Shooting Destination

ท่องเที่ยวเมืองรอง : เที่ยวอ่างทอง เมืองรองที่มีดีกว่าที่คาด

จังหวัดอ่างทอง เป้าหมายของการเที่ยวเมืองรองของเราในทริปนี้ ซึ่งจะว่าไปแล้ว แหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดอ่างทอง มีมากมายหลายที่กันเลยทีเดียว ทั้งสถานที่ที่มีผู้คนรู้จักมากมาย และหลายๆ ที่ก็ไม่มีใครรู้จักมากนัก ซึ่งผมและทีมงาน จะพาไปสัมผัสกันครับ โดยเริ่มตั้งแต่จุดที่อยู่ใกล้ๆ กรุงเทพฯ มากที่สุด ไล่เรียงห่างออกไปเรื่อยๆ และจะเน้นสถานที่ที่อาจจะไม่ได้โด่งดังมากนัก เพื่อเป็นการเปิดโลกของการท่องเที่ยวให้ขยายวงกว้างมากขึ้น ไม่เจาะจงอยู่เฉพาะสถานที่ที่มีคนไปเยี่ยม ไปเยือนกันมากมายแล้วครับ

พาหนะในการเดินทางของผมและทีมงานในทริปนี้ เป็นรถยนต์ Toyota Ativ Sedan 4 ประตู ในรุ่น S+ (S Plus) สีแดงสดใส โดยเป็นรถยนต์ที่ถูกวางตัวไว้ในกลุ่ม Eco Car ที่เน้นในเรื่องของการประหยัดนํ้ามัน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ 16 วาวล์ รหัส 3NR-FE4 Dual VVT-i ความจุ 1.2 ลิตร ให้กำลัง 86 แรงม้า ที่ 6000 รอบต่อนาที และแรงบิดสูงสุด 108 นิวตัน-เมตร ที่ 4000 รอบต่อนาที ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติแบบ CVT-i

ตัวรถได้รับการออกแบบได้สวยงาม แลดูปราดเปรียว วางเส้นสายของตัวรถให้ดูมีความสปอร์ตมากขึ้น รวมทั้งมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยครบครัน โดยเฉพาะถุงลมนิรภัยที่มีให้ถึง 7 ตำแหน่งเลยทีเดียว พวงมาลัยเป็นแบบปรับไฟฟ้า EPS ปรับความหน่วงตามความเร็วของรถ โดยจะรู้สึกหน่วงมือมากขึ้นเมื่อความเร็วรถสูง แต่หมุนได้นุ่มลื่น เมื่อใช้งานในเมืองที่ความเร็วตํ่า ซึ่งก็ช่วยให้ลัดเลาะไปตามตรอกซอกซอย รวมทั้งในยามที่การจราจรหนาแน่นได้อย่างสะดวกดีทีเดียวนอกจากนี้ยังมีปุ่มปรับควบคุมเครื่องเสียง รวมทั้งรับโทรศัพท์จากพวงมาลัยได้อีกด้วย

ส่วนของห้องโดยสารเอง ก็ออกแบบได้หรูหรา แต่ให้ความรู้สึกโล่ง โปร่งสบาย เบาะนั่งเป็นแบบหนังเดินตะเข็บด้วยด้ายสีแดง คอนโซลหน้าวางเส้นสายเป็นรูปตัว S สีดำ Piano Black และเป็นตำแหน่งของอุปกรณ์ใช้งานต่างๆ ทั้งเครื่องเสียง เครื่องปรับอากาศ และอยู่ในตำแหน่งที่ใช้งานได้สะดวกทีเดียวครับ

ช่วงล่างมีความนุ่มหนึบดีทีเดียว โดยส่วนใหญ่แล้ว เส้นทางที่ผมใช้จะเป็นทางราดยางราบเรียบแทบจะทั้งหมด แต่ก็มีบ้างที่เป็นเส้นทางขรุขระจากการผุพัง ซึ่งระบบกันสะเทือนก็ซับเอาความกระด้างต่างๆ ไว้แทบจะทั้งหมด นั่งได้สบายๆ นุ่มก้นดีทีเดียว นอกจากนี้ ตัวรถยังมีการยึดเกาะถนนที่ดีเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นทางตรงๆ หรือตอนเข้าโค้ง หรือแม้กระทั่งหักหลบสิ่งกีดขวางอย่างกระทันหัน ก็ยังคงให้ความมั่นใจเป็นอย่างดีครับ

ระบบเกียร์ของ Toyota Ativ S+ เป็นแบบอัตโนมัติ CVT-i เลือกขับขี่ได้ทั้งที่ตำแหน่ง D ซึ่งเป็นตำแหน่งเกียร์สำหรับการขับขี่ปกติ, S สำหรับการขับขี่ที่ต้องการลดความเร็วรถแบบ Engine Breake และ B สำหรับความต้องการ Engine Breake ที่มากขึ้น สำหรับการขับขี่ลงเนินเขาสูงชันนั่นเอง ซึ่งในกรณีที่ต้องการการเร่งแซงที่รวดเร็วฉับไวขึ้น เกียร์ S ยังให้แรงบิดที่สูงขึ้น ให้รอบเครื่องยนต์ตอบสนองได้รวดเร็วมากขึ้น ช่วยให้การเร่งแซงฉับไวและมั่นใจมากขึ้นด้วยครับ

อาคารพิพิธภัฑณ์และศูนย์ตุ๊กตาชาววัง

จุดหมายแรกของการมาเยือนอ่างทองคือ ศูนย์ตุ๊กตาชาววัง และพิพิธภัณฑ์ศูนย์ตุ๊กตาชาววังบ้านบางเสด็จ ในพระบรมชินยานุเคราะห์ ตัวศูนย์ และพิพิธภัณฑ์ เป็นบ้านเรือนไทย โดดเด่นอยู่ท่ามกลางร่มไม้ใหญ่ และอยู่ในบริเวณวัดท่าสุทธาวาส ริมฝั่งแม่นํ้าเจ้าพระยา ชั้นบนของบ้านเรือนไทยนั้น เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงนิทรรศการของในหลวง รัชกาลที่ 9 และพระบรมวงสานุวงศ์ ส่วนชั้นล่างเป็นศูนย์ตุ๊กตาชาวววัง ซึ่งมีชาวบ้านที่รวมกลุ่มกันในรูปแบบสหกรณ์จัดให้สมาชิกนำงานฝีมือของตัวเองมาวางจำหน่าย รวมทั้งสาธิตการปั้นตุ๊กตาชาววังให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกันอีกด้วย

ตุ๊กตาที่ปั้นขึ้นพิเศษก็มีให้ชมเป็นจำนวนมาก

แต้มแต่งสีสัน

ช่างปั้นตุ๊กตาที่มีความถนัดในแต่ละด้าน

ตุ๊กตาชาววังแบบต่างๆ ที่ประกอบเป็นชุดพร้อมจำหน่าย

โดยศูนย์ตุ๊กตาชาววังนี้ เกิดขึ้นจากการที่สมเด็จพระราชินีในรัชกาลที่ 9 ได้ตามเสด็จในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จเยี่ยมราษฎรบ้านบางเสด็จ และได้ทรงทราบถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านย่านนี้ ที่มักจะเกิดนํ้าท่วมไร่นาอยู่เป็นประจำ ทำให้ได้ผลผลิตไม่เต็มที่ และเดิมนั้น ชาวบ้านย่านนี้มีอาชีพทำอิฐ และไม้ก้านธูป แต่ช่วงหน้าฝนนํ้าท่วมไม่สามารถเผาอิฐ และทำไม้ก้านธูปได้ ทำให้ได้รับความเดือดร้อนในเรื่องการทำมาหากิน แต่ย่านนี้มีความโดดเด่นคือ มีดินเหนียวคุณภาพดี ที่เคยใช้ทำอิฐนั่นเอง ดังนั้น พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านหัตศิลป์ชาววัง มาสอนปั้นตุ๊กตาชาววัง ทำให้ชาวบ้านมีอาชีพเสริม และตุ๊กตาชาววังก็ได้รับการส่งเสริม รวมทั้งนำไปจำหน่ายเป็นของฝาก ของที่ระลึกสร้างชื่อให้เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกนั่นเอง

ออกจากศูนย์ตุ๊กตาชาววัง เราเดินทางต่อไปยัง หมู่บ้านทำกลอง ตำบลเอกราช ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีการสืบทอดการทำกลองมายาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2470 มีความเชี่ยวชาญในการทำกลองชนิดต่างๆ ทั้งกลองแบบไทยๆ ไปจนถึงกลองนานาชาติ ซึ่งพอขับรถไปตามถนนในหมู่บ้าน ก็จะเห็นบ้านทำกลอง เรียงรายอยู่สองข้างทาง ชาวบ้านอัธยาศัยดีมาก ยิ้มแย้มแจ่มใส ตอบข้อซักถามจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดีไม่มีบ่น แม้จะทำงานจนเหงื่อหยดติ๋งๆ ก็ตาม

ไม้ที่นำมาทำกลองส่วนมากจะเป็นไม้จามจุรี เพราะเป็นไม้ที่มีเนื้ออ่อน สามารถขุดเนื้อไม้ได้ง่าย ส่วนหนังที่นำมาทำหนังกลองนั้น มีทั้งหนังวัวและหนังควาย โดยหนังควายที่มีความหนา ส่วนใหญ่จะใช้ทำกล้องใหญ่ๆ ที่ต้องใช้ไม้ตี อย่างกลองเพล เป็นต้น ส่วนหนังวัวที่มีความบางกว่า ก็จะนำมาทำหนังกลองที่ใช้มือตี

ร้านทำกลอง ตั้งอยู่เรียงรายตามเส้นทางในหมู่บ้าน

ช่างกำลังขึ้นรูปกลอง

ผมและทีมงาน เดินเข้าบ้านนั้น ออกบ้านนี้ เพื่อชมและถ่ายภาพการทำกลองขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่การกลึงไม้ขึ้นรูปกลอง, การขัดผิว, การดึงหนัง, การฝังหมุด หรือร้อยสายกลอง ลุงป๊อก ช่างทำกลองรุ่นเก่าแก่ของหมู่บ้านเล่าให้เราฟังว่า หมู่บ้านทำกลองเอกราชนี้ เริ่มมาจากคุณตาของลุง หรือคุณตาเพิ่ม ภู่ประดิษฐ์ ซึ่งเป็นนักดนตรีวงปี่พาทย์มอญ และมีฝีมือทางช่างด้วย ได้ถ่ายทอดวิชาให้ลูกศิษย์ทำกลองไว้ใช้เองในช่วงว่างเว้นฤดูทำนา และถ่ายทอดวิชาต่อๆ กันเรื่อยมา จากรุ่นสู่รุ่น และกระจายกันออกไปหลายๆ สำนักจนถึงปัจจุบัน

ช่างของร้านกลองเฉลิมชัยขัดผิวไม้ให้เรียบ

ลุงป๊อก ช่างทำกลองเก่าแก่ของหมู่บ้าน

นอกจากการเยี่ยมชมกระบวนการผลิตกลองแล้ว ยังสามารถจับจ่ายซื้อหามาเป็นของฝากของที่ระลึกได้ ผมเองก็ไปเหล่ๆ มองกลองยาวจิ๋วของร้านกลองทิวาเอาไว้อยู่เหมือนกัน ที่บอกว่ากลองยาวจิ๋วนั้น ไม่ได้มีขนาดเล็กเหมือนพวงกุญแจอะไรนะครับ ก็เอามาตีเล่นได้นั่นแหละ เพียงแต่มีขนาดที่เล็กกว่ากลองยาวปกติอยู่หลายเท่านั่นแหละครับ ผมเลยเรียกเป็นกลองยาวจิ๋ว ราคากลองก็มีตั้งแต่หลักร้อยขึ้นไปล่ะครับ ตามขนาดและประเภทของกลองครับ ส่วนหลายๆ บ้านก็จะเป็นการทำส่งตามออร์เดอร์ของลูกค้า ซึ่งมีทั้งที่เป็นร้านค้าสั่งไปขายต่อ และวงดนตรีสั่งไปใช้เองครับ

จากหมู่บ้านทำกลอง เราเดินทางเข้าไปยังตัวเมืองอ่างทอง เพื่อแวะไปสถานที่สำคัญอีกที่หนึ่ง นั่นคือ วัดสังกระต่าย ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา สันนิษฐานว่ามีอายุกว่า 400-500 ปี ตามประวัตินั้น เล่ากันต่อๆ มาว่า เดิมทีวัดนี้มีชื่อว่า วัดสามกระต่าย สร้างขึ้นโดย “ทวดติ จันทนเสวี” มารดาของพระยาหัสกาล แต่ภายหลังเรียกเพี้ยนกันมาเป็นวัดสังกระต่าย ก่อนนั้นก็เป็นวัดเหมือนวัดอื่นๆ ทั่วไป มีพระจำพรรษาอยู่ แต่ชาวบ้านเชื่อว่าเกิดจากอาถรรพ์ของเจ้าที่ ที่ดูแลสถานที่อยู่ ทำให้พระที่วัดนี้ทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่ประจำ จนชาวบ้านเสื่อมศรัทธา ประกอบกับมีการสร้างวัดไผ่ล้อมขึ้นมาทำให้ชาวบ้านไปทำบุญที่วัดไผ่ล้อมแทน ทำให้พระที่วัดนี้แยกย้ายกันไปในที่สุด

โบสถ์วัดสังกระต่ายที่ถูกต้นโพธิ์ปกคลุมทั้งสี่ด้าน ซึ่งกำลังได้รับการบูรณะจากกรมศิลปากร

วัดสังกระต่ายเลยถูกปล่อยทิ้งให้กลายเป็นวัดร้างมานับ 100 ปี โบสถ์วัดสังกระต่ายในปัจจุบันนั้น มีต้นโพธิ์ขึ้นปกคลุมอยู่ทั้ง 4 ด้าน ทำให้กำแพงโบสถ์ไม่ผุพังลงมา ตัวโบสถ์แบ่งออกเป็น 3 ห้อง ห้องแรก ประดิษฐานหลวงพ่อแก่น ซึ่งเป็นพระปางนาคปรก ห้องกลาง เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อวันดี ซึ่งเป็นพระประธาน และข้างๆ มีพระพุธรูปสององค์คือหลวงพ่อศรี และหลวงพ่อสุข ส่วนอีกห้องนั้น เป็นห้องโล่งๆ ไม่มีหน้าต่าง ปัจจุบันกรมศิลป์กำลังทำการบูรณะอยู่ แต่ก็สามารถไปเที่ยวชมได้ตามปกติครับ

ออกจากวัดสังกระต่าย เราเดินทางต่อไปยัง วัดขุนอินทประมูล ที่อยู่ในเส้นทางเดียวกันครับ ซึ่งถือเป็นวัดที่มีคนมาไหว้พระ และรู้จักมากกว่าสถานที่อื่นๆ ที่เราไปกันมา ไฮไลท์สำคัญของวัดคือ พระนอน หรือพระพุทธไสยาสตร์องค์ใหญ่ ความยาว 50 เมตร เป็นพระนอนที่มีความยาวเป็นอันดับสอง รองจากพระนอนวัดบางพลีใหญ่กลาง จังหวัดสมุทรปราการ ที่มีความยาว 53 เมตร

พระพุทธไสยยาสตร์ วัดขุนอินทประมูล

วัดขุนอินทประมูล สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย เดิมประดิษฐานอยู่ภายในวิหาร แต่ถูกไฟไหม้เสียหาย ผุพังไปจนเหลือแต่พระนอน ที่อยู่ในสภาพแบบนี้มากว่าร้อยปี ใกล้ๆ กันนั้นมีศาลรูปปั้นของขุนอินทประมูล และโครงกระดูกมนุษย์ ที่ขุดพบภายในวิหารพระนอน ในลักษณะนอนควํ่าหน้าและถูกมัดมือ มัดเท้าไพล่หลัง ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นโครงกระดูกของขุนอินทประมูล ซึ่งเป็นนายอากร และยักยอกเงินหลวงมาสร้างวัดขุนอินทประมูล เมื่อถูกจับได้ จึงถูกลงโทษด้วยการเฆี่ยนจนตายนั่นเอง

ออกจากวัดขุนอินทประมูล เราใช้เส้นทางที่สามารถลัดออกไปยัง วัดไชโยวรวิหาร ได้ ซึ่งเป็นทางราดยางราบเรียบ แต่เป็นสองเลนวิ่งสวนทางกัน รวมทั้งเป็นทางโค้งหลายๆ ช่วงด้วย แต่ไม่เป็นปัญหาสำหรับ Toyota Ativ S+ ที่ตอบสนองได้เป็นอย่างดี ทั้งการเข้าโค้ง การยึดเกาะถนน หรือการหักหลบสิ่งกีดขวางต่างๆ คล่องตัวไม่แพ้การใช้งานในเมืองเลยล่ะครับ ส่วนความประหยัดก็หายห่วงครับ แอบเหล่มองเกจ์นํ้ามัน ก็ยังอยู่เลยครึ่งถัง ทั้งๆ ที่เติมเต็มถังตั้งแต่ออกจากกรุงเทพฯ แล้ว ดูๆ แล้ว ขับจนจบทริปแล้วเติมทีเดียวเลยก็ยังไหวครับ

ทริปต่อไปนั้น เราจะไปเยือนเมืองสิงห์บุรี มีที่ไหนดีๆ บ้างนั้น รอติดตามได้ในฉบับหน้านะครับ ..สวัสดีครับ…

การเดินทาง

จากกรุงเทพฯ ใช้ทางด่วน ต่อเนื่องไปเส้นทางพิเศษอุดรรัถยาไปลงที่เส้นทางหมายเลข 9 ก่อนที่จะเลี้ยวเข้าเส้นทางหมายเลข 347 ขับตรงไปเรื่อยๆ จนผ่านสวนสาธาณะทุ่งมะขามหย่อง จากนั้นให้เลี้ยวซ้ายไปยังเส้นทางหมายเลข 309 ไปยังอำเภอป่าโมก จากสี่แยก ขับมาประมาณ 10 กิโลเมตร มีป้ายบอกทาง สังเกตง่ายครับ จากนั้น ขับรถต่อไปยังตัวอำเภอป่าโมก เมื่อถึงสี่แยก ให้เลี้ยวซ้าย แล้วขับข้ามสะพานไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร ทางแยกเข้าหมู่บ้านอยู่ซ้ายมือ มีซุ้มประตูสังเกตได้ง่าย พร้อมป้ายบอกทางด้วย

ส่วนวัดสังกระต่ายนั้น ใช้เส้นทางหมายเลข 309 เข้ามายังตัวเมืองอ่างทอง เมื่อถึงแยกเลี่ยงเมือง ให้เลี้ยวซ้ายไปยังเส้นทางหมายเลข 368 ขับตามเส้นทางไปเรื่อยๆ จนถึงแยกเรือนจำ ให้เลี้ยวซ้ายไปยังเส้นทางหมายเลข 3064 ประมาณ 1.3 กิโลเมตร ทางเข้าวัดจะอยู่ด้านขวามือ ต้องไปกลับรถมาครับ และมีป้ายบอกทางด้วยเช่นกัน วัดขุนอินทประมูล ใช้เส้นทางหมายเลข 3064 ทางเข้าวัดจะอยู่เยื้องๆ กับปั๊มนํ้ามัน และต้องไปกลับรถมาเช่นเดียวกันครับ

เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ

ขอขอบคุณ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

ขอบคุณครับ

ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่ ?
Line@ : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

ติดตามเรื่องราวการท่องเที่ยววิถีไทยที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/travels/shooting-destination/