Shooting Destination

ท่องเที่ยววิถีไทย : ประเพณีโล้ชิงช้า ชาวอาข่า

อาข่า หรือ อีก้อ หนึ่งในชุมชนบนพื้นที่สูงในประเทศไทย ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายเผ่าพันธุ์ และแต่ละเผ่าพันธุ์นั้น ต่างก็มีประเพณีวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อๆ กันมาตั้งแต่ยุคอดีต ที่ยังคงปฏิบัติต่อเนื่องกันอยู่เป็นประจำ สำหรับชาวอาข่าเอง ก็มีประเพณีที่สำคัญนั่นคือ ประเพณีโล้ชิงช้า หรือ แย้ขู่อาเผ่ว ตามภาษาถิ่น ซึ่งถือเป็นประเพณีที่แสดงความเคารพและรำลึกต่อ “เทพธิดาอึ่มซาแยะ” ผู้ที่ประทานความอุดมสมบูรณ์ให้แก่พืชผลที่กำลังงอกงามอยู่ในไร่นานั่นเอง

ชาวอาข่าในบ้านเรา มีอยู่ด้วยกัน 8 กลุ่ม มีภาษาพูดที่แตกต่างกันอยู่บ้าง จากเส้นทางอพยพที่มาจากต่างที่กัน โดยเส้นทางแรกนั้น จะเป็นการอพยพมาจากแคว้นเชียงตุง ประเทศพม่า หรือเมียนมาร์ในปัจจุบัน และเดินทางเข้ามาทางบ้านพญาไพร หรืออำเภอแม่ฟ้าหลวงในปัจจุบัน โดยว่ากันว่า ชาวอาข่าที่อพยพมาเส้นทางนี้ จะเป็นการอพยพหนีภัยทางการเมือง ส่วนอีกเส้นทางหนึ่งนั้น อพยพมาจากประเทศจีนผ่านมาทางแนวตะเข็บชายแดนจีน-พม่า เข้ามาที่อำเภอแม่สายโดยตรง ปัจจุบันชาวอาข่าได้กระจายไปอาศัยอยู่ในเขต 5 จังหวัดภาคเหนือ นั่นคือ เชียงราย, เชียงใหม่, ลำปาง, ตาก, แพร่ และกระจายไปใช้แรงงานตามภูมิภาคอื่นๆ ด้วย

พาหนะในการเดินทางไกลของเราในครั้งนี้เป็นรถยนต์ New Toyota Vios คันเก่ง ก็เต้ยยังพาไปซาปาได้ ผมก็ต้องขับขึ้นดอยแถวๆ แม่สายได้เหมือนกันล่ะน่าาา.. แฮ่!! ผมได้รับรถคันสีนํ้าตาลอ่อน ดูสวยงามคลาสสิกทีเดียว โดยเป็นรุ่น S ซึ่งเป็นรุ่นท๊อปสุด พลังของเครื่องยนต์ได้จากเครื่องรหัส 2NR-FBE Dual VVT-i DOHC ความจุ 1,496 ซีซี พร้อมระบบวาวล์อัจฉริยะ 4 สูบ 16 วาวล์ ให้พละกำลัง 108 แรงม้า ที่ 6000 รอบต่อนาที และแรงบิด 140 นิวตัน/เมตร ที่ 4200 รอบต่อนาที เพียงพอที่จะพาผมและทีมงานไปไต่ยอดดอยสูงได้อย่างสบายๆ ล่ะครับ

New Toyota Vios ใช้โครงสร้างตัวถังนิรภัย GOA ดีไซน์ตัวถังตามหลัก Aerodynamics ด้วยการออกแบบหลังคาแบบ Catamaran ช่วยลดแรงปะทะของลมขณะขับขี่ รวมทั้งออกแบบให้มีฟิน หรือครีบรีดลมที่บริเวณกระจกมองข้างและไฟด้านหลัง ส่งผลให้ตัวรถมีการทรงตัวที่ดี ลดแรงปะทะของลม และช่วยให้ประหยัดนํ้ามันขึ้นด้วย

นอกจากนี้ยังโดดเด่นด้วยเทคโนโลยีความปลอดภัยมากมาย อาทิ กล้องมองหลัง และสัญญาณกะระยะเมื่อถอยหลัง ช่วยให้มั่นใจทุกๆ ครั้ง เมื่อต้องถอยเข้าจอด, ระบบเบรกเป็นแบบดิสก์เบรก 4 ล้อ พร้อมระบบ ABS ป้องกันล้อล็อกในขณะเบรก ช่วยให้สามารถหักหลบสิ่งกีดขวางได้, ระบบ BA (Brake Assist) ที่จะช่วยเพิ่มแรงเบรกเพื่อลดระยะของการเบรก เมื่อต้องเหยียบเบรกอย่างกระทันหัน, ระบบ EBD (Electronic Brake-force Distribution) จะช่วยกระจายแรงเบรกไปที่ล้อทั้ง 4 ล้ออย่างสมดุล เพื่อลดอาการท้ายสะบัดนั่นเอง, ระบบ VSC (Vehicle Stability Control) ช่วยปรับสมดุลของการทรงตัว เมื่อขับขี่บนทางเปียก หรือลื่น รวมทั้งเมื่อขับขี่ในทางโค้งด้วย

New Toyota Vios ใช้ระบบขับเคลื่อนแบบ CVT 7 เกียร์ และมาพร้อมระบบ Sequential Shift ที่สามารถปรับชิฟท์เกียร์เพิ่มสูงขึ้นหรือลดตํ่าลงได้ตามลักษณะการขับขี่ ซึ่งเป็นรูปแบบที่ถูกอกถูกใจผมมากทีเดียว โดยเฉพาะเมื่อต้องปีนป่ายเนินสูงชัน หรือเมื่อต้องขึ้นเขาสูงๆ แบบนี้ โดยหลังจากที่เข้าเกียร์ไปที่ตำแหน่ง D แล้ว ผมดึงคันเกียร์มาทางด้านขวา หรือดึงเข้าหาตัว ซึ่งจะเป็นตำแหน่งของเกียร์ M ที่สามารถปรับชิฟท์ได้ เมื่อต้องขึ้นเนินสูง ผมจะโยกคันเกียร์ลงไปทางด้านหลัง หรือลบ (-) เพื่อลดเกียร์ให้ตํ่าลง และรักษารอบรถให้อยู่ประมาณ 4200 รอบต่อวินาที เพื่อดึงเอาแรงบิดออกมาใช้งานให้เต็มที่นั่นเอง ซึ่งการปรับชิฟท์เกียร์เองเมื่อขึ้นเขาสูง จะช่วยให้มั่นใจในการขับขี่ได้มากขึ้นครับ นอกจากนี้ ยังใช้ประโยชน์ในการขับลงเขาด้วยเช่นกัน โดยการปรับชิฟท์เกียร์ให้ตํ่าลง จะช่วยในเรื่องของ Engine Breake ทำให้เบรกไม่ต้องทำงานหนักจนเกินไปด้วยครับ

การปรับเซ็ตช่วงล่างถือว่าทำได้ดีทีเดียว ให้ความนุ่มหนึบ เมื่อขับขี่ในเส้นทางปกติ และดูดซับการสั่นสะเทือนได้ดี เมื่อต้องวิ่งในถนนที่ขรุขระ รวมทั้งให้ความมั่นใจในการยึดเกาะ เมื่อต้องขับขี่ในทางโค้งด้วย ซึ่งแน่นอนครับ เส้นทางบนภูเขาในภาพเหนือ มีหลายร้อย หลายพันโค้งให้ทดสอบช่วงล่างและการยึดเกาะถนนกันอย่างจุใจทีเดียว

ผมออกจากที่พักในตัวเมืองแม่สายในตอนเช้าตรู่ สายหมอกที่เกิดจากฝนลอยคลุมไปทั่วยอดเขา “เราจะไปลุยดงหมอกตรงโน้นกันนะ” ผมชี้มือบอกทีมงาน ไปยังยอดเขาสูงเบื้องหน้า พร้อมๆ กับสายตาที่เป็นประกายแวววับ นานแค่ไหนแล้ว ที่ไม่ได้สัมผัสบรรยากาศแบบนี้ ด้วยความที่ยังไม่ชินกับเส้นทางในย่านนี้ เมื่อคืน ผมจึงสอบถามเส้นทางจากร้านข้าวที่ไปฝากท้องไว้ กับสองเส้นทางที่ดูจากแผนที่มาก่อนแล้ว “เส้นบ้านผาหมีชันและแคบ ขึ้นทางแม่สายดีกว่า” ครับ ก็ตรงกับความตั้งใจเดิมอยู่แล้ว เพราะดูจากแผนที่ เส้นบ้านผาหมีถึงจะมีระยะทางที่สั้นกว่า แต่ก็ค่อนข้างตัดตรงขึ้นยอดเขา ก็น่าจะชันตามที่ได้รับข้อมูลมา ดังนั้นหลังจากจัดการกับอาหารเช้าแล้ว ผมก็ตรงดิ่งเข้าสู่เส้นทางเป้าหมาย นั่นคือ ถนนหมายเลข 1149 นั่นเอง

บ้านผาฮี้ ตั้งอยู่บนดอยสูง มีวิวทิวมัศน์ที่สวยงามทีเดียว

จุดหมายของผมคือ บ้านผาฮี้ ชุมชนชาวอาข่าบนดอยผาฮี้ ดอยสูงกว่า 1200 เมตรจากระดับนํ้าทะเล เส้นทางจากตัวเมืองแม่สาย ถนนค่อยๆ ยกระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ และม่านหมอกก็หนาขึ้นด้วยเช่นกัน ผมดึงค้นเกียร์มาที่ตำแหน่ง M เพราะสามารถลากเกียร์ตํ่ายาวๆ ทั้งในช่วงลงเนินเขา และเมื่อยามที่ต้องขึ้นเนินชันๆ ด้วย ยังดีที่เส้นทางสาวนใหญ่เป็นถนนลาดยางที่ยังคงสภาพดี ทำให้ไม่เสียกำลังไปกับหลุมบ่อบนถนนเท่าไหร่นัก การตอบสนองของเกียร์ฉบับไวทีเดียวครับ รอบตีสูงขึ้น เมื่อชิฟท์เกียร์ตํ่า ทำให้ดึงกำลังของเครื่องยนต์ออกมาใช้ได้อย่างพอเหมาะ ไม่เสียจังหวะ ทำให้มั่นใจกับการขับขี่ได้เป็นอย่างดี ช่วงทางราบๆ บนยอดเขา เราขับขี่กันไปเรื่อยๆ ไม่รีบร้อน ชมนก ชมไม้ ชมเขาริมทาง เพราะระยะทางไปยังบ้านผาฮี้ไม่ไกลนัก และเราก็เผื่อเวลาไว้ก่อนแล้วด้วยนั่นเอง

การแต่งกายเต็มยศของชาวอาข่าในงานพิธีสำคัญๆ

เด็กๆ ก็มีเคื่องประดับมากมายเช่นกัน

ป้ายโรงเรียนบ้านผาฮี้ชี้ตรงไปข้างหน้า สองเนินสุดท้ายก่อนที่จะถึง ค่อนข้างชันและยาว ผมชิฟท์เกียร์ลงมีที่เกียร์ 1 ก่อนที่จะกดคันเร่งให้รถไต่ขึ้นเนินไปเรื่อยๆ มีช่วงโค้งหักศอก ที่จะต้องหมุนพวงมาลัยให้เร็วขึ้น ซึ่งก็ไม่เสียจังหวะครับ พวงมาลัยพาวเวอร์ไฟฟ้า EPS หุ้มหนังและตกแต่งด้วยแถบเปียโนแบล็ค ตอบสนองการหมุนเลี้ยวให้รถวิ่งไปตามเส้นทางโค้งๆ ได้เป็นอย่างดี จนเรามาจอดหน้าป้ายบ้านผาฮี้ ก่อนที่ชาวบ้านจะโบกให้เข้าไปจอดที่ลานหน้าโรงเรียน

งานประเพณีโล้ชิงช้า จะจัดขึ้นเป็นเวลา 4 วันด้วยกัน ในวันแรกนั้นจะเป็นการเตรียมงาน โดยผู้หญิงจะออกไปตักนํ้าที่บ่อนํ้าศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้าน เพื่อเอามาแช่ข้าวเหนียวสำหรับทำ “ข้าวปุ๊ก” หรือ “ห่อถ่อง” ซึ่งเป็นข้าวเหนียวตำให้ละเอียด ผสมเกลือ และโรยด้วยงาดำ ก่อนที่จะปั้นเป็นก้อนๆ บีบให้แบนแล้วห่อด้วยใบตอง

ชิงช้าแบบ 4 เสา ที่ดูจะเป็นที่ชื่นชอบของผู้มาเยือนได้มากทีเดียว

วันที่สอง เป็นการประชุมแบ่งงานกันทำ และจัดสร้างชิงช้าใหญ่ของหมู่บ้าน ซึ่งมีลักษณะเป็นต้นไม้ใหญ่ 4 ต้น ปักลง 4 ด้านและมัดปลายเข้าด้วยกัน และผูกเชือกเป็นชิงช้า หลังสร้างเสร็จแล้ว “โจ่วมา” หรือผู้นำศาสนาจะเป็นผู้โล้ก่อน เพื่อเปิดพิธีนั่นเอง วันที่สาม ซึ่งถือเป็นวันพิธีใหญ่ ซึ่งเป็นวันที่เรามาเยือนนั่นเอง ในปีนี้ จัดพิเศษขึ้นมาจากปีก่อนๆ โดยเป็นการรวมตัวกันของ 17 หมู่บ้านในย่านใกล้เคียงของอำเภอแม่สาย และมีนายอำเภอแม่สายเดินทางมาเป็นประธานเปิดงานด้วย ส่วนวันที่สี่ก็จะไม่มีพิธีกรรมใดๆ เหมือนกัน แต่ชาวบ้านจะมาโล้ชิงช้า และพอตกคํ่า “โจ่วมา” ก็จะมาเก็บสายชิงช้า ก็ถือเป็นอันเสร็จสิ้นประเพณีนั่นเอง ว่ากันว่าในงานพิธี จะต้องมีฝนตกลงมาทุกๆ ปี หากปีไหนที่จัดงานแล้วไม่มีฝน ปีนั้นจะไม่ค่อยดี แต่ผมว่าปีนี้จะต้องดีมากแน่ๆ เพราะวิ่งหลบฝนกันอยู่หลายรอบทีเดียว..

เครื่องประดับมากน้อยแตกต่างกัน แสดงถึงฐานะที่รํ่ารวยแตกต่างกันด้วย

นักร้อง นักตนตรีและนักเต้นรำ ส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้หญิง

การร้องเพลงและเต้นรำกระทุ้งไม้ไผ่ ถือเป็นการแสดงหลักของชาวอาข่า

ภายหลังจากเสร็จสิ้นพิธีเปิดงาน ชาวอาข่าจาก 17 หมู่บ้าน ก็มาร้องเพลงและเต้นระบำกระทุ้งไม้ไผ่อยู่รายรอบชิงช้า สาวๆ หนุ่มๆ ก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นโล้ชิงช้ากันเป็นที่สนุกสนาน สำหรับชิงช้าที่บ้านผาฮี้นั้น มีอยู่สองแบบคือ แบบกังหันวิดนํ้า และแบบสี่เสา แต่ก็จะมีชิงช้าสี่เสาขนาดเล็กตามบ้าน ให้เด็กๆ ได้โล้กันเองอีกด้วย

บรรยากาศการรวมตัวของชาวอาข่า 17 หมู่บ้านในงานพิธีสำคัญ

สาวๆ ที่แต่งกายเต็มยศจะโล้ชิงช้าแบบกังหันวิดนํ้า ส่วนหนุ่มๆ ที่ชอบความท้าทาย จะไปโล้ชิงช้าแบบสี่เสาที่ให้ความตื่นเต้นมากกว่า

นอกจากชาวบ้านแล้ว ผู้มาเยือนก็สามารถสนุกสนานกับกิจกรรมได้เช่นกันครับ

ผมและทีมงาน ถ่ายภาพพิธีโล้ชิงช้ากันอยู่จนบ่ายคล้อย ก็เดินทางกลับที่พัก และหามุมถ่ายภาพรถกันต่อ ช่วงบ่ายๆ ฝนขาดหายไปแล้ว มีเพียงสายหมอกที่เคลื่อนตัวมาคลุมอยู่เป็นระยะ อากาศเย็นสบาย พาลให้มีความอยากจะได้กาแฟร้อนสักแก้ว ซึ่งที่บ้านผาฮี้นี้ก็มีชื่อเสียงด้านกาแฟอยู่เหมือนกัน เพียงแต่ในวันงานนั้น ไม่เปิดบริการครับ ต้องหาโอกาสมาชิมใหม่ล่ะครับ

ขากลับ ผมใช้เส้นทางบ้านผาหมี ที่ครั้งแรกไม่ได้ขึ้นมา เพราะแม่ค้าข้าวบอกว่าแคบและชันนั่นเอง แต่สำหรับขาลงไม่น่าจะมีปัญหา เอาจริงๆ แล้ว ช่วงแคบมากๆ ก็มีเฉพาะในหมู่บ้านผาหมีเท่านั้นเอง แต่ความชัน ผมว่าไม่ได้แตกต่างจากขามามากนัก โดยเฉพาะตอนขึ้นหมู่บ้านผาฮี้ ซึ่งก็ชันและโค้งเช่นกัน ระดับความชันขนาดนี้ New Toyota Vios เอาอยู่ครับ เพียงแต่ผู้ขับขี่จะต้องใช้ความระมัดระวัง เลือกใช้เกียร์และเบรกให้เหมาะสมเท่านั้นเอง

ทริปหน้าผมและทัมงานจะกลับไปที่ลำปาง เพื่อพาไปชมโรงงานผลิตชามตราไก่ที่เราคุ้นเคยกันมานาน เวลาที่ไปทานก๋วยเตี๋ยวเรือนั่นล่ะครับ จะพาไปชมต้นตำรับชามตราไก่ ซึ่งปัจจุบันเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ ให้เข้าไปชมได้ด้วย

…แล้วพบกันฉบับหน้า สวัสดีครับ…


การเดินทางไป บ้านผาฮี้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

จากตัวเมืองเชียงราย สามารถเดินทางไปบ้านผาฮี้ได้ 3 เส้นทางด้วยกัน โดยออกจากตัวเมืองใช้เส้นทางหมายเลข 1 ตรงไปยังอำเภอแม่สาย เส้นทางแรก ให้เลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 1149 บริเวณบ้านสันกอง ซึ่งเป็นเส้นทางที่มุ่งหน้าไปดอยตุงนั่นแหละครับ เส้นทางที่สอง ใช้เส้นทางไปบ้านผาหมี โดยเลี้ยวซ้ายบริเวณเทศบาลตำบลเวียงพางคำ ทางเลี้ยวจะเลยร้านอาหารจันกะผักมาหน่อย ส่วนเส้นทางที่สาม ซึ่งเป็นเส้นทางที่ผมและทีมงานใช้นั่นแหละครับ จากตัวอำเภอแม่สาย ใช้เส้นทางหมายเลข 1149 เช่นเดียวกัน

เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ
ขอขอบคุณ… บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด

 


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

? ขอบคุณครับ


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

ติดตามเรื่องราวการท่องเที่ยววิถีไทยที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/travels/shooting-destination/