Shooting Destination

ท่องเที่ยวเมืองรอง : จุดแวะชมวิวสองแผ่นดิน “ภูแลลาว”

“จุดชมวิวภูแลลาว” เป็นจุดพักระหว่างทางที่อยู่ในความดูแลของ หน่วยพิทักษ์ป่าภูแลลาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่จริม โดยขึ้นตรงกับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อยู่ในพื้นที่ของตำบลบ่อเบี้ย อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ครับ โดยจุดเด่นของภูแลลาวนั้นคือ เป็นจุดที่สามารถชมวิวขุนเขาของทั้งพื้นที่ประเทศไทย ยาวไปจนถึงพื้นที่ของ สปป.ลาวด้วย ซึ่งในช่วงเช้าๆ อาจจะได้เห็นทะเลหมอกห่มคลุมแนวเขาไปสุดลูกหูลูกตาด้วยเช่นกันครับ

การเดินทางไปยังภูแลลาวครั้งนี้ ผมและทีมงานได้รถยนต์ Toyota Vios Super Spec เป็นพาหนะ ซึ่งเป็น Vios โฉมที่ได้รับการปรับแต่งอุปกรณ์ในการใช้งานเพิ่มเติมหลายๆ อย่างด้วยกัน แต่โครงสร้างพื้นฐานของตัวรถ ยังคงเป็นมาตรฐานของโตโยต้าอยู่เช่นเดิม โดยใช้โครงสร้างตัวถังนิรภัย GOA ซึ่งเป็นโครงสร้างที่แข็งแกร่ง และให้ความปลอดภัยมาตฐานระดับโลก พร้อมเสริมคานนิรภัยด้านหน้าและด้านข้าง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการซับแรงกระแทก ซึ่งก็คือตัวถังรถยนต์จะซับแรงกระแทกจากการชน เพื่อลดความสูญเสียของผู้ขับขี่และผู้โดยสารนั่นเองครับ

นอกจากนี้ ยังอัดแน่นไปด้วยระบบความปลอดภัยอีกมากมายทีเดียว อาทิ ดิสก์เบรก 4 ล้อ ช่วยให้หยุดรถได้อย่างมั่นใจมากขึ้น และช่องระบายความร้อนของดิสก์เบรกคู่หน้า ที่จะช่วยป้องกันความร้อนสะสมของดิสก์เบรก ในขณะที่ต้องใช้เบรกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขับลงเขาในเส้นทางยาวๆ ที่ผมต้องเจอะเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ใทริปนี้ครับ

อีกหนึ่งระบบที่มีประโยชน์มากสำหรับการขับขี่เส้นทางบนเขา รวมทั้งเส้นทางต่างจังหวัด ซึ่งผมเองได้สัมผัสอยู่บ้างจากสภาพเส้นทางที่ชำรุดผุพังเป็นกรวดลื่น ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TRC (Traction Control) จะช่วยป้องกันอาการล้อหมุนฟรีที่อาจจะทำให้รถลื่นไถลจนเสียการทรงตัวได้ ซึ่งทำงานผสานกันเป็นอย่างดีกับระบบควบคุมการทรงตัว VSC (Vehicle Stability Control) ซึ่งจะมีไฟโชว์ให้เห็นแว่บนึง และระบบก็จะควบคุมตัวรถให้อยู่ในสภาพการขับขี่ที่ปกติเช่นเดิม ซึ่งระบบความปลอดภัยต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยให้การขับขี่มีความมั่นใจมากขึ้นครับ

ภายในห้องโดยสารของรถยนต์ Toyota Vios Super Spec เป็นอีกหนึ่งจุดที่ได้รับการปรับแต่งเพิ่มเติม อาทิ อัพเกรดจอแสดงผลการทำงานใหม่ ขนาด 7 นิ้ว ควบคุมด้วยระบบสัมผัส พร้อมระบบเชื่อมต่อ T-Link กับแอพลิเคชั่นจากสมาร์ทโฟน เช่น ระบบนำทาง หรือฟังเพลงโปรด ซึ่งรองรับสมาร์ทโฟน ทั้งระบบ Android และ iOS ครับ เบาะหนังทรงสปอร์ต หุ้มโอบกระชับลำตัว นั่งได้อย่างสบาย ถึงแม้ว่าจะต้องเดินทางไกล ก็ยังคงสบายๆ ไม่รู้สึกเมื่อยล้า ส่วนไฟหน้าเป็นแบบโปรเจ็กเตอร์ พร้อม LED Light Guiding และไฟ Daytime Running Light มีไฟตัดหมอกแบบ LED ช่วยเพิ่มทัศนวิสัยในการขับขี่ เมื่อต้องขับผ่านสายหมอกที่มักจะห่มคลุมตามยอดเขาสูงในฤดูหนาวแบบนี้ครับ

นอกจากนี้ ในรุ่น High ซึ่งเป็นรุ่นที่ผมและทีมงานนำมาใช้งานในครั้งนี้ ยังมาพร้อมกล้องหน้ารถที่ติดตั้งมาจากโรงงานเสร็จสรรพ ไม่จำเป็นต้องซื้อหามาเพิ่มเติมแต่อย่างใด ช่วยบันทึกเส้นทางและบรรยากาศต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการขับขี่ได้ครับ ส่วนด้านท้ายรถมีกล้องมองหลังพร้อมสัญญาณเตือน เพื่อความปลอดภัยเมื่อต้องถอยรถ ซึ่งผมได้ประโยชน์เป็นอย่างมาก เมื่อจำเป็นต้องกลับรถ ในเส้นทางที่แคบๆ บนเขาสูงครับ

ก่อนที่จะขึ้นไปยังภูแลลาว ผมเข้าไปเที่ยวยังตัวเมืองอุตรดิตถ์ก่อน จุดหมายแรกที่ไปคือ วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งครับ ถ้ามาจากสาย 11 ก็วิ่งเข้าตัวเมืองตรงไปเรื่อยๆ ผ่านห้างเทสโก้โลตัสไปไม่ไกลมากครับ เป็นวัดที่ค่อนข้างเงียบสงบทีเดียว จุดเด่นของวัดคือ พระบรมธาตุทุ่งยั้ง ที่อยู่เลยวิหารเข้าไปอีกหน่อยครับ

มุมมองระหว่างพระวิหารและพระอโบสถ

ด้านหน้าวิหาร มีคุณป้าที่ดูแลอยู่ กำลังจัดของให้เข้าที่ หลังจากที่ยกเข้าไปเก็บภายในวิหาร เมื่อวานที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะเป็นกิจวัตรของคุณป้าที่ต้องปฏิบัติในทุกๆ วันล่ะครับ “ระวังลื่นนะจ๊ะ” คุณป้าเอ่ยเตือนเรา หลังจากที่เราก้าวเท้าเข้าไปด้านหน้า “เพิ่งจะถูจ๊ะ ยังเปียกๆ อยู่” คุณป้าบอกตามมา “หนู..ช่วยป้ายกตู้สองตู้ตรงนั้นออกมาให้ป้าหน่อยลูก” ผมนี่ยิ้มแก้มปริ ที่คุณป้าเรียกว่า “หนู” นั่นหมายถึงป้าเรียกตามสภาพใบหน้าละอ่อนที่เจอะเจอนั่นเอง เชื่อผมเถอะ..ป้าอยู่วัด ป้าไม่โกหกหรอกกกก ฮ่า!!

“วัดนี้มีประวัติมายาวนานนะ” คุณป้าเริ่มแนะนำ หลังจากที่เราเข้าไปกราบพระประธานในวิหารเสร็จ คุณป้าเล่าให้ฟังว่า วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง เดิมชื่อวัดพระบรมธาตุ สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบรมธาตุประจำเมืองทุ่งยั้ง ซึ่งเป็นเมืองโบราณที่มีมาก่อนสมัยสุโขทัย โดยในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท เจ้าผู้ครองเมืองสุโขทัย ได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาที่เมืองทุ่งยั้ง โดยขุดเป็นถํ้าลงไปในดิน และสร้างเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ครอบไว้ ต่อมามีพ่อค้าไม้ชาวพม่า ชื่อพญาตะก่าได้ทำการบูรณะเพิ่มเติมเป็นแบบทรงพม่า และในปี พ.ศ.2451 ได้เกิดแผ่นดินไหวจนทำให้ยอดเจดีย์หักลงมา หลวงพ่อแก้ว พระสมภารของวัดในขณะนั้น ได้นำทีมปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่จนเป็นรูปทรงที่เห็นในปัจจุบันนี้ สำหรับพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุอยู่ในพระบรมธาตุทุ่งยั้งนั้น เป็นพระอุรังคธาตุ หรืออัฐิส่วนอกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเองครับ

พระบรมธาตุทุ่งยั้ง พระบรมธาตุที่ประดิษฐานพระอุรังคธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

จากวัดพระบรมาตุทุ่งยั้ง เราไปต่อที่วัดพระแท่นศิลาอาสน์ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งวัดสำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์เช่นกัน โดยในวันที่เราไปนั้น ทางวัดกำลังจัดงานประจำปี ซึ่งมีร้านรวงต่างๆ มาออกร้านขายของมากมาย ถือเป็นงานใหญ่ที่มีร้านค้ามากที่สุดที่ผมเคยสัมผัสมาเลยล่ะครับ เราเข้าไปไหว้พระทำบุญ แล้วก็เดินทางต่อไปยังซุ้มประตูเมืองลับแล เพื่อถ่ายภาพรถนั่นเองครับ

ซุ้มประตูเมืองลับแล

ประตูเมืองลับแลเป็นประตูเข้าสู่อำเภอลับแล เมืองที่มีเรื่องราวมายาวนาน เป็นสถาปัตยกรรมแบบผสมผสาน ข้างๆ ซุ้มประตู เป็นรูปปั้นหญิงสาวอุ้มลูก มีสามีนั่งคอตกอยู่ข้างๆ ในมือถือย่ามใส่ขมิ้น และที่บริเวณฐานรูปปั้นมีข้อความ “ขอเพียงสัจจะวาจา” ซึ่งเป็นเรื่องราวของชายหนุ่มชาวทุ่งยั้งคนหนึ่ง ได้หลงเข้าไปที่เมืองลับแล เมืองที่มีแต่ผู้หญิงถือศีล และไม่พูดโกหก

ชายหนุ่มได้ตกหลุมรักหญิงสาวชาวลับแล และแต่งงานอยู่กินจนมีลูกด้วยกัน โดยมีพันธะสัญญาว่าจะไม่พูดโกหก อยู่มาวันหนึ่ง ฝ่ายภรรยาไม่อยู่บ้าน ลูกน้อยเกิดร้องไห้จ้าไม่ยอมหยุด ชายหนุ่มจึงบอกลูกน้อยว่า แม่มาแล้ว เพื่อให้ลูกหยุดร้อง จนภรรยากลับมา แม่ยายซึ่งได้ยินชายหนุ่มบอกลูก จึงเล่าให้ภรรยาฟัง ภรรยาจึงรู้สึกเสียใจที่สามีไม่รักษาสัญญา จึงไล่ให้ออกไปจากหมู่บ้าน

ก่อนไปนั้น ภรรยาได้หยิบเอาขมิ้นใส่ย่ามพร้อมสเบียงจำนวนหนึ่ง และกำชับว่าไม่ให้เปิดย่ามจนกว่าจะถึงบ้าน แต่ระหว่างทางชายหนุ่มรู้สึกหนัก จึงหยิบเอาขมิ้นโยนทิ้งไปเรื่อยๆ จนกลับมาถึงบ้าน ก็ได้หยิบเอาขมิ้นชิ้นสุดท้ายออกมา ปรากฏว่าขมิ้นนั้นได้กลายเป็นทองคำ ทำให้ชายหนุ่มเกิดความเสียดาย จึงกลับไปหาขมิ้นที่โยนทิ้งไป แต่ขมิ้นนั้นได้งอกขึ้นมาเป็นต้นหมดแล้ว และชายหนุ่มก็หาทางเข้าไปเมืองลับแลไม่เจออีกเลย

นั่นเป็นตำนานของเมืองลับแล ที่เล่าถึงแม่หม้ายผู้ที่ยอมเสียสละความสุขส่วนตัว เพื่อรักษาสัจจะวาจาที่ห้ามพูดโกหก ซึ่งเป็นกฎที่เคร่งครัดของเมืองลับแลนั่นเอง ข้างๆ ซุ้มประตูเมืองเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองลับแล ซึ่งรวบรวมเอาประวัติของเมือง วิถีชีวิตของผู้คน และขนบธรรมเนียม ประเพณีต่างๆ เอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้เป็นแหล่งข้อมูลนั่นเองครับ

พิพิธภัณฑ์เมืองลับแล จุดแสดงประวัติของเมืองลับแลและวิถีชีวิตของชาวลับแล

บรรยากาศภายในเรือนไทยที่จัดเป็นพิพิธภัณฑ์

ก่อนจะขึ้นไปยังจุดชมวิวภูแลลาว เราแวะซื้อเสบียงสำหรับมื้อเย็น และมื้อเช้าของวันรุ่งขึ้นด้วย เนื่องจากบนจุดชมวิวภูแลลาวนั้น มีลานกางเต็นท์ พร้อมห้องนํ้าที่เจ้าหน้าที่จัดเตรียมไว้อำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวเท่านั้น ไม่มีร้านค้า ไม่มีร้านอาหาร ดังนั้นผู้ที่จะไปนอนชมดาวที่ภูแลลาว จะต้องเตรียมอาหารไปเองให้พร้อมครับ และที่ลานกางเต๊นท์นั้น มีไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟในช่วงเวลาหกโมงเย็นไปจนถึงประมาณสามทุ่มครึ่งครับ ดังนั้นต้องเตรียมไฟฉายหรืออุปกรณ์ส่องสว่างไปให้พร้อมด้วย นอกเหนือไปจากเต็นท์และเครื่องนอนครับ

บนจุดชมวิวลมพัดโกรกอยู่ค่อนข้างตลอดเวลา ทำให้อากาศเย็นสบายดีทีเดียวครับ ด้านหน้าไกลออกไปสุดลูกหูลูกตาเป็นแนวทิวเขาสลับซับซ้อนเป็นแถวยาว ตํ่าลงไปเป็นหมู่บ้านที่เราเพิ่งจะผ่านก่อนขึ้นมายังจุดชมวิว “แล้วฝั่งลาวคือตรงไหนครับ” ผมสอบถามจากเจ้าหน้าที่ “ตรงโน้นครับ” เจ้าหน้าที่บอกพร้อมชี้มือนำสายตาไป “ตอนนี้อาจจะมองไม่ชัด แต่ตอนคํ่าจะมองเห็นแสงไฟชัดเจน” เจ้าหน้าที่บอกมาอีกครั้ง

ลานกางเต๊นท์บนจุดชมวิวภูแลลาว ที่มีห้องน้ำจัดไว้เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวพร้อมสรรพ

ผมและน้องทีมงาน จัดแจงกางเต็นท์ที่พักนอนสำหรับคืนนี้ ผมมองๆ อุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งกระเป๋าเดินทางของสามคน อุปกรณ์เครื่องใช้อื่นๆ สำหรับถ่ายภาพ อุปกรณ์แคมปิ้ง แผ่นรองนอน ซึ่งทั้งหมดนี้ บรรจุมาในห้องเก็บของท้ายรถ Totoya Vios Super Spec คันเก่งของเรา จุเอาเรื่องทีเดียวครับ แล้วยังมีพื้นที่เหลือสำหรับของฝากในตอนขากลับอีกด้วย

อาหารเย็นของเรา บะหมี่ผัดไข่ใส่หมู แต่อยู่ในบรรยากาศวิวหลักล้านแบบนี้ ก็ช่วยชูรสให้อาหารธรรมดาเพิ่มรสชาดขึ้นมาอีกมากมาย เรานั่งพักหลังอาหารกันอีกเล็กน้อย ก็เตรียมตัวไปอาบนํ้าอาบท่ากัน เพราะเริ่มสัมผัสถึงความเย็นของอากาศมาบ้าง คํ่ากว่านี้ อากาศเย็นกว่านี้ อาจจะพาลหาเรื่องไม่อาบก็เป็นได้ อ้อออ!! อีกอย่าง นํ้าอาบ ไม่มีเครื่องทำนํ้าอุ่นเหมือนรีสอร์ทนะครับ เป็นนํ้าก๊อกเปิดใส่ถังเพียวๆ เย็นเฉียบทีเดียวล่ะ ขอบอกกกก!!

นอกจากจะดูวิวกว้างๆ แล้ว ที่แห่งนี้ยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติให้ได้ทำกิจกรรมด้วยครับ

หลังเสร็จภารกิจส่วนตัวทั้งหมด เราเตรียมอุปกรณ์ถ่ายภาพดวงดาวตามที่ตั้งใจไว้ แต่ลืมเช้กไปว่า วันนี้เป็นวันขึ้น 8 คํ่า พระจันทร์ลอยเด่นมาแต่ไกล ถึงจะมาแค่ครึ่ง แต่ก็ยังสว่างจนข่มแสงดาวไม่ให้โดดเด่นเกินหน้า เราเปิดไฟทิ้งไว้ในเต๊นท์ให้เป็นฉากหน้า ทิ้งให้ดวงดาวใหญ่น้อยเป็นเบื้องหลัง จนถึงเวลาปิดไฟเราก็กลับเข้าเต็นท์ หลับเอาแรงเพื่อมาถ่ายดาวต่อในตอนเช้า ที่พระจันทร์ตกไปแล้ว…

บรรยากาศยามรุ่งอรุณ

บรรยากาศในยามเช้ามืดที่มองเห็นแสงไฟไกลๆ จากชุมชนทางฝั่งพี่น้อง สปป. ลาวด้วยครับ

ตี 5 ผมงัวเงียขึ้นมาเปิดหน้าต่างเต๊นท์ ดวงดาวสุกสกาวเต็มฟ้า ทำเอาผมเด้งออกจากที่นอน พร้อมคว้ากล้องและขาตั้งกล้อง ออกไปหามุมที่เล็งเอาไว้ตั้งแต่เมื่อคืน

..ช้างมา!!! ผมอุทานอยู่ในใจ ในช่วงต้นฤดูล่าช้าง หรือทางช้างเผือก ยังไม่เข้มจนเห็นได้ชัดเจน แต่ก็สามารถบันทึกภาพได้ ผมถ่ายภาพเป็นไฟล์ RAW ไว้ด้วย เพื่อนำมาโปรเซสต่อในภายหลังนั่นเอง และถือเป็นการเอาฤกษ์ เอาชัยในการล่าช้างของปีนี้เลยทีเดียวครับ สำหรับใครที่สนใจถ่ายภาพทางช้างเผือกนั้น ควรจะต้องมีเลนส์มุมกว้างประมาณ 24 มม. หรือกว้างกว่า ขาตั้งกล้องที่แข็งแรง พอที่จะสู้กับลมที่อาจจะพัดโกรกอยู่ตลอด สายลั่นชัตเตอร์หรือรีโมท การตั้งค่าก็ใช้รูรับแสงกว้างสุดของเลนส์ ปรับโฟกัสไปที่ระยะอินฟินิตี้ ตั้งความไวแสงประมาณ ISO1600 ความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 25 หรือ 30 วินาที สำหรับสูตรการคำนวนความเร็วชัตเตอร์ให้สัมพันธ์กับเลนส์ที่ใช้คือ สูตร 400 สำหรับกล้องตัวคูณ และ 600 สำหรับกล้องฟูลเฟรม วิธีคำนวนคือ ใช้เลนส์ระยะเท่าไหร่ ก็เอาตัวเลขทางยาวโฟกัสไปหาร เช่น ใช้กล้องฟูลเฟรม ใช้เลนส์ 24 มม. ก็เอา 600 ตั้ง หารด้วย 24 เท่ากับ 25 ก็ตั้งความเร็วชัตเตอร์ 25 วินาที นั่นเองครับ

เป็นจุดที่สามารถถ่ายภาพดาวและทางช้างเผือกได้ดีทีเดียว

สายๆ เราเก็บสัมภาระต่างๆ ใส่ห้องเก็บของท้ายรถ ก่อนที่จะเดินไปรํ่าลาเจ้าหน้าที่ พร้อมกับหย่อนแบ๊งค์แดงๆ สองสามใบลงในกล่องเพื่อเป็นการบำรุงค่าใช้จ่ายของสถานที่ ซึ่งเราไม่ควรละเลย เพราะนั่นคือความสะดวกของทั้งไฟส่องสว่าง และห้องนํ้าที่สะอาดสะอ้านที่เราจะได้รับในการไปเที่ยวครั้งต่อไปครับ

ขากลับ ผมยังคงใช้การเปลี่ยนเกียร์แบบปรับชิฟท์เอง โดยโยกคันเกียร์จากตำแหน่ง D มาที่ M เพื่อที่จะได้แรงบิด ที่เหมาะสม ซึ่งก็ช่วยให้ผมเร่งเครื่องได้ฉับไวขึ้น อยากจะได้แรงบิดเพิ่มขึ้น เพื่อขึ้นเนินสูง หรือเพื่อต้องการ Engine Brake ก็ปรับชิฟท์ลงมาที่เกียร์ตํ่า หรือดึงคันเกียร์มาที่ตำแหน่งลบนั่นเองครับ การตอบสนองของเกียร์ และการปรับชิฟท์เกียร์เอง ก็ช่วยให้การขับขี่สนุกขึ้นด้วยเช่นกันครับ

ทริปหน้า เราจะเดินทางกลับไปยังจังหวัดพิษณุโลก ไปขึ้นเขาโปกโล้น ชมทะเลหมอกของเมืองนครชุม เมืองที่ตั้งอยุ่กลางขุนเขา ไปชมหมอกไหลเข้ามาคลุมเมือง จะสวยงามแค่ไหนนั้น รอชมในฉบับหน้าครับ ..สวัสดีครับ…


การเดินทางไปยัง “ภูแลลาว”

จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางสายเอเชียมุ่งตรงไปยังสิงห์บุรี เมื่อถึงแยกอินทร์บุรี ให้ขึ้นสะพานเลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 11 ตรงไปยังอำเภอวังทอง จากนั้นเลี้ยวซ้ายตามเส้นทางหมายเลข 12 ไปยังจังหวัดพิษณุโลก และเลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหมายเลข 11 อีกครั้ง และใช้เส้นทางนี้ไปจนถึงตัวเมืองอุตรดิตถ์ครับ จากจังหวัดอุตรดิตถ์ ใช้เส้นทางหมายเลข 1045 ตรงไปยังเขื่อนสิริกิตติ์ แล้วข้ามสะพานมาใช้เส้นทางหมายเลข 1146 จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 1047 วิ่งตรงไปยังอำเภอบ้านโคก เมื่อถึงตัวอำเภอ ให้เลี้ยวซ้ายไปยังเส้นทางหมายเลข 1083 ไปจนถึงบ้านบ่อเบี้ย แล้วเลี้ยวขวาไปยังเส้นทางหมายเลข 1243 ไปจนถึงบ้านห้วยไผ่ ซึ่งจะมีด่านตรวจตรงสามแยก ให้เลี้ยวซ้ายที่สามแยกไปอีกประมาณ 8 กิโลเมตร จุดชมวิวภูแลลาว จะอยู่ด้านซ้ายมือ

เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ

ขอขอบคุณ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

ขอบคุณครับ

ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่ ?
Line@ : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

ติดตามเรื่องราวการท่องเที่ยววิถีไทยที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/travels/shooting-destination/