่าให้ใครหลอก

ปัจจุบันสมาร์ทโฟน เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ขาดสมาร์ทโฟนแทบจะทำอะไรไม่ได้เลยก็ว่าได้ ด้วยความ “สมาร์ท” ทำให้จำนวนผู้คนที่นิยมใช้สมาร์ทโฟนทำทุกอย่างตั้งแต่โทรออก รับสาย ไปจนถึงเรื่องสำคัญๆอย่างการทำธุรกรรมทางการเงินมากขึ้นทุกวันๆ  การจะเลือกสมาร์ทโฟนไว้ใช้งานซักเครื่อง ให้ตรงความต้องการใช้ประโยชน์ต่างๆ นอกจากการดูรูปร่าง สีสันภายนอกที่ถูกใจแล้วนั้น การดู “สเปค” ให้เป็น นับเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเป็นอันดับแรกในการเลือกซื้อสมาร์ทโฟน  ก่อนอื่นต้องถามตัวเองว่าต้องการสมาร์ทโฟนเพื่อใช้งานอะไรบ้าง จากนั้นจึงค่อยมาดู สเปค ที่ตรงกับความต้องการใช้งานของเราให้มาที่สุด ประมาณนี้ครับ

ถือเป็นเรื่องพื้นฐานในการเลือกซื้อสมาร์ทโฟน ที่ทุกคนต้องรู้จักและทำความเข้าใจในระบบปฏิบัติการแต่ละแบบ  OS ที่มีบทบาทในปัจจุบันหลักๆคือ  iOS และ  Android

iOS เป็นระบบปฏิบัติการของทางฝั่ง iPhone  เป็น OS ที่มีระบบรักษาความปลอดภัยจากแอพพลิเคชั่นที่มีความเสี่ยง และการคุกคามของไวรัสสูงมาก เพราะต้องซื้อผ่าน Play Store เท่านั้น ระบบมีความเสถียร และมีการอัพเกรดเวอร์ชั่นออกมาสม่ำเสมอ ใช้งานง่าย ข้อติที่มักได้ยินจากผู้ใช้งานระบบนี้คือราคาของตัวเครื่อง อุปกรณ์เสริมและค่าใช้จ่ายเรื่อง app. ต่างๆ ปัจจุบันเวอร์ชั่นที่ใช้งานคือ iOS 10

Android ระบบปฏิบัติการที่ค่อนข้างจะให้อิสระกับนักพัฒนาซอฟท์แวร์ในการผลิต app. ที่หลากหลายมาใช้งานร่วมด้วย  ผู้ใช้งานสามารถเลือกใช้ app.  จำนวนมากได้อิสระ  ข้อติคือความเสี่ยงของการคุกคามจากไวรัสจะสูงกว่า  และ app. จำนวนมากที่ดาวน์โหลดฟรีแต่แฝงด้วยการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ภายในเครื่อง  แฝงโฆษณา ที่คอยกวนใจและสร้างความไม่มั่นใจให้กับผู้ใช้งาน  เวอร์ชั่นต่างๆ ของการอัพเกรดจะมีชื่อเรียกเป็นขนม ปัจจุบันคือเวอร์ชั่น 7.1  “Nougat”

ยังมีระบบปฏิบัติการอีก 2 แบบ คือ  Windows Phone  และ Blackberry OS ที่แทบจะไม่มีบทบาทในตลาดปัจจุบันแล้ว

สมาร์ทโฟน มีให้เลือกหลากหลายขนาด การแบ่งตามขนาดหน้าจอ จะทำให้แยกประเภทออกได้ชัดเจนกว่า โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3  ประเภทตามขนาดหน้าจอ

แบบแรก ที่เรียกกันว่า สมาร์ทโฟน (Smartphone) ส่วนใหญ่จะมีขนาดหน้าจอ ตั้งแต่ 3.5” – 5.5” นิ้ว

แบบที่สอง แฟบเล็ท (Phablet)  เป็นขนาดของหน้าจอที่อยู่ระหว่าง สมาร์ทโฟนและแท๊บเล็ท  ส่วนมากมีขนาดหน้าจอระหว่าง 6” – 7”

สุดท้ายคือ แท๊บเล็ท (Tablet) ส่วนใหญ่  มีขนาดหน้าจอตั้งแต่ 7”  ขึ้นไป มีทั้งรุ่นที่รองรับการใช้งานเป็นโทรศัพท์และรุ่นที่ไม่สามารถโทรออก-รับสายได้

สมาร์ทโฟนอีกประเภท จะมีรูปร่างหน้าตาเหมือนฟีเจอร์โฟน คือมีปุ่มกด และหน้าจอขนาดเล็ก แต่มีฟังก์ชั่น การทำงานของสมาร์ทโฟน มีราคาถูก การทำงานค่อนข้างจำกัดและช้า

สมาร์ทโฟนส่วนใหญ่จะนิยมใช้หน้าจอขนาด 5”-5.5” สเปคความคมชัดของจอจะอยู่ที่ ระดับ HD หรือ Full HD  ขอยกตัวอย่างความคมชัดของจอแต่ละระดับ คร่าวๆ  เช่น  960 x 540  =  qHD,  1280 x 720  =  HD,  1920 x 1080  =  FHD, 2560 x 1440  =  2K หรือ 3840 × 2160 = 4K

ความคมชัดของหน้าจอที่ระดับเดียวกันในสมาร์ทโฟนต่างรุ่นต่างยี่ห้ออาจจะไม่เท่ากันได้ เป็นเพราะปัจจัยสำคัญ 2 สิ่ง สิ่งแรกคือขนาดหน้าจอ ความคมชัดระดับเดียวกันแต่ขนาดหน้าจอต่างกัน ภาพที่เห็นในจอที่เล็กกว่าจะดูคมชัดกว่าจอใหญ่ เช่น Full HD ของจอขนาด 5” จะดูคมชัดกว่า 6” และอีกปัจจัยที่สำคัญคือ  PPI (Pixel Per Inch) หรือความหนาแน่นของเม็ดพิกเซล ตัวเลขของ PPI นี้ยิ่งสูง ความคมชัดของจอจะมากตามไปด้วย แม้ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟนต่างยี่ห้อ แต่ขนาดหน้าจอและความละเอียดระดับเดียวกันก็ตาม ลองวางสมาร์ทโฟน 2 -3 รุ่นที่ความละเอียดเท่ากัน ขนาดหน้าจอเท่ากัน สังเกตุดูว่ารุ่นที่มีค่า PPI สูงกว่าจะคมชัดกว่า  แต่ค่า PPI นี้สายตาคนเราแยกแยะได้แค่ประมาณ 300 PPI สูงกว่านั้นสายตาเราก็แยกความต่างไม่ได้แล้ว ข้อมูลตรงนี้เอาไว้ใช้ประกอบเวลาเลือกหน้าจอครับ

ปัจจุบัน ชนิดของหน้าจอแยกตามลักษณะการแสดงผล การแสดงสีสัน ที่นิยมนำมาใช้กับสมาร์ทโฟน(หรือกับกล้องถ่ายภาพ)  มี 3 ประเภท ได้แก่

TFT LCD  เป็นเทคโนโลยีจอแสดงผลรุ่นแรกๆที่นำมาใช้กับสมาร์ทโฟน กินไฟน้อย แต่มีข้อจำกัดทั้งในเรื่องความคมชัด การแสดงสีสัน มีความผิดเพี้ยนของความคมชัดและสีสูงเมื่อมองในมุมอื่นๆ ที่ไม่ใช่มุมตรง  ปัจจุบันจะพบในสมาร์ทโฟนระดับล่าง หรือรุ่นราคาตํ่า

IPS  เป็นหน้าจอที่พัฒนาให้แสดงภาพที่ชัดเจน ถ่ายทอดสีสันที่สดใส และให้องศาในการมองกว้างกว่าแบบแรก ข้อเสียในรุ่นแรกๆ คือเรื่องความสว่างสูง และต้นทุนที่แพงกว่า ปัจจุบันจอประเภทนี้ได้รับการพัฒนา และปรับปรุงการแสดงผลได้ดีขึ้นกว่าเดิมมาก

AMOLED  หน้าจอที่ถ่ายทอดความคมชัดสูง ให้สีสันจัดจ้าน มีองศาของมุมมองที่กว้างมาก แม้มองจากด้านข้างจอก็ยังเห็นรายละเอียดและสีสันที่ชัดเจนอยู่  ให้การตอบสนองต่อการใช้งานระบบทัชสกรีนที่ดีกว่า และประหยัดพลังงาน  แต่มีข้อเสียคือความคมชัดที่สูงมากและสีสันที่ดูจะเกินธรรมชาติ  และจะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนมากเมื่อเทียบกับจอแสดงผลของเครื่องคอมพิวเตอร์

อย่างไรก็ตาม ขนาดหน้าจอที่ใหญ่กว่า ความละเอียดที่สูงกว่า ยิ่งต้องใช้ CPU ที่มีความเร็ว และแรงมากขึ้น เพื่อไม่ให้เครื่องตอบสนองการทำงานช้าหรือที่เรียกกันว่าหน่วง และอีกสิ่งสำคัญคือยิ่งละเอียด ยิ่งใหญ่ ยิ่งเปลืองไฟครับ

หรือหน่วยประมวลผลกลาง  แม้จะเป็นเพียงชิปขนาดเล็ก แต่มีความสำคัญสูงมาก เครื่องจะเร็ว จะหน่วง CPU เป็นตัวกำหนดโดยตรง สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ที่ต้องรองรับกับ app. ที่ความละเอียดสูง ขนาดใหญ่ หรือรองรับการทำงานแบบสองหน้าจอ หรือเล่นเกม  การประมวลผลของ CPU ยิ่งต้องเร็วและแรงตามไปด้วย  ปัจจุบันจะมีการใช้ CPU ที่มีหลาย Core (หรือที่นิยมเรียกกันว่าแกน) เช่น  Single Core หรือ หน่วยประมวลผล 1 แกน , Dual Core หน่วยประมวลผล  2 แกน , CPU Quad Core หน่วยประมวลผล 4 แกน (มีทั้งแบบ ทำงานพร้อมกัน 3 แกน อีก 1 ใช้รันระบบปฏิบัติการ และแบบ ทำงานทีละ 2 แกน) สมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ในปัจจุบันใช้รุ่นนี้มากขึ้น , Hexa Core หน่วยประมวลผล 6 แกน (ประมวลผลทีละ 3 แกน) และ Octa Core หน่วยประมวลผล 8 แกน (ประมวลผลทีละ 4 แกน หรือ 6 แกน และ อีก 2 ใช้รันระบบปฏิบัติการ) นิยมใช้ในสมาร์ทโฟนระดับสูง   CPU มีหลายรุ่นที่นิยมใช้ เช่น NVIDIA ,  Mediatek ,  Qualcomm , Intel และ Exynos

ROM (Read-Only Memory) หน่วยความจำถาวรภายในเครื่องหรือเรียกว่า Internal Storage มีให้เลือกหลายความจุ เช่น 8GB, 16GB,32GB, 64GB และ 128GB ใช้เก็บข้อมูลทั้งระบบปฏิบัติการและข้อมูลอื่น เช่น app. ,  เอกสาร , ไฟล์เพลง รูปถ่ายวีดีโอ และอื่นๆ ยิ่งหน่วยความจำเยอะยิ่งเก็บข้อมูลได้มาก หากหน่วยความจำน้อยต้อง backup ข้อมูลไปเก็บไว้ที่อื่น  สมาร์ทโฟน  Android หลายรุ่นที่รันระบบปฏิบัติการใหม่ๆ สามารถย้าย app. ลงไปไว้ในเมมโมรี่การ์ดได้มากขึ้น ทำให้ ROM ในเครื่องไม่ต้องเก็บข้อมูลมาก

RAM (Random Access Memory) หน่วยความจำชั่วคราวของสมาร์ทโฟน ต้องทำงานร่วมกับ CPU  คอย รับ -ส่ง และใช้เป็นที่พักข้อมูล ระหว่างการทำงานหรือการใช้งาน app. ต่างๆ  ยิ่ง RAM เยอะการทำงานของเครื่องจะยิ่งเร็วขึ้นตามไปด้วย

ควรให้ความสำคัญกับ 2 สิ่งนี้มากๆรองจาก CPU ครับ

ปัจจุบัน หลายค่ายเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับ GPU (Graphics Processing unit) มากขึ้น ซึ่ง GPU นี้จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการแสดงผลภาพกราฟฟิค , กราฟฟิค 3 มิติ สำหรับใช้งานเน้นด้านเกม ด้านภาพเคลื่อนไหว และรองรับเทคโนโลยี VR ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นทุกวันๆ หากใครที่เน้นการใช้งานประเภทนี้ ควรดูสเปคของ GPU ประกอบการตัดสินใจด้วย  ที่ได้ยินคุ้นหู เช่น  Qualcomm Adreno  ,  NVIDIA GeForce Tegra  และ PowerVR

อย่างที่ผมเคยนำเสนอเกี่ยวกับกล้องสมาร์ทโฟนไป  เทคโนโลยีตรงนี้ก้าวหน้าไปค่อนข้างมาก จากกล้องธรรมดาๆ มาเป็นกล้องคุณภาพสูง รูรับแสงกว้าง มีฟังก์ชั่นเหมือนกล้องใหญ่ ใช้เซ็นเซอร์ความละเอียดสูงๆ ใช้เลนส์คู่ บางรุ่นกล้องหน้าคู่ หลายรุ่นกล้องหลังคู่ และเมื่อไม่นานมานี้มีข่าว Huawei จะใช้กล้องหน้าและหลังคู่กับสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ของตัวเอง ยังไม่นับรวมกับ app. ต่างๆเกี่ยวกับการถ่ายภาพ การแต่งภาพ ที่ออกมาให้เลือกใช้งานอีกนับไม่ถ้วน

การเลือกเฉพาะความละเอียดสูงๆ ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องในปัจจุบันแล้วครับ กล้องที่มีเซ็นเซอร์ความละเอียดสูง อาจจะดีกว่า ได้เปรียบกว่า แต่ก็ต้องแลกมาด้วยราคาที่แพงกว่า การใช้พลังงานมากกว่า  แต่สิ่งสำคัญที่มักจะถูกมองข้ามคือเรื่องขนาดของเซ็นเซอร์ (หรือขนาดพิกเซล) ที่ส่วนมากจะไม่ค่อยพูดถึง หากมีข้อมูลตรงนี้ ให้เลือกกล้องที่มีขนาดพิกเซลใหญ่กว่าไว้ก่อน  เพราะเซ็นเซอร์ที่มีขนาดใหญ่กว่าย่อมรับแสงได้ดีกว่า รายละเอียดภาพจึงสมบูรณ์กว่า สัญญาณรบกวนน้อยกว่า สีสันเป็นธรรมชาติมากกว่า

ระบบประมวลผลภาพ เข้ามามีส่วนสำคัญกับภาพถ่ายมากขึ้น ระบบประมวลผลนอกจากจะทำงานเร็วขึ้น ยังช่วยทำให้กล้องถ่ายภาพทำงานได้หลากหลายฟังก์ชั่นมากขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสได้ภาพถ่ายที่ดีขึ้นอีกมาก และหลายๆรุ่นยังช่วยประมวลผลและรวมหรือแต่งภาพที่ดีที่สุดไปในตัว เช่นสมาร์ทโฟนกล้องคู่ที่ระบบประมวลผลจะประมวลภาพจากกล้องสองชุดออกมาเป็นภาพเดียวที่ดีที่สุด ทั้งรายละเอียด สีสัน และมิติที่ดูเป็นธรรมชาติมากกว่ากล้องยุคก่อนๆ

กล้องสมาร์ทโฟนไม่สามารถทำเทคนิคหน้าชัด หลังเบลอ ได้เหมือนกล้องใหญ่ เพราะพื้นที่สำหรับการขยับชิ้นเลนส์มีจำกัด  และเซ็นเซอร์มีขนาดเล็ก ไม่สามารถเบลอฉากหลัง หรือสร้างโบเก้เป็นธรรมชาติเหมือนการใช้กล้องใหญ่  การใช้กล้องสมาร์ทโฟนตัวที่สองหรือกล้องคู่ ที่วางไว้คู่กับกล้องตัวแรกในระยะใกล้ๆ กัน ทำงานพร้อมกับกล้องหลักเพื่อเก็บรายละเอียดภาพในมุมเดียวกัน ดูจะเป็นทางออกที่ลงตัวที่สุด

การทำงานของกล้องคู่ในสมาร์ทโฟน จะใช้งานกล้องหลักเก็บภาพที่ฉากหน้า กล้องตัวที่ 2 มีหน้าที่เก็บรายละเอียดเสริม เช่น ฉากหลัง, รายละเอียดแสงเงา  หลังจากนั้นซอฟต์แวร์ในตัวกล้องจะนำภาพมารวมเป็นภาพๆ เดียว และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น การเบลอฉากหลัง หรือ เห็นรายละเอียดแสงเงาที่ชัดเจนขึ้น  สมาร์ทโฟนบางรุ่นแยกการทำหน้าที่ของเซ็นเซอร์กล้องทั้งสองตัว เพื่อเก็บรายละเอียดของภาพให้ดีที่สุดด้วย เช่น โหมด Portrait หรือโหมด Bokeh ของกล้องคู่  กล้องหลักโฟกัสที่วัตถุ หรือตัวแบบ หรือฉากหน้า  กล้องตัวที่สองถ่ายภาพแบบเบลอเกือบทั้งหมด จากนั้นซอฟต์แวร์จะทำการประมวลผลค่าระยะความห่างของฉากหลังกับวัตถุ แล้วปรับให้ดูเป็นธรรมชาติ ออกมาเป็นรูปเดียว

แฟลช ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยของกล้องสมาร์ทโฟน ทุกวันนี้ส่วนมากจะหันมาใช้ Dual LED Flash ที่ใช้ไฟจาก LED 2 หลอด  Dual LED Flash ที่ดีควรเป็นชนิด Dual Tone ที่จะให้แสงสีที่ต่างกัน เวลาใช้งานหลอดไฟแฟลชทั้งสองจะเปล่งแสงโทนต่างกันออกมาผสมให้ได้แสงสีที่เหมาะกับสถานการณ์หรือสภาพแวดล้มของการถ่ายภาพในเวลานั้น ส่วนมากจะใช้ประโยชน์กับการถ่ายภาพคนที่ให้สีผิวดูเป็นธรรมชาติและไม่แรงจนทำให้ภาพดูแข็งเกินไป  ส่วนไฟแฟลช LED คู่แบบแสงสีเดียวจะให้ประโยชน์แค่สว่างมากขึ้นในมุมที่กว้างกว่าแฟลชดวงเดียวไม่มากนัก การใช้งานจริงไม่ต่างกันแบบเห็นได้ชัดเจน

ความจุของแบตเตอรี่ ถือเป็นส่วนสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ เครื่องยิ่งแรง ใช้ CPU แรง หลายแกน ,จอขนาดใหญ่ความละเอียดสูง, ใช้งานหลายฟังก์ชั่น เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้การใช้พลังงานสิ้นเปลือง แบตเตอรี่จะหมดเร็วมาก  ต้องเลือกความจุของแบตเตอรี่ที่สูงๆไว้ก่อน  เช่น 3000 mAh , 3500 mAh  หรือที่ความจุสูงถึง 5000 mAh ก็มีให้เห็นในบางรุ่น

ปัจจุบันสมาร์ทโฟนระดับสูงหลายรุ่นจะรองรับการใช้งานระบบชาร์จเร็ว หรือ Quick Charge ตามแต่ยี่ห้อนั้นๆจะเรียก ช่วยย่นระยะเวลาในการชาร์จไฟแบตเตอรี่ลงไปได้มาก บางรุ่น ชาร์จเพียง 15-20 นาที ก็ได้ความจุขึ้นมาอีกมากสามารถใช้งานต่อได้ทั้งวัน การเลือกสมาร์ทโฟนที่มีฟังก์ชั่นนี้ให้ความสะดวกแก่ผู้ใช้งานจริง แต่ราคาก็จะสูงกว่ารุ่นทั่วไป  คาดว่าในอนาคตฟังก์ชั่นนี้น่าจะกลายมาเป็นมาตรฐานของสมาร์ทโฟนทั่วไป  ถึงเวลานั้นเรื่องราคาคงไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป  อย่างไรก็ตามสมาร์ทโฟนรุ่นที่สเปคใกล้เคียงกัน ถ้าเลือกได้ควรเลือกความจุแบตเตอรี่สูงกว่าไว้ก่อน

หากสมาร์ทโฟนที่เลือก ใช้ซิมการ์ดชนิดเดียวกับเครื่องเดิมที่ใช้อยู่ ผู้ใช้งานจะได้รับความสะดวกมากไม่ต้องเสียเวลาไปทำซิมการ์ดใหม่ และควรตรวจสอบให้มั่นใจว่า สมาร์ทโฟนที่เลือก รองรับกับคลื่นความถี่ของซิมการ์ดที่ใช้งานหรือไม่ และรองรับการใช้งานร่วมกับ 3G , 4GLTE  เพื่อให้สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพที่สุด

เมื่อตกลงใจซื้อแล้วต้องตรวจสอบให้มั่นใจก่อนรับเครื่อง ควรเผื่อเวลาในการไปรับและทดลองใช้งานเครื่องต่อหน้าพนักงานขาย เพื่อรักษาสิทธิ์ในการเปลี่ยนเครื่องทันทีหากพบปัญหา โดยตรวจสอบ

สภาพกล่อง  : ต้องมีพลาสติกหุ้มกล่องเรียบร้อย ไม่มีร่องรอยฉีกขาดหรือถูกเปิดมาก่อน  กล่องต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์

ตัวเครื่อง : ต้องไม่มีรอยขูด ขีด รอยถลอก หรือสภาพไม่สมบูรณ์ หน้าจอต้องมีความสว่าง ใช้งานได้ปรกติ ทัชสกรีนได้ทุกจุดของจอ  ปุ่มกดต่างๆแน่นหนา กดใช้งานได้ตามปรกติ ไม่หลวม เลนส์กล้องไม่มีรอยขูด ใช้งานถ่ายภาพและวีดีโอได้ปรกติ ทั้งกล้องหน้า-หลัง  เสียงจากลำโพงต้องดังชัด ไม่เบาจนผิดสังเกตุ

อื่นๆ  : ตรวจสอบสายชาร์จ, หูฟัง ,  ตรวจสอบเลข IMEI ของเครื่องให้ตรงกับที่กล่อง (กด *#06# ที่เครื่อง ทุกรุ่นทุกยี่ห้อ) , ใส่ซิมการ์ดโทรออกเพื่อเช็คการทำงาน , ทดสอบการเชื่อมต่อต่างๆ ทั้ง อินเตอร์เน็ต, Wi-Fi, Bluetooth หรือ NFC

ก่อนจะซื้อสมาร์ทโฟนซักเครื่อง ลองเสียเวลาเปิดดูรายละเอียด หรือการรีวิว/พรีวิว ในเว็บไซต์ต่างๆ เดี๋ยวนี้รวดเร็วมาก บางทีเปิดตัวมาก็มีรีวิวตามออกมาทันที   ยอมเสียเวลาหาข้อมูลซักนิด  ดีกว่าซื้อมาแล้วได้เครื่องที่ไม่ถูกใจ ไม่ตรงกับความต้องการ  แล้วจะยิ่งช้ำใจครับ

 

เรื่อง / ภาพ : สมศักดิ์ ทัศนเศรษฐ


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หรือสนใจดูเรื่องราวเกี่ยวกับ Smart Phone ที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/mirrorless-smart-phone/smart-phone-corner/