Shooting Destination

ท่องเที่ยววิถีไทย : ปิ่นสุวรรณเบญจรงค์

คงจะปฏิเสธกันไม่ได้ว่า จุดเด่นของประเทศไทยที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้หลั่งไหลเข้ามาท่องเที่ยว นั่นคือ ธรรมชาติอันสวยงาม และอัธยาศัยที่โอบอ้อมอารี และเป็นมิตรนั่นเอง แต่ผลพลอยได้ส่วนหนึ่งนอกจากการใช้จ่ายค่าอาหารหรือค่าโรงแรมคือ ของที่ระลึกของฝากต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่า ไปเที่ยวประเทศไหนๆ ก็ย่อมต้องการของฝาก หรือของที่ระลึกที่แสดงถึงความเป็นประเทศนั้นๆ นั่นเอง..

ผมกำลังจะพูดถึงของฝากที่โดดเด่น และแสดงถึงความเป็นไทยได้เป็นอย่างดี และมีการจัดสร้าง จัดทำที่ประณีต บรรจง จนได้รับการคัดเลือกให้เป็นของที่ระลึกสำหรับผู้นำประเทศทั่วโลกที่เดินทางเข้ามาประชุม APEC เมื่อปี พ.ศ. 2546 ของที่ระลึกอันลํ้าค่านั้นคือ ชุดเครื่องเบญจรงค์ จากปิ่นสุวรรณเบญจรงค์ นั่นเองครับ

ผมและทีมงานเดินทางไปยังปิ่นสุวรรณเบญจรงค์ ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก โดยพาหนะในการเดินทางครั้งนี้เป็นรถยนต์ Toyota Fortuner รถยนต์เอนกประสงค์ 7 ที่นั่ง มีพละกำลัง 177 แรงม้า จากเครื่องยนต์ 1GD FTV ความจุ 2800 ซีซี ตัวรถมาพร้อมรูปลักษณ์ภายนอกที่ออกแบบได้สวยงาม มีเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ใช้ขับขี่ได้อย่างปลอดภัย และให้ความมั่นใจได้อย่างเต็มเปี่ยม อาทิ ระบบเบรก ABS หรือ Anti-lock Braking System ป้องกันล้อล็อกตายในขณะเบรก ช่วยให้หักหลบสิ่งกีดขวางได้, ระบบ EDB หรือ Electronic Brake force Distribution ซึ่งจะกระจายแรงเบรกไปยังล้อทั้งคู่หน้าและคู่หลัง โดยมีเซ็นเซอร์คำนวณความเร็วของล้อทั้งสี่ และควบคุมแรงดันนํ้ามันเบรกให้เหมาะสมกับความเร็วของล้อ เพื่อให้รถหยุดได้อย่างปลอดภัย โดยไม่มีอาการล้อล็อกหรืออาการท้ายสะบัดด้วยครับ

นอกจากนี้ยังมีระบบ A-TRC หรือ Active Traction Control ที่ทำงาน ประสานกันเป็นอย่างดีกับระบบ VSC หรือ Vehicle Stability Control ในการสั่งให้ปั๊มเบรก ABS ส่งแรงดันนํ้ามันที่เหมาะสมไปยังล้อที่เซ็นเซอร์ตรวจจับได้ว่ามีการหมุนฟรี หรือหมุนเร็วกว่าล้ออื่นๆ พร้อมกับลดรอบเครื่องยนต์ เพื่อให้ตัวรถกลับมาอยู่ในระบบการขับขี่ปกตินั่นเอง และเทคโนโลยีใหม่ที่มีใช้งานในรถยนต์โตโยต้าหลายๆ รุ่น รวมทั้งเพิ่มมาเป็นฟังก์ชั่นมาตรฐานให้กับ Toyota Fortuner คันนี้ด้วย นั่นคือ เทคโนโลยี T-Connect Telematics ซึ่งเป็นระบบที่เชื่อมต่อตัวรถกับผู้ขับขี่ให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อความสนุกในการขับขี่นั่นเอง

โดยคุณสมบัติเด่นของระบบ T-Connect Telematics อาทิ มี Wi-Fi ให้ใช้งานได้อย่างสะดวก ไม่ว่าจะเดินทางไปยังแห่งหนตำบลไหน ผมก็ยังสามารถเชื่อมต่อ Wi-Fi จากตัวรถ เพื่อท่องโลกโซเชียลได้อย่างสบายๆ ฟังก์ชั่นเด่นอย่างหนึ่งที่ผมชอบคือ ให้ Call Center ส่งแผนที่ตำแหน่งที่ผมต้องการเดินทางไปได้ โดยหลังจากที่ลงทะเบียนใช้งานแล้ว ผมเพียงแค่แตะไอคอนของ Call Center ที่เป็นรูปหูฟัง พร้อมไมโครโฟน ระบบจะต่อสายให้อัตโนมัติ ผมเพียงแจ้งตำแหน่งเท่านั้นเอง รอสักพัก ระบบนำทางในรถยนต์ก็จะเริ่มทำงาน สะดวกจริงๆ ไม่ต้องมานั่งเสริชหาให้ยุ่งยากครับ ฟังก์ชั่นเด่นอื่นๆ ของระบบ T-Connect Telematics ยังมีอีก เช่น มีระบบแจ้งเตือนระยะเข้าบำรุงรักษารถตามระยะทาง, ระบบค้นหารถยนต์และระบบตรวจสอบตำแหน่ง หรือระบบแจ้งเตือนขณะจอดรถ และเกิดความผิดปกติขึ้นกับรถ เช่น รถเคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิม ในกรณีที่อาจจะถูกโจรกรรม เป็นต้น ซึ่งเป็นการแจ้งเตือนผ่านสมาร์ทโฟน และ Apple Watch ก็ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ได้เป็นอย่างดีทีเดียวครับ

ปิ่นสุวรรณเบญจรงค์ ถือกำเนิดขึ้นจากคุณตาวิรัตน์ ปิ่นสุวรรณ ชาวสุพรรณ-บุรี เมื่อกว่า 50 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแต่เดิมนั้น คุณตาวิรัตน์ไม่ได้มีอาชีพทำเครื่องเบญ-จรงค์แต่อย่างใด แต่เป็นครูสอนหนังสือ จากนั้นได้แต่งงานกับแม่ค้าสวนมะพร้าวชาวสมุทรสงคราม และลาออกจากอาชีพครูมาเป็นพ่อค้ารับมะพร้าวจากสวนบรรทุกใส่เรือไปขายที่ปากคลองตลาด ภายหลังคุณตาวิรัตน์ได้รู้จักกับพ่อค้าขายของเก่าชาวกรุง ที่มาหาซื้อถ้วยชามสังคโลก และเครื่องเบญจรงค์จากชาวบ้านย่านนั้น และขอให้คุณตาวิรัตน์ช่วยพาไปซื้อ เนื่องจากรู้จักคนเยอะนั่นเอง และนี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณตาวิรัตน์ได้รู้จักกับของเก่า ของโบราณ และเครื่องเบญจรงค์

ในครั้งแรกๆ ที่คุณตาวิรัตน์ได้พาพ่อค้าชาวกรุงไปซื้อหาของเก่า ได้มีคำถามเกิดขึ้นตลอดมาว่า ทำไมของเก่าๆ เหล่านั้น ถึงได้มีราคาแพง และมีคนที่ยอมจ่ายเงินซื้อหาเอาไป ทั้งๆ ที่ส่วนใหญ่แล้ว ก็จะเอาไปใส่ตู้โชว์ไว้เท่านั้นเอง แต่พอได้สัมผัสคลุกคลีอยู่กับของเก่านานๆ เข้า ก็รู้สึกผูกพัน และซึมซับในศิลปะของช่างโบราณตั้งแต่สมัยสุโขทัย, สมัยอยุธยา เรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งบางชิ้นนั้น หายากมากในยุคปัจจุบัน

บรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์เรือนไทยไม้สัก

บรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์เรือนไทยไม้สัก

ชุดจานเบญจรงค์ลายวิชาเยนทร์ ที่ถูกเลือกให้เป็นของที่ระลึกสำหรับผู้นำ 21 ประเทศ ในการประชุมผู้นำเอเปค เมื่อปี พ.ศ. 2546

จากนั้นคุณตาวิรัตน์ก็เริ่มศึกษาเกี่ยวกับประวัติของของเก่า ของโบราณ และศึกษาในเรื่องของสีสันของเครื่องเบญจรงค์ และได้หาซื้อของเก่ามาส่งขายต่อให้กับพ่อค้าชาวกรุงด้วยตัวเอง รวมทั้งบางส่วนก็นำไปขายเองที่สนามหลวง (ในยุคนั้น) ของบางชิ้นที่ไม่สมบูรณ์ ชำรุด แตกหัก คุณตาวิรัตน์ก็จะหาวิธีในการซ่อมแซมให้มีสภาพเหมือนเดิมมากที่สุด และได้ศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องของการผสมสีในการซ่อมแซมรายละเอียดที่หลุดหายไป จนมีความเชี่ยวชาญในการซ่อมแซมแก้ไข และเมื่อมีความชำนาญมากขึ้น รวมกับประสบการณ์ที่สั่งสมมาหลายปี คุณตาวิรัตน์สามารถสร้างสรรค์สินค้าใหม่ที่มีลวดลายและสีสันที่สวยงามเหมือนของเก่าอย่างไม่ผิดเพี้ยน ซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดของ “ปิ่นสุวรรณเบญจรงค์” นั่นเอง และถึงแม้จะมีความชำนาญในระดับหนึ่งแล้ว แต่คุณตาวิรัตน์ยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น ในปี พ.ศ. 2530 คุณตาวิรัตน์มีอายุถึง 50 ปีแล้ว แต่ก็ยังมาเรียนทำเครื่องปั้นดินเผาร่วมกับเด็กๆ มหาวิทยาลัย ที่ศูนย์วิจัยของกรมวิทยาศาสตร์ และนำเอาความรู้ต่างๆ มาพัฒนาสินค้าของตัวเองให้มีคุณภาพมากขึ้น จากนั้นในปี พ.ศ. 2534 ได้รับโล่ของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ประกาศเชิดชูให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมภาคกลางตอนล่าง สาขาศิลปะช่างฝีมือ จังหวัดสมุทรสงคราม แต่ผลงานที่ถือเป็นความภาคภูมิใจของปิ่นสุวรรณเบญจรงค์ คือ ในปี พ.ศ. 2546 ได้รับการคัดเลือกจากรัฐบาลให้เป็นผู้จัดทำชุดอาหารลายวิชา-เยนทร์ เพื่อมอบให้เป็นของที่ระลึกแก่ผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจ ที่มาประชุมเอเปคในประเทศไทย โดยมีสัญลักษณ์ชื่อย่อของผู้นำแต่ละประเทศตรงกลางจานขนาด 21 นิ้ว พร้อมลงสีดอกไม้ตามสีวันเกิดของผู้นำแต่ละประเทศด้วย

ลายเทพพนมที่ได้ต้นแบบมาจากเครื่องเบญจรงค์ยุคอยุธยา

ถ้วยเบญจรงค์ลวดลายต่างๆ

ผลงานของปิ่นสุวรรณยุคใหม่อย่างน้องไม้ ที่ปรับเครื่องเบญจรงค์จากถ้วยชามที่คุ้นเคย ให้เป็นเครื่องประดับอย่างสร้อย, ต่างหู และแหวน สำหรับผู้ที่ชื่นชอบอีกทางหนึ่ง

งานทุกชิ้น เกิดขึ้นจากแรงงานฝีมือที่มีความพิถีพิถันในการแต้มแต่งอย่างประณีตในแต่ละชิ้นที่สร้างสรรค์ขึ้นมาจากประสบการณ์นับสิบๆ ปี

ผมและทีมงาน ถ่ายภาพเครื่องเบญจรงค์กันอยู่พักใหญ่ๆ ก่อนที่จะขอเข้าไปถ่ายภาพภายในห้องช่างเขียนและลงสีในเครื่องเบญจรงค์แต่ละชิ้น โดยเป็นการใช้พู่กันเขียนสีและลวดลายเองทั้งหมด ดังนั้น เครื่องเบญจรงค์แต่ละชิ้น จะใช้เวลาในการทำค่อนข้างนาน และชิ้นงานส่วนใหญ่ก็จะเป็นการสั่งทำทั้งนั้น ซึ่งถ้าเป็นงานที่ต้องการด่วนๆ แบบสามวัน เจ็ดวัน ทางปิ่นสุวรรณเบญจรงค์ไม่สามารถทำให้ได้ครับ เพราะกว่าจะผ่านขั้นตอนการขึ้นรูปและเผาให้เป็นรูปทรงตามที่ต้องการแล้ว ก็จะนำมาวาดลวดลาย จากนั้นก็จะลงสีรองพื้น และลงสีไปตามลวดลายแบบต่างๆ จากนั้นก็จะนำไปผ่านความร้อนเพื่อให้สีติดทนแน่น และส่วนของสีทองที่ดูเหมือนสีเทาๆ ในตอนระบายสี ก็จะกลายเป็นทองโดดเด่นขึ้นมา กว่าจะเสร็จในทุกกระบวนการของแต่ละชิ้นงาน ต้องใช้เวลาพอสมควรทีเดียวละครับ

“ช่างแต่ละคนที่ทำงานที่นี่ ทำมานานแค่ไหนครับ” ผมถามน้องไม้ ลูกชายของพี่นา ผู้ดูแลปิ่นสุวรรณเบญจรงค์ในปัจจุบัน “แต่ละคนทำงานที่นี่เกินสิบปีครับ บางคนก็ยี่สิบปี” ผมมองตามมือที่น้องไม้ชี้ไปที่ช่าง แล้วเดินไปส่องๆ ในขณะที่ช่างกำลังลงสีในช่องลวดลายของถ้วยเบญจรงค์ ซึ่งปลายพู่กันที่ลากผ่านไปในช่องเล็กๆ นั้น ดูแล้วเป็นความชำนาญในระดับโปรเฟสชั่นแนลเลยละครับ เพราะลากตามเส้นพรืดๆ โดยไม่มีผิดพลาดทั้งนํ้าหนัก และขนาดของเส้น ไม่มีลํ้าไปเลอะส่วนอื่นอีกด้วยครับ

เครื่องเบญจรงค์ลํ้าค่าที่เกิดขึ้นจากความสนใจ ตั้งใจ และใส่ใจในการศึกษาค้นคว้าจนมีความเชี่ยวชาญในการผลิตชิ้นงานที่มีความสวยงาม และโดดเด่นเหนือใคร

ภายในบริเวณบ้านปิ่นสุวรรณเบญจรงค์ มีเรือนไทยไม้สักทั้งหลังสวยงามตั้งโดดเด่น ชั้นบนนั้นเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับเก็บของเก่าหลายยุคหลายสมัยไว้มากมาย พร้อมตู้ไม้เก่าๆ แต่ยังคงสภาพดี ตั้งเรียงรายกันอยู่เต็มห้องโถง ภายในตู้เต็มไปด้วยเครื่องเบญจรงค์ เครื่องสังคโลก ตั้งแต่ยุคสุโขทัยและอยุธยา “คุณตาซื้อมา แล้วก็เอามาบูรณะใหม่ครับ คุณตาซื้อไม้มาสร้างบ้านทรงไทย พวกไม้ที่เหลือชิ้นเล็กๆ คุณตาก็จะเอามาซ่อมแซมตู้ไม้พวกนี้” น้องไม้อธิบายให้ฟัง ผมและทีมงานเดินไปส่องๆ ตามตู้ต่างๆ ซึ่งเก็บเครื่องเบญจรงค์ในแต่ละสมัยแยกจากกันชัดเจน ซึ่งหลายๆ ลาย ก็จะเหมือนกับลายของเครื่องเบญจรงค์ในปัจจุบันของปิ่นสุวรรณเบญจรงค์ครับ เพราะได้ต้นแบบมาจากของเก่าเหล่านั้นนั่นเอง ผมเปิดภาพที่ถ่ายเครื่องเบญจรงค์ลายเทพพนม ซึ่งเป็นลวดลายเดิมสมัยอยุธยา เทียบกับของต้นฉบับที่อยู่ในตู้ เหมือนกันอย่างไม่ผิดเพี้ยน จุดที่ผมรู้สึกถึงความแตกต่างกันก็คือ “ความใหม่-เก่า” เท่านั้นเองครับ

ผมและทีมงานกลับมายังรถ หลังจากที่กดปุ่ม Push Start ให้เครื่องยนต์ทำงานแล้ว โดยไม่ได้มีการนัดหมาย ผมและน้องๆ ทีมงาน หยิบสมาร์ทโฟนออกมาเชื่อมต่อ Wi-Fi ของตัวรถ เพื่อท่องโลกอินเตอร์เน็ต ส่วนผมเช็กข้อความใน Line เผื่อจะมีงานอะไร หรือมีใครส่งข้อความมาบ้างหรือเปล่า ซึ่งก็ถือเป็นจุดเด่นใหม่อย่างหนึ่งของ Toyota Fortuner คันนี้ครับ

ผมแตะไอคอนเพื่อติดต่อ Call Center และแจ้งตำแหน่งที่ผมต้องการที่จะเดินทางต่อไป นั่นคือ ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง สมุทรสาคร เอาละ..แผนที่นำทางมาแล้ว ไปกันเลยครับ แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้านะครับ
……………….
..สวัสดีครับ


การเดินทางไป ปิ่นสุวรรณเบญจรงค์

จากกรุงเทพฯ ผมขึ้นทางด่วนไปลงถนนพระราม 2 ก่อนที่จะวิ่งตรงเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 35 มุ่งตรงสู่จังหวัดสมุทรสงคราม จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 325 เข้าไปยังตัวเมืองสมุทรสงครามและวิ่งตามทางหลักไปเรื่อยๆ ก่อนที่จะเลี้ยวซ้ายไปยังอำเภออัมพวา จากแยกอัมพวาให้วิ่งตรงไปอีกเล็กน้อย หลังจากข้ามสะพานข้ามคลองแล้ว ให้เลี้ยวซ้ายไปประมาณ 30 เมตร จะเจอป้ายปิ่นสุวรรณเบญจรงค์ทางขวามือตรงทางเลี้ยวหลังจากข้ามคลองแล้ว สังเกตง่ายๆ คืออยู่ตรงข้ามทางเข้าวัดจุฬามณีนั่นเองครับ

เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ
ขอขอบคุณ… บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด

 


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

? ขอบคุณครับ


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

ติดตามเรื่องราวการท่องเที่ยววิถีไทยที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/travels/shooting-destination/