Knowledge

“ปรับรับแสงน้อยลง” เพื่อมิติที่แตกต่าง

ปกติเวลาเราเก็บภาพธรรมชาติโดยทั่วไป ส่วนใหญ่ก็มักต้องการให้ได้ภาพออกสวยงามเหมือนกับที่ตาเห็น แต่ก็มีภาพบางลักษณะ ถ้าเราถ่ายให้ใสสว่างเหมือนที่ตาเห็น ภาพที่ได้อาจ ดูไม่น่าสนใจ เท่ากับการถ่ายให้มืดหรืออันเดอร์กว่าที่เห็น ซึ่งฟังดูเผินๆ คือการ การถ่ายภาพแบบซิลลูเอทนั่นเอง แต่เนื่องจากส่วนที่นำมาเสนอในชุดนี้ ไม้ได้เน้นเค้าโครงทึบร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนการถ่ายซิลลูเอท เพียงแต่ถ่ายให้อันเดอร์กว่าที่ตาเห็นเล็กน้อย เพื่อได้ภาพในอีกหนึ่งมิติ

“ปล่องไฟนางฟ้ารูปร่างเหมือนหน้าคน”  ปกติปล่องไฟนางฟ้าเหล่านี้มีลักษณะเป็นแท่งหินกลม ๆ โค้งมนมีรายละเอียด ของหินที่ถูกกัดเซาะจากธรรมชาติ บางอันมีการสกัดขุดเจาะจาก ฝีมือของมนุษย์ด้วย เนื่องจากพักอยู่ใกล้ๆ ช่วงเช้าจึงมีโอกาสเข้าไปรอ แสงแรกของวัน ในหุบปล่องไฟนางฟ้าเหล่านี้ ซึ่งมีปล่องไฟจำนวนมาก แต่ละอันมีรูปทรงหลากหลาย ระหว่างเดินสำรวจก็พบ ปล่องขนาดใหญ่ ฐานล่างถูกกัดเซาะเล็กน้อย ส่วนบนแหลม มีลักษณะเป็นก้อนหินขนาดใหญ่ ต่างจาก ปล่องไฟ้นางฟ้าอื่นๆ ซึ่งมีลักษณะแท่งหินเล็กยาวสูงขึ้นไปในอากาศ เดินวนรอบ ดูทิศทางแสง พบว่ามุมย้อนแสง ที่พระอาทิตย์ขึ้นด้านหลังนั้น มีรูปทรงเป็นสามเหลี่ยม ด้านหนึ่งมีแนวหินไล่ลงมาคล้าย จมูก ปาก ถ้าย่อตัวลงให้ติดพื้นหญ้า จะมีช่องว่างที่เกิดจากการกัดเซาะ ซึ่งโดยรวมเห็นเหมือนหน้าคนเลยทีเดียว จึงเก็บภาพมุมต่ำตามที่เห็นเป็นรูปทรง ดังกล่าวไว้ วัดแสงชดเชยแสงปรับการรับแสงให้น้อยลงกว่าที่ตาเห็นเพื่อ ลดรายละเอียดของหินด้านที่ถ่าย เน้นเหลี่ยมสันที่คล้ายหน้าคน ประกอบกับเป็นช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น คาดว่าอีกนานพอสมควร  ท้องฟ้าในช่วงนั้นจึงมีแค่สีฟ้าจางๆ ผลจากการปรับรับแสงให้น้องลง จากที่ตาเห็น จึงปรากฎภาพในอีกมิติหนึ่งตามตัวอย่าง


นำมาฝากสำหรับมือใหม่ที่อาจจะเจอ สถานการณ์ ที่คล้ายๆ กัน ส่วนหนึ่งของการถ่ายลักษณะนี้ก็เพื่อแก้สถานการณ์บางอย่างหรือ บางครั้งก็นำเสนอภาพให้มีสีสันสวยงามกว่าเดิม วิธีการก็ไม่ได้ยุ่งยาก เมื่อต้องการภาพที่แสงน้อยกว่าที่ตาเห็น ก็ปรับช่องรับแสงให้แคบลง ปรับความไวชัตเตอร์ให้เร็วขึ้น หรือจะปรับทั้งสองอย่างร่วมกัน ขึ้นอยู่กับตัวแปรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการปรับนี้ต้องวัดแสงให้เรียบร้อยก่อน

ลักษณะการถ่ายภาพให้อันเดอร์กว่าที่ตาเห็น แล้วได้ภาพท้องฟ้าสวยๆ ส่วนใหญ่มันจะเป็นการเก็บภาพ ช่วงเวลาพระอาทิตย์ขึ้นหรือพระอาทิตย์ตก การปรับรับแสงให้น้อยลงนั้น ทำให้เกิดภาพในมิติที่แตกต่าง อาทิเช่น

  • เมื่อปรับรับแสงให้น้อยลง รายละเอียดบางส่วนอาจหายไป สำหรับบางสถานการณ์แล้วจะพบว่า มีเรื่องราวอีกมิติหนึ่งปรากฎในภาพ ซึ่งการนำเสนอเรื่องราวในภาพลักษณะนี้ มีข้อควรระวังอยู่พอสมควร เมื่อถ่ายให้อันเดอร์จากที่ตาเห็นแล้ว โดยรวมภาพควรยังสวยงาม สื่อถึงสิ่งที่นำเสนอ คนทั่วไปเห็นภาพแล้วเข้าใจ เนื่องจากการเก็บภาพลักษณะนี้เป็นการถ่ายแบบกึ่งซิลลูเอท จึงต้องผสมผสานหลักการจัดวาง โครงทึบแบบซิลลูเอท กับการจัดองค์ประกอบของการถ่ายวิวทิวทัศน์ทั่วไปเข้าด้วยกัน โครงทึบที่ใช้เป็นเรื่องราว ควรโดดเด่นไม่ทับกับส่วนใด ส่วนที่ต้องการให้เห็นรายละเอียดในภาพ ก็ควรมีสัดส่วนเหมาะสมสวยงาม
  • เมื่อปรับการรับแสงน้อยลง มิติส่วนที่เป็นท้องฟ้าจะเปลี่ยนไป ช่วงเวลาที่ท้องฟ้าสีเหลืองหรือส้มอ่อนๆ จะได้สีสันเข้มข้นขึ้น วันที่ท้องฟ้าเป็นสีเทาขมุกขมัว จะได้ท้องฟ้าแบบดุดัน ถ้าฟ้ามีริ้วเมฆฟุ้งสีอ่อน ก็จะทำให้ริ้วเมฆเข้มกว่าเดิม หรือแม้แต่วันที่ท้องฟ้าโล่งๆ การเก็บภาพย้อนแสงแล้วปรับวัดแสงให้ได้ภาพเหมือนที่ตาเห็น อาจจะได้ภาพท้องสีฟ้าจึดๆ แต่ถ้าปรับการรับแสงให้น้อยลง ฟ้าก็จะเข้มสวยงามน่าสนใจมากขึ้น การจะให้ภาพออกมาสวยงามน่าสนใจ เพิ่มขึ้นนั้น ถ้าเป็นไปได้ก็ควรมองหาสิ่งที่เข้ากับบรรยากาศ ของท้องฟ้าเวลานั้นด้วย
  • เมื่อปรับการรับแสงให้น้องลง ทำให้มิติด้านรายละเอียดส่วนหนึ่งหายไป ซึ่งในบางโอกาสเราสามารถใช้เพื่อปกปิด หรือซ่อนเร้นสิ่งที่ไม่ต้องการได้ กิ่งไม่ พุ่มไม้ ใบหญ้า รอยเท้า ขยะ ผู้คนจำนวนมากที่ระเกะระกะ ฯลฯ ซึ่งบางครั้งสิ่งเหล่านี้อยู่ในตำแหน่งที่เราไม่ต้องการ และไม่สามารถเคลื่อนย้าย หรือเลี่ยงมุมภาพได้ การปรับรับแสงให้น้อยลง ช่วยเราซ่อนสิ่งเหล่านี้ให้อยู่ในมุมมืดได้ ซึ่งอาจจะช่วยไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ถือเป็นการลดความน่าสนใจของสิ่งที่ไม่ต้องการเหล่านั้นได้บ้าง
  • เมื่อปรับการรับแสงให้น้อยลง สิ่งที่ตามมาอีกอย่างคือ การได้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงกว่าเดิม เป็นการเพิ่มโอกาสให้กับคนที่ไม่ชอบ ใช้ขาตั้งกล้อง มีโอกาสเก็บภาพได้คมชัดขึ้น เมื่อต้องเก็บภาพในที่แสงน้อย โดยไม่ต้องปรับ ISO สูงเกินความจำเป็น ถือเป็นมิติเรื่องความ สะดวกสบาย..ฮาฮา

“ช่วยเป่าหน่อยบอลลูนลอยไม่ขึ้น” ระหว่างที่เก็บภาพหินรูปร่างคล้ายหน้าคนไปแล้ว พระอาทติย์ยังไม่ขึ้น จึงเดินสำรวจหามุมอื่นต่อ ได้มุมเก๋ๆ แปลกๆ เก็บไว้เป็นที่ระลึกอีกพอสมควร แต่มุมที่ชอบและประทับใจ คือภาพบอลลูนกับปล่องไฟนางฟ้ารูปหน้าคน ขณะที่เดินเก็บภาพมุมอื่นอยู่นั้น มีบอลลูนลอยขึ้นมากมาย ในบริเวณที่เก็บภาพอยู่ ระหว่างนั้นก็ ได้ยินเสียงคนส่งเสียงกรี๊ดเป็นระยะ หันไปตาเสียง พบว่ามีบอลลูนบางลูกที่คนบังคับ ค่อยๆ ปล่อยให้ลอยลงไปในหุบใกล้ๆ ปล่องไฟนางฟ้า เรียกว่าให้สัมผัสปล่องไฟนางฟ้ากันแบบใกล้ชิดเลยทีเดียว ซึ่งสังเกตเห็นมีบอลลูนอยู่ลูกหนึ่งอยู่ในตำแหน่งที่ เราเก็บก้อนหินรูปร่าง คล้ายหน้าคนไว้  จึงวิ่งกลับไปที่เดิม ด้วยไอเดียที่ปิ้งขึ้นมากระทันหันว่า ถ่ายให้เหมือนคนกำลังเป่าลูกบอลลูนลูกที่ลอยตกลงมาในหุบ ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่พระอาทติย์ขึ้นแล้ว แต่ยังไม่พ้นแนวหุบที่เรารอเก็บภาพอยู่ จึงต้องปรับการรับแสงให้น้อยลง จากที่ตามเห็นมากพอสมควร ผลจากการถ่ายโดยรวมภาพดูอันเดอร์ ไม่น่าสนใจเท่าที่ควร จึงเสริมเรื่องราวด้วยการ รอกดชัตเตอร์จังหวะที่บอลลูน ลูกนั้นปล่อยแก๊ส แล้วมีไฟสีแดงสว่างวาวขึ้นมา ช่วยให้ภาพดูน่าสนใจขึ้น จึงได้ภาพตามที่ต้องการ ซึ่งเป็นอีกมิติหนึ่งที่แตกต่าง มีภาพที่ถ่ายเปรียบเทียบมาไว้ให้ดูเป็นตัวอย่างด้วย

เนื่องจากมุมที่ต้องการนำเสนอเป็นมุมย้อนแสง ฟ้าจึงดูจึดๆ ถ้าเราปรับการรับแสงให้เหมือนกับที่ตาเห็นตอนนั้น และสิ่งที่ได้คือรายละเอียดของ หินด้านที่เราเก็บภาพ ซึ่งได้มาก็ไม่สวยงามอะไร เพราะอยู่ในด้านที่ไม่มีแสงเงา จังหวะบอลลูนถ้าไม่มีไฟก็ดูสีจืดๆ ปรับการรับแสงให้น้อยลง กลับทำให้ภาพโดยรวมอันเดอร์ แต่ก็มีจังหวะที่ทำให้เกิดมิติ ที่แตกต่างได้ ถ้าเราเป็นคนช่างสังเกต และก็เข้าใจเรื่องการปรับรับแสงได้ดีก็จะปรับทุกอย่างได้ทันสถานการณ์ เรื่องการจับจังหวะ ถ้าเราไม่เตรียมพร้อมหรือมัวแต่ปรับโน่นนี่ บางทีจังหวะดีๆ ก็จะหลุดลอยไปง่ายๆ เพราะหลังจากกดไปภาพสองภาพ บอลลูนก็ลอยขึ้นไปอยู่กลางฟ้าเหมือนเดิม บางท่านอาจจะสะดวกกับการนำไปปรัปแต่งโอเวอร์อันเดอร์ในคอมฯ ภายหลัง ซึ่งนั่นก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือก แต่ถ้าลองคิด ลองทำอีกแบบก็จะรู้สึกสนุก ตื่นเต้นอินเข้าไปในสถานการณ์นั้นๆ ได้คิด ได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า แข่งกับเวลาแบบเสี้ยวนาที ถ้าเจอสถานการณ์คล้ายๆ กัน ต้องลองนำไปใช้ดู แล้วจะรู้ว่าสนุกแค่ไหนค่ะ


“พระอาทิตย์วันมาฆบูชา” วันหยุดมีโปรแกรมพาเพื่อนๆ ไปเก็บภาพเวียนเทียนวันมาฆบูชา ในคืนพระจันทร์เต็มดวง ออกจากกรุงเทพฯ ตอนดึกไปสว่างระหว่างทาง ระหว่างที่นั่งหลับๆ ตื่นๆ (พยายามนั่งเป็นเพื่อนคนขับ) แต่ก็แอบหลับเป็นระยะ มีอยู่ช่วงหนึ่งลืมตาขึ้นมาเห็นพระอาทิตย์ดวงกลมโต สวยงามมาก เลือดการเป็นช่างภาพพุ่งจี๊ด จากที่หลับไหล ตื่นโดนพลันสมองสั่งการทันที จอด..จอด เยียบเบรคทั้งๆ ที่ไม่ได้ถือพวงมาลัย ตะโกนออกไป จนพี่ที่ถือพวงมาลัย ส่งเสียงดุออกมา เลือดที่พุ่งจี๊ดจึงสงบลง..ฮาฮา หลังจากนั้นก็ค่อยๆ สังเกตข้างทาง มีพระประธานองค์ใหญ่ที่มองเห็นเด่นตระหง่าน สูงเหนือพุ่มไม้ จึงทำการเสนอแนวคิดจากไอเดียที่ปิ้งขึ้นมาตอนนั้น เราน่าจะไปหามุมถ่ายพระอาทิตย์ซ้อนกับองค์พระ..นะ? จากการประเมินด้วยสายตาพระอาทิยต์อยู่ในระดับใกล้องค์พระพอดี หลังจากเสนอแนวคิดนี้ไป ล้อก็เริ่มหมุนไปตามความคิด องค์พระอยู่ไกล ทางเข้าวัดอยู่หนไหนก็ไม่ปรากฎ แต่ก็ยังพยายามค้นหาต่อไป ซึ่งสุดท้ายก็เจอมุมที่ต้องการพอดี รถจอดไม่รอช้าเลือกเลนส์ทางยาวสูงสุด ที่มีตอนนั้น ได้ 400 mm. ประกอบกล้องเลนส์เสร็จระหว่างจะหยิบขาตั้งกล้อง หันไป ไม่ทันแล้ว!!! พระอาทิตย์เคลื่อนที่ขึ้นเร็วและแสงก็เริ่มแรงมากขึ้นเรื่อยๆ รีบเดินหามุมเล็งให้ดวงอาทิตย์ อยู่ด้านหลัง ก้มเงยๆ ขยับซ้ายนิด ขวาหน่อย ก็ได้พระทิตย์ซ้อนอยู่ด้านหลังองค์พระเหมือนที่ปรากฏในภาพ วัดแสงชดเชยแสงและปรับรับแสงให้น้อยลงจากที่ตาเห็นเล็กน้อย เพื่อจะให้ยังคงพอมองเห็นใบหน้าขององค์พระประธานอยู่บ้าง ขณะที่ถ่ายก็นึกถึงรูปของพระพุทธเจ้าที่ประทานโอวาทปาฎิโมกข์ในวันมาฆบูชา นึกในใจ ภาพนี้ช่างเหมาะเจาะกับวันนี้จริงๆ เป็นภาพอีกมิติหนึ่งที่ประทับใจมาก ไม่คิดว่าทุกอย่างจะมาพอดีกันขนาดนี้ ซึ่งจัวหวะนั้นก็ถ่ายภาพแบบใกล้เคียง กับที่ตาเห็นเก็บมาไว้ด้วย บางคนอาจสงสัยว่าตั้งใจถ่ายเก็บไว้จริงเหรอ? จริงค่ะ เพราะมีหน้าที่ต้องเขียนเรื่อง ที่ผ่านมาจะเจอปัญหา หาภาพเปรียบเทียบไม่ได้ หลังๆ เลยไม่พลาดต้องเก็บภาพลักษณะเปรียบเทียบ แบบนี้เกือบทุกครั้ง(ถ้าไม่ลืม) คิดว่าวันหนึ่งต้องได้ใช้  ซึ่งก็ได้ใช้จริงๆ นอกจากเขียนอธิบายแล้ว ภาพเชิงเปรียบเทียบ ทำให้เห็นบางสิ่งได้ชัดเจน เข้าใจง่าย ภาพนี้เกือบลืมถ่ายเก็บไวเหมือนกัน พระอาทิตย์เลยโพ้นด้านบนขึ้นไปแล้ว นึกขึ้นได้กระโดดขึ้นไปยืนบนเสาเตึ้ยๆ ได้ตำแหน่งดวงอาทิตย์ใกล้เคียงเท่านั้น ไม่ใช่ตำแหน่งเดียวกันเพราะตอนที่ถ่ายครั้งแรก ลืมถ่ายในเสี้ยวนาทีใกล้ๆ กัน เก็บไว้ มัวแต่ตื่นเต้นสนุกกับการเล็งให้ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่ง ที่ต้องการแบบแป๊ะๆ  ผลดีจากการปรับรับแสงให้น้อยลง ทำให้ฟ้าสีเหลืออ่อนๆ กลายเป็นสีส้มเข้ม ความเร็วชัตเตอร์ที่ได้เพิ่มขึ้นมาจากการ ปรับรับแสงให้น้อยลง ช่วยให้การถือกล้องถ่าย โดยไม่ใช้ขาตั้ง มีโอกาสชัดมากขึ้น จริงๆ ภาพนี้ถ้าใช้ขาตั้งกล้องอาจถ่ายไม่ได้ เพราะจังหวะเวลานั้นเป็นเสี้ยวนาทีเลยที่เดียว ไม่ได้มีโอกาสตั้งขารอเหมือนทุกครั้งที่ไปดักรอพระอาทิตย์ขึ้น ดวงอาทิตย์เคลื่อนที่เร็วมาก ถ่ายไปก็ต้องขยับไป ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้ดวงอาทิตย์ในตำแหน่งแบบแป๊ะๆ ตามที่ต้องการ


“เนินทรายกับแสงแดดยามเช้า”  ช่วงเช้าและเย็น เราจะหาตัวของนักถ่ายภาพได้ไม่ยาก โดยเฉพาะมุมที่พระอาทิตย์ ขึ้นสวยๆ ช่างภาพจะไปยืนเบียดกันอยู่บริเวณนั้น สำหรับที่แคบ อาจจะเห็นช่างภาพยืนเรียงกัน แต่สำหรับสถานที่ท่องเที่ยว บางแห่ง สามารถเลือกมุมเลือกแสงจากพื้นที่กว้างใหญ่ ไกลสุดลูกหูลูกตากันเลยทีเดียว ซึ่งบางทีพื้นที่โล่งๆ อย่างทะเลทราย ก็ทำให้หามุมเก็บภาพพระอาทิตย์ขึ้นสวยๆ ยากพอสมควร ยิ่งถ้าไม่ได้เดินสำรวจพื้นที่ก่อน การหามุมแข่งกับช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ กำลังจะขึ้นไม่ใช่เรื่องง่าย  ซึ่งภาพที่เก็บมาฝากนี้ก็มีลักษณะเหมือนที่บอก กว้างใหญ่แล้วก็ไม่เคยสำรวจเนินทรายบริเวณนี้มาก่อน แต่อาศัยประสบการณ์เดิมๆ ที่เคยรอเก็บภาพพระอาทิตย์ขึ้นบนเนินทราย รู้ว่าถ้าเราหาเนินทรายที่รูปทรงสวยๆ ไม่ได้ ก็ถ่ายให้สวยได้ยาก หลังจากเดินพ้นที่พักมาเห็นต้นไม้ ขึ้นอยู่กลางเนินทรายต้นหนึ่ง จึงเกิดปิ้งไอเดีย ใช้ต้นไม้ในการบอกเล่าเรื่องความกว้างใหญ่ของทะเลทราย เลือกใช้เลนส์มุมกว้างในการนำเสนอ เพื่อให้ต้นไม้ดูเล็ก ท่ามกลางทะเลทราย ประจวบกับเป็นเวลาที่สังเกต เห็นว่ามีสมาชิกเป็นคุณหมอท่านหนึ่งในทริป กำลังเดินเก็บภาพ บนเนินใกล้ๆกับมุมที่เล็งกล้องไว้พอดี ในใจก็ลุ้นให้เดินไปเรื่อยๆ ก่อนที่พระอาทิตย์จะแรงจนเก็บภาพไม่ได้ ซึ่งคุณหมอเดินๆ หยุดๆ แล้วก็ไปหยุดในตำแหน่งที่ต้องการพอดี ได้คนตัวเล็กๆ บนเนินทราย โดยมีต้นไม้กลางทะเลทราย บอกเล่าเรื่องราวตามที่คิดไว้ แต่ปัญหาก็คือเนินทรายนี้อยู่ติดกับหมู่บ้านและที่พัก จึงมีรอยล้อรถ รอยเท้ามากมาย แถมถ้าเก็บภาพมุมกว้างก็จะเห็นกอหญ้ารกๆ เพิ่มอีก จึงเลือกปรับการรับแสงให้น้องลง เพื่อซ่อนสิ่งที่ไม่สวยงามบางอย่าง ที่ว่านี้ไว้ในมุมมืด ได้ริ้วเมฆสวยงามและชัดขึ้นด้วย หลังจากนั้นก็เก็บภาพภายใต้แสงเหมือนที่ตาเห็นมาฝากอีกหนึ่งภาพ สังเกตดูว่าพื้นทราย มีริ้วรอยที่ไม่ค่อยเหมาะกับการเก็บภาพมุมกว้างเลย ดังนั้นการปรับรับแสงน้อยลงนี้ จึงเป็นตัวช่วยอย่างหนึ่งที่นำมาฝากมือใหม่ ลองนำไปปรับใช้กันดูนะคะ


เรื่อง/ภาพ : ฤทัยรัตน์  พวงแก้ว

อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หรือสนใจดูเทคนิค How To ที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/tip-trick/leaning-by-doing