Basic

ปรับรูรับแสงแล้ว 11 สิ่งนี้เปลี่ยนนะ..รู้ยัง

การปรับรูรับแสงขนาดต่างกัน ผลที่เกิดบนภาพแตกต่างกันได้หลายอย่างทั้งผลจากคุณสมบัติของรูรับแสงโดยตรงและจากความคลาดของเลนส์ จากการออกแบบ ทำให้ภาพที่ได้เปลี่ยนไปในหลายๆ เรื่อง

 

การปรับขนาดรูรับแสงมีผลต่อความเข้มแสงที่ผ่านจากเลนส์ไปยังเซ็นเซอร์ภาพ การเปิดรูรับแสงกว้างขึ้นภาพจะสว่างขึ้น เปิดรูรับแสงแคบลงภาพจะมืดลง และไม่ว่าจะเป็นเลนส์ขนาดเล็กหรือเลนส์ตัวใหญ่ เลนส์มุมกว้างหรือเลนส์เทเล กล้องและเลนส์ต่างฟอร์แมต หากเป็นรูรับแสงเดียวกันและถ่ายซับเจกต์เดียวกัน แสงจะผ่านเข้าไปที่เซ็นเซอร์ด้วยความเข้มแสงเท่ากันเสม

 

การปรับขนาดรูรับแสงมีผลต่อความชัดลึกของภาพทั้งด้านหน้าและด้านหลังของจุดที่เราโฟกัส จึงไม่ควรใช้คำว่าหน้าชัดหลังเบลอ แต่น่าจะเป็นคำว่า ชัดลึก ชัดตื้น โดยการเปิดรูรับแสงกว้าง(ตัวเลขน้อยๆ) ภาพจะชัดตื้น การเปิดรูรับแสงแคบ(ตัวเลขมากๆ) ภาพจะชัดลึก

 

ขนาดรูรับแสงที่แตกต่างกันมีผลต่อความคมชัดที่ต่างกันด้วย กับเลนส์ส่วนใหญ่เมื่อเปิดรูรับแสงกว้างสุดความคมชัดของเลนส์มักจะยังไม่ได้เต็มที่ เมื่อหรี่รูรับแสงลง ความคมชัดจะดีขึ้นอย่างชัดเจน(โดยเฉพาะกับเลนส์เอฟกว้างๆ เช่น F1.4 หรือ F1.8) เมื่อเปิดรูรับแสงแคบลง 2-3 สตอปความคมชัดจะสูงเต็มที่ (ซึ่งจะแตกต่างกันไปในเลนส์แต่ละรุ่น) โดยความคมชัดจะลดลงเมื่อขนาดรูรับแสงมากกว่า f/11 โดยเฉพาะที่รูรับแสงแคบสุด f/22 ความคมชัดจะลดลงอย่างมากจากเรื่อง Diffraction ของเลนส์

 

ประกายแฉกของดวงอาทิตย์ หลอดไฟ จะแตกต่างกันตามขนาดรูรับแสงที่ใช้ กับเลนส์ส่วนใหญ่เมื่อเปิดรูรับแสงกว้าง จะแทบไม่เห็นแฉกของไฟแต่เมื่อหรี่รูรับแสงแคบลง แฉกของดวงอาทิตย์ หลอดไฟต่างๆ จะคมและชัดเจนขึ้น ยิ่งใช้รูรับแสงแคบมากๆ แฉกของไฟก็จะยิ่งชัดมากขึ้น (แต่เลนส์บางรุ่นสามารถสร้างประกายแฉกที่คมได้ตั้งแต่เอฟกว้าง)

 

เมื่อเปิดรูรับแสงกว้าง ขนาดของจุดสว่างนอกระยะชัดที่เรียกกันว่าโบเก้จะมีขนาดใหญ่ แต่เมื่อหรี่รูรับแสงแคบลงขนาดโบเก้ก็จะเล็กลงตามลำดับ โดยอาจจะมีการเปลี่ยนรูปทรงด้วย เช่น จากทรงกลมเป็นเจ็ดเหลี่ยม แปดเหลี่ยม เก้าเหลี่ยม ตามรูปทรงของไดอะแฟรมเลนส์ที่เอฟนั้นๆ

 

เมื่อเปลี่ยนขนาดรูรับแสง เลนส์บางรุ่นโฟกัสอาจเลื่อนได้หากเลนส์ตัวนั้นมีปัญหาเรื่อง Spherical Aberration เมื่อปรับรูรับแสงตำแหน่งจุดโฟกัสจึงอาจไม่ได้อยู่ที่เดิม

 

ในกล้องมิเรอร์เลสจะแสดงค่าแสงจริง ความชัดลึกจริง เมื่อเปิดเอฟแคบลง ไดอะแฟรมที่ควบคุมความกว้างแคบของรูรับแสงจะหรี่ทำให้แสงผ่านเข้าไปที่เซ็นเซอร์รับภาพน้อยลง ประสิทธิภาพของระบบโฟกัสจึงลดลง

 

ภาพนี้ขยายขึ้นมาให้เห็นฝุ่นบนภาพเมื่อเปิดรูรับแสงที่ f/22 แต่ถ้าถ่ายที่ f/2.8-f/4 จะไม่เห็นรอยดำนี้

เห็นบนภาพเมื่อคุณเปิดรูรับแสงกว้าง เช่น f/1.4-f/5.6 แต่เมื่อเปิดรูรับแสงแคบๆ ตั้งแต่ f/8 เป็นต้นไป จะเห็นร่องรอยของฝุ่นเป็นจุดดำๆ บนภาพ โดยเฉพาะที่ f/16 และ f/22 จะเห็นชัดเจนมาก ดังนั้นหากต้องใช้งานด้วยเอฟแคบๆ ควรทำความสะอาดเซนเซอร์รับภาพให้สะอาด มิเช่นนั้นจะต้องมาลบฝุ่นออกในภายหลังและถ้าฝุ่นอยู่ในจุดสำคัญของภาพเช่น ดวงตา การลบฝุ่นจะยาก

 

การปรับรูรับแสงต่างกันมีผลต่อแสงฟุ้งและภาพหลอนบนภาพ โดยในส่วนของแสงฟุ้ง (Flare) นั้นมักจะเห็นชัดเจนเมื่อเปิดรูรับแสงกว้าง แต่จะลดลงเมื่อหรี่รูรับแสงแคบลง ส่วนภาพหลอน (Ghost Image) มักจะมีขนาดใหญ่เมื่อเปิดรูรับแสงกว้างแต่จะมีขนาดของจุดวงแสงเล็กลงเมื่อหรี่รูรับแสงแคบโดยอาจจะเห็นรูปทรงเป็นเหลี่ยมตามรูปทรงของไดอะแฟรมที่เอฟนั้น

 

การปรับรูรับแสงมีผลต่อความคลาดสีที่ต่างกัน แต่ไม่ใช่ว่าการปรับรูรับแสงแคบลงจะทำให้ความคลาดสีลดลง เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติส่วนตัวของเลนส์แต่ละรุ่น เลนส์บางรุ่นที่เอฟกว้างมีความคลาดสีน้อย เลนส์บางรุ่นที่เอฟแคบมีความคลาดสีน้อย

 

LoCA คือความคลาดสีตามแนวลึก (ส่วนที่อยู่ด้านหน้าและด้านหลังของซับเจกต์) โดยความคลาดสีรูปแบบนี้จะเห็นชัดเจนกับเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างและเปิดรูรับแสงกว้าง ส่วนหน้าของซับเจกต์จะเหลื่อมสีม่วงที่เส้นขอบของวัตถุ และเหลื่อมสีเขียวที่ส่วนหลังของซับเจกต์ อาการนี้ไม่สามารถปรับแก้ได้จากซอฟแวร์ตกแต่งภาพ แต่แก้ได้โดยหรี่รูรับแสงให้แคบลง สีเหลื่อมจะลดลง

 

 

 

 

เรื่อง : อิสระ เสมือนโพธิ์