Shooting Destination

ปีนเขา ไปเฝ้าหมอกที่เขาโปกโล้น นครชุม

นครชุมที่ถูกห่มคลุมด้วยม่านหมอก

“นครชุม” เป็นตำบลหนึ่งของอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก เป็นเมืองเล็กๆ ที่รายล้อมไปด้วยขุนเขาน้อยใหญ่ ตัวหมู่บ้านจะทอดยาวไปตามแนวเขา ในยามที่พื้นที่เกิดความชื้น จะเกิดสายหมอก ที่ไหลตามแนวเขาเข้ามาห่มคลุมตัวเมือง เสมือนสายน้ำที่ไหลไปตามร่องน้ำ จึงเกิดเป็นคำเรียกว่า “ร่องเขาแห่งนครชุม” นั่นเอง

“นครชุม” เป็นเมืองที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ โดยเป็นพื้นที่ซ่องสุมกำลังพลของพ่อขุนบางกลางหาว ซึ่งได้ร่วมกับพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองลาด หรือเพชรบูรณ์ในปัจจุบัน ยกทัพไปตีเมืองศรีสัชนาลัย และเมืองสุโขทัย จนได้รับชัยชนะจากขอม จากนั้นก็ได้ปราบดาเป็นพระมหากษัตริย์ พระนามว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และตั้งเมืองสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวนครชุม ที่เคยเป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์ไทยนั่นเองครับ

ปัจจุบันนครชุม เป็นตำบลในพื้นที่อำเภอนครไทย และถือเป็นชุมชนใหญ่ มีประชากรกว่า 823 หลังคาเรือน แบ่งการปกครองออกเป็น 8 หมู่บ้าน อยู่ห่างจากตัวอำเภอนครไทยประมาณ 33 กิโลเมตร การเดินทางเข้าไปยังตัวต้องขับรถข้ามภูเขาที่บางช่วงมีความสูงชัน และคดเคี้ยวกันอยู่พอสมควร และหลังจากที่ข้ามเขา ขึ้นๆ ลงๆ เนินชัน และเส้นทางคดเคี้ยวหลายๆ รอบ เราก็มาถึงด่านแรกก่อนเข้าชุมชน นั่นคือจุดชมวิว ณ จุดๆ นี้ เราสามารถชมวิวของเมืองนครชุมได้ทั้งหมด เนื่องจากเป็นขุดชมวิวบนเชิมเขาสูง สามารถมองเลยออกไปยังแนวเขาด้านหลังไปสุดลูกหูลูกตาด้วย ถ้ามาถึงช่วงก่อนเที่ยง จะได้ท้องฟ้าโพลำรซ์โดยอัตโนมัติ เนื่องจากอยุ่ตรงข้ามทิศตะวันออก แต่ถ้ามาถึงช่วงบ่าย จะได้มุมย้อนแสงแทนครับ

จุดชมวิวก่อนถึงตัวเมืองนครชุม

เราถ่ายภาพกันที่จุดชมวิวซักพักก็ ขับรถลงเขาไปอีกหน่อย จนมาถึงสามแยกด้านหน้าที่ทำการ อบต. ผมโทรศัพท์หาคุณบอย ที่เป็นคนจัดสรรเรื่องโฮมสเตย์ในชุมชน เพื่อสอบถามว่า ผมและทีมงานจะต้องไปพักที่โอมสเตย์หลังไหน “บ้านป้าทบครับ เดี๋ยวผมให้ป้าโทรหานะครับ”

บ้านของป้าสีส้มสดใสเหมาะกับวัยรุ่นอย่างทีมงานเรามากทีเดียว..แฮ่!! เป็นบ้านปูนชั้นเดียว พื้นที่กว้างขวาง ด้านหน้าเป็นที่จอดรถ พร้อมหลังคาคลุมกันแดด กันฝนได้เป็นอย่างดี ด้านในเป็นห้องโถงใหญ่ พร้อมห้องนอนย่อยอีกสองห้อง ด้านหลังมีห้องน้ำสามห้องที่ได้รับการดูแลได้สะอาด สะอ้านดีทีเดียวครับ

ข้างๆ โฮมสเตย์บ้านป้าทบ เป็นทุ่งนา มองได้ไกลถึงจุดชมวิวที่เราผ่านลงมาเลยล่ะครับ การเข้าพักโฮมสเตย์ที่นี่ ซึ่งจะมีกันอยู่ประมาณ 12 หลัง จะเป็นการสลับหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามคิวของแต่ละหลัง ซึ่งจะทำให้ชาวชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการโฮมสเตย์ และเป็นการกระจายรายได้อีกทางหนึ่งด้วย ไม่ใช่เป็นการกระจุกผูกขาดอยู่แค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้นครับ โดยคิดค่าเข้าพักโฮมสเตย์คนละ 450 บาทต่อคนต่อวัน พร้อมอาหาร 2 มื้อ คือมื้อเย็นและมื้อเช้าของวันรุ่งขึ้นครับ และเงินรายได้ของโฮมสเตย์จะหักรายได้ส่วนหนึ่งเข้ากองกลาง เพื่อนำไปพัฒนาสาธารณะประโยชน์ของหมู่บ้าน รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนด้วยนั่นเอง

ไข่ป่าม อาหารพื้นเมือง ที่ห้ามพลาดชิม

“หิวกันรึยังจ๊ะ” ป้าทบถาม เมื่อเห็นเราเดินกลับเข้ามาที่บ้านพัก หลังจากที่ออกไปเดินชมรอบๆ หมู่บ้าน “มีอะไรให้พวกผมทานบ้างครับ ป้า” ป้าทบยกสำรับกับข้าวออกมาหลายอย่างด้วยกัน หนึ่งในนั้นคืออาหารพื้นบ้านอันลือชื่อของที่นี่ นั่นคือ “ไข่ป่าม” ซึ่งหน้าตาก็ดูเป็นใข่เจียวนี่แหละครับ แต่เป็นไข่เจียวที่ถูกทำให้สุกด้วยวิธีการห่อด้วยใบตอง แล้วเอาไปย่างให้สุก ซึ่งข้อดีเลยคือ ไม่มีน้ำมันเจือปนนั่นเอง สายคลีนน่าจะชอบนะครับ!! อีกหนึ่งเมนูอาหารพื้นบ้านคือ “หลามไก่” ซึ่งเป็นการเอาเนื้อไก่มาคลุกเคล้ากับเครื่องปรุง แล้วเอาไปต้มในกระบอกไม้ไผ่ ซึ่งมาสอบถามป้าทบถึงวิธีปรุงในภายหลัง เลยไม่รู้ว่าป้ายังใช้วิธีต้มไก่ในกระบอกไม้ไผ่หรือปล่าว แต่ที่แน่ๆ เกลี้ยงชามไปแล้วครับ…

รถอีแต๊ก พาหนะที่นำเราไปยังเชิงเขา ก่อนที่จะเดินขึ้นยอดเขา

เช้ามืด!! เรามีคิวที่จะไปปีนเขาสู่จุดชมวิวบนเขาโปกโล้น จุดหมายหลักของเราในทริปนี้ เรานัดรถอีแต๊กมารับในเวลาตี 5 ก่อนที่จะนั่งรถออกไปยังเชิงเขา ใช้เวลาเดินทางประมาณ 20 นาที แล้วเดินต่อไปขึ้นไปยังยอดเขาระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ช่วงเดินขึ้นจะลำบากเล็กน้อย เนื่องจากทางเดินยังคงเป็นการเดินลัดเลาะไปตามโขดหิน ซึ่งตี 5 ยังคงมืดอยู่ครับ ต้องใช้ไฟฉายนำทาง ที่ต้องขึ้นตั้งแต่เช้ามืด ก็เพราะต้องไปให้ทันเวลาพระอาทิตย์ขึ้นนั่นเองครับ

จุดชมวิวจากยอดเขาโปกโล้น

สายหมอกที่เลื่อนไหลเข้ามายังร่องเขานครชุม

บนยอดเขา สามารถมองวิวได้กว้างมาก จุดชมวิวก็คือบนแนวผาหินที่เรามองเห็นจากด้านล่างนั่นแหละครับ ทั้งแนวสามารถถ่ายภาพได้ทั้งหมด จะเลือกพื้นหินแตกๆ ให้เป็นฉากหน้าก็ได้ ในช่วงที่อากาศชื้นๆ จะมีสายหมอกเข้ามาปกคลุมเต็มร่องเขา จนเห็นเป็นทะเลหมอกนั่นแหละครับ แต่ในช่วงที่เราขึ้นไป มีเพียงสายหมอกบางๆ ค่อยๆ ไหลเข้ามาคลุมหมู่บ้านเช่นกัน ก็ถือเป็นเสน่ห์ของเขาโปกโล้นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้หลั่งไหลเข้ามายังร่องเขาแห่งนครชุมนั่นเองครับ

พระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่บนยอดเขา

การตั้งค่ากล้องนั้น จะถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ปกติตามที่วัดแสงได้ก็ได้เช่นกัน หรือจะเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ เพื่อให้สายหมอกที่ค่อยๆ ไหลเข้ามาในร่องเขาดูฟุ้งๆ เหมือนเวลาที่ถ่ายภาพสายน้ำตกให้ดูนุ่มนวลก็ได้เช่นกันครับ แต่ต้องใช้เวลาที่นานกว่า เพราะสายหมอกจะค่อยๆ ไหลเข้ามานั่นเอง

มุมมองยามพระอาทิตย์ขึ้นจากเลนส์ช่วงเทเลโฟโต้ 85 มม.

ผมถ่ายภาพอยู่นานทีเดียว โยกเปลี่ยนไปหลายมุม ใช้ไวท์บาลานซ์แบบแสงอาทิตย์ หรือเดย์ไลท์ แล้วปรับชิฟท์ให้ออกส้มแดงเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย เพื่อให้บรรยากาศดูอุ่นๆ เลนส์มุมกว้างพิเศษ 10-18 มม. ของ Laowa ช่วยให้ผมสนุกกับมุมมองต่างๆ ได้มากมายทีเดียว จนพระอาทิตย์เริ่มเผยโฉมขึ้นมา ผมก็เปลี่ยนเป็นเลนส์ 85 มม. เพื่อถ่ายภาพเจาะเน้นไปบางมุมด้วยเช่นกันครับ หลายๆ คนอาจจะคิดว่าถ่ายภาพวิว ต้องใช้เลนส์มุมกว้างเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว ช่วงเทเลโฟโต้ก็ใช้ได้เช่นกันนะครับ เอาไว้เจาะเน้นไปบางพื้นที่ครับ

 

การเดินทาง

จากกรุงเทพฯใช้เส้นทางหลวงสายเอเชีย หมายเลข 32 มุ่งหน้าไปยังจังหวัดนครสวรรค์ เมื่อผ่านสิงห์บุรี ให้เลี้ยวขวาไปยังเส้นทางหมายเลข 11 ที่อินทร์บุรี วิ่งตามเส้นทางตรงไปจนถึงอำเภอวังทอง ให้เลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 12 ไปทางเขาค้อ วิ่งไปประมาณ 50 กิโลเมตร ถึงแยกบ้านแยงให้เลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 2013 วิ่งไปตามเส้นทางจนถึงอำเภอนครไทย วิ่งผ่านหน้าที่ว่าการอำเภอนครไทยไปประมาณ 1 กิโลเมตร ให้เลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 1248 วิ่งตามทางไปประมาณ 33 กิโลเมตร จะถึงนครชุม