Shooting Destination

ท่องเที่ยววิถีไทย : ประเพณีแห่ช้างบวชนาค ที่หาดเสี้ยว

ในช่วงชีวิตของลูกผู้ชาย อย่างน้อยจะต้องมีหนึ่งครั้งที่บวชทดแทนพระคุณพ่อแม่ที่เลี้ยงดูมา ซึ่งคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ ต่างก็ยึดถือปฏิบัติจนเป็นประเพณีที่ดีงามในทั่วทุกภูมิภาคของเมืองไทย ซึ่งหลายๆ พื้นที่ก็เป็นงานที่จัดกันตามช่วงฤดู จัดกันเฉพาะบ้านที่มีลูกชายและพร้อมที่จะบวช หรือบางสถานที่ก็จัดงานบวชหมู่เป็นครั้งๆ ไป แต่สำหรับชาวไทยพวน แห่งตำบลหาดเสี้ยวนั้น งานบวชถือเป็นประเพณีที่จัดขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกันของชาวชุมชน โดยมีจุดเด่นอยู่ที่ขบวนแห่นาคที่ใช้ช้างเป็นพาหนะ และจัดเป็นประเพณีต่อเนื่องกันมา นับถึงปีนี้ ก็เป็นปีที่ 174 แล้ว นับจากที่ชาวไทยพวนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองไทย

ประเพณีแห่ช้างบวชนาคเดิมนั้น จัดในวันแรม 3 คํ่า เดือน 4 เป็นวันแห่นาค และวันแรม 4 คํ่า เดือน 4 เป็นวันบวช ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 หน่วยงานราชการ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสรับสนุนการจัดงานงานแห่ช้างบวชนาคมากขึ้น และเพื่อความสะดวกในการจัดงาน รวมทั้งการประชาสัมพันธ์งานในครั้งต่อๆ ไปด้วย จึงมีมติให้กำหนดวันจัดงานเป็นวันที่ 7 และ 8 เมษายนของทุกๆ ปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2524 เป็นต้นมาครับ

ผมและทีมงานเดินทางไปถ่ายภาพงานแห่ช้างบวชนาคในปีนี้ด้วยรถยนต์ Toyota CHR 1.8 HV Hi ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มใหม่ของรถ Crossover ที่มาพร้อมความสะดวกสบาย และฟังก์ชั่นความปลอดภัยที่ให้มาแบบจัดเต็มกันเลยทีเดียว โดยชื่อรุ่น CHR นั้นมาจากคำว่า Coupe High Rider โครงสร้างตัวรถออกแบบด้วยแนวคิด Ever Better Car หรือการสรรค์สร้างยนตกรรมที่ดียิ่งกว่า การดีไซน์ได้แนวคิด Diamond Inspired Design จากเหลี่ยมทรงของเพชร ทำให้รูปทรงของ CHR ดูสวยงาม โฉบเฉี่ยวด้วยรูปลักษณ์แบบสปอร์ตคูเป้อย่างลงตัว

Toyota CHR 1.8 HV Hi ใช้เครื่องยนต์ Hybrid รหัส 2ZR-FXE 4 สูบ แถวเรียง DOCH 16 วาวล์ Dual VVT-i ความจุ 1798 ซีซี ผสานการทำงานระหว่างเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้า ให้กำลังสูงสุด 122 แรงม้า ตอบสนองการขับขี่ได้เป็นอย่างดีทีเดียว นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีที่โดดเด่น 4 อย่าง คือ เทคโนโลยี Hybrid ใหม่ ที่ผสานพลังระหว่างเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้า เพื่อให้ประสิทธิภาพในการขับขี่ที่สูงสุด

เทคโนโลยี TNGA หรือ Toyota Global New Architecture สำหรับการออกแบบโครงสร้างตัวถังที่แข็งแกร่ง ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากโครงสร้างของมนุษย์ที่มีกระดูกสันหลังและกล้ามเนื้อ เพื่อให้ตอบสนองการขับขี่ที่ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีจุดศูนย์ถ่วงตํ่า ทำให้ลดอาการโคลงเวลาเข้าโค้งได้อย่างดีเยี่ยม เทคโนโลยี Toyota Safety Sense ที่เป็นที่สุดแห่งเทคโนโลยีความปลอดภัย เพราะได้รวมเอาระบบความปลอดภัยต่างๆ มาไว้ด้วยกัน อาทิ ระบบเตือนเมื่อรถออกนอกเลน พร้อมดึงพวงมาลัยกลับอัตโนมัติ ระบบเตือนก่อนการชน ระบบปรับลดไฟสูงอัตโนมัติ และระบบปรับตั้งความเร็วอัตโนมัติ พร้อมเรดาร์ตรวจจับระยะห่างระหว่างรถคันหน้า เป็นต้น

และสุดท้ายเทคโนโลยี T-Connect Telematics ซึ่งเป็นระบบที่เชื่อมต่อตัวรถกับผู้ขับขี่ให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อความสนุกในการขับขี่นั่นเอง โดยคุณสมบัติเด่นของระบบ T-Connect Telematics อาทิ มี Wi-Fi ให้ใช้งานได้อย่างสะดวก มีระบบแจ้งเตือนระยะเข้าบำรุงรักษารถ ระบบค้นหารถยนต์ ระบบตรวจสอบตำแหน่ง ในกรณีถูกโจรกรรม หรือระบบแจ้งเตือนขณะจอดรถ และเกิดความผิดปกติขึ้นกับรถ เป็นต้นครับ

ผมได้รับรถสีแดง คาดหลังคาสีดำ ดูสวยงามมีเสน่ห์ และรู้สึกถึงความเป็นสปอร์ตมากขึ้น เบาะนั่งด้านหน้าหุ้มโอบกระชับกับลำตัวดีทีเดียว ผมลองเข้าไปนั่งที่เบาะหลังวางตัวแบบสบายๆ ก็ยังคงมีพื้นที่เหลือๆ ทั้งพื้นที่เหนือหัว และพื้นที่ระหว่างเข่ากับเบาะที่นั่งคนขับครับ สำหรับบานประตูเบาะหลังที่ออกแบบให้มีมือจับเปิดประตูอยู่ด้านบนนั้น ผมกลับมองว่า มันช่วยให้ผู้โดยสารตอนหลังมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น และไม่ได้รู้สึกอึดอัดเท่าไหร่นักครับ

ระหว่างเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังหาดเสี้ยว สุโขทัย ผมเองชอบฟังก์ชั่นในเรื่องของการขับขี่ และความปลอดภัยต่างๆ ที่มีให้มามากมายครับ เพราะแต่ละอย่างนั้น สามารถใช้งานในการขับขี่ได้จริง อย่างแรกเลยคือ Break Hold สำหรับการช่วยเบรกเมื่อเจอรถติด โดยไม่จำเป็นต้องเหยียบเบรกค้างไว้ และเมื่อต้องการออกตัว ก็สามารถเหยียบคันเร่งออกตัวไปได้เลยครับ และเมื่อต้องการเบรก หรือหยุดรถชั่วคราวอีกครั้ง ระบบก็จะช่วยหน่วงแรงเบรกให้ด้วย

จอแสดงผล MID ขนาด 4.1 นิ้ว ที่สามารถแสดงข้อมูลการขับขี่ รวมทั้งตั้งค่าการทำงานหลายๆ อย่าง ในการขับขี่และแสดงผลการทำงานของเครื่องยนต์ ซึ่งผมเองตั้งหน้าจอสลับไปมาระหว่างการแสดงผลการทำงานของระบบ Hybrid และการแสดงผลความเร็วของรถ ซึ่งมีข้อมูลของระยะทางที่สามารถขับขี่ได้จากปริมาณของนํ้ามันในถัง โดยเมื่อใช้ความเร็วตํ่า อย่างการขับขี่ในเมืองที่มีรถหนาแน่น การขับเคลื่อนจะมาจากมอเตอร์ไฟฟ้า แต่เมื่อต้องการเร่งแซง ทั้งมอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องยนต์จะทำงานผสานกัน ส่งกำลังไปยังล้อช่วยให้การเร่งแซงตอบสนองได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ส่วนเมื่อขับขี่นอกเมืองที่ความเร็วคงที่ จะใช้พลังงานจากเครื่องยนต์ และชาร์จไฟไปยังแบตเตอรี่ Hybrid ด้วยพร้อมๆ กันครับ

และที่ชื่นชอบสุด คือระบบความปลอดภัย ทั้งเซ็นเซอร์รอบคันที่แจ้งเตือนมุมอับต่างๆ ทั้งซ้าย หรือขวา รวมทั้งระบบ Blind Spot Monitor ซึ่งจะแจ้งเตือนที่กระจกมองข้าง เมื่อมีรถตามมาข้างหลัง ในมุมมองที่ไม่เห็นจากกระจกมองข้าง ซึ่งช่วยได้เป็นอย่างดีเมื่อต้องเปลี่ยนเลนนั่นเอง หรือเมื่อรถมีการคร่อมเลนโดยไม่ได้เปิดไฟเลี้ยว ระบบเตือนเมื่อออกนอกเลนจะแจ้งเตือน พร้อมดึงพวงมาลัยให้หมุนกลับมาเลนเดิมแบบเบาๆ ด้วย

สำหรับการขับขี่ทางไกลที่ใช้ความเร็วได้ค่อนข้างสม่ำเสมอ ผมมักจะใช้ระบบ Cruise Control ช่วย เพื่อจะได้ไม่ต้องเหยียบคันเร่งอยู่ตลอดเวลา และโดดเด่นมากขึ้นไปกับ Dynamic Radar Cruise Control ที่ช่วยลดความเร็วเมื่อตรวจจับได้ว่ามีรถคันหน้าอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้จนเกินไป เพื่อให้รถอยู่ห่างจากคันหน้าในระยะที่ปลอดภัยโดยอัตโนมัติ

สำหรับช่วงล่างนั้น วิศวกรของ CHR ปรับเซ็ตช่วงล่างมาได้อย่างดีเยี่ยมทีเดียว อย่างแรกที่สัมผัสได้คือ ให้ความนุ่มนวลดีมาก แต่ให้ไม่มีอาการโยก ย้วย เมื่อต้องเข้าโค้ง ให้ความมั่นใจดีครับ การตอบสนองของพวงมาลัยก็ดีเยี่ยมเช่นกัน ตอบสนองได้ฉับไวและแม่นยำ ทำให้ผมเพลิดเพลินกับการเล่นสนุกกับโค้งต่างๆ อยู่พอสมควรทีเดียว ถึงแม้จะไม่ได้มีทางโค้งมากมายเหมือนกับภาคเหนือตอนบนก็ตามครับ

ผมเดินทางถึงตำบลหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย ในช่วงคํ่าๆ ของวันที่ 6 เมษายน ซึ่งถือเป็นวันแรกของงาน ซึ่งชาวไทยพวนเรียกว่า “วันบอกบุญ” เจ้าภาพก็จะไปบอกญาติสนิทมิตรสหายให้มาช่วยงานบุญ ตกเย็นก็จะมีการเลี้ยงเฉลิมฉลองให้กับนาค โดยประเพณีแห่ช้างบวชนาคนั้น จะจัดขึ้นเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มที่พอจะมีกำลังทรัพย์อยู่บ้าง ก็จะจัดงานกันเองที่บ้านของตัวเอง กับกลุ่มนาคสามัคคี ที่จะรวมตัวกันจัดงานที่วัด ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มากทีเดียว

ในวันที่สองของงาน ซึ่งถือเป็นวันสำคัญ จะเป็นการโกนผมนาค ซึ่งจะเริ่มกันตั้งแต่เช้าตรู่ ผมกับทีมงานเดินทางไปเก็บภาพตามบ้านงานกันก่อน ซึ่งมีอยู่สองสามบ้านที่อยู่ใกล้ๆ กับวัด ก่อนที่จะเข้าไปเก็บภาพกลุ่มนาคสามัคคีที่กำลังโกนผมอยู่ในวัดด้วยเช่นกัน โดยในปีนี้ มีนาคที่เข้าพรรพชาอุปสมบททั้งหมด 19 ราย “แล้วช้างที่ใช้แห่ละครับ เค้าเขียนสี แต่งตัวกันอยู่ที่ไหน” ผมถามคนในงาน “โน่นครับ อยู่ตรงป่าช้าโน่น” คำตอบ พร้อมชี้มือเป็นการบอกทาง แฮ่..นึกไม่ออกหรอกครับ เพราะเพิ่งจะมางานที่นี่เป็นครั้งแรก สอบถามเส้นทางอีกหน่อยก็ถึงบางอ้อครับ อยู่ถัดจากโรงแรมที่พักของผมไปหน่อยเดียวเอง

การเขียนสี และคำต่างๆ ก็แล้วแต่ช่างวาดแต่ละคนครับ แต่ต้องมีชื่อของนาคอยู่ที่ตัวช้างด้วย และจะมีเบอร์ของช้างแต่ละเชือกตามเลขลำดับของนาคด้วยเช่นกัน สีที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นสีนํ้าอครีลิค สีสันสดใส ซึ่งหลังจากที่เขียนเสร็จแล้ว ก็จะเป็นการแต่งองค์ทรงเครื่องให้สวยงามน่าชมละครับ

ช่างกำลังระบายสีและแต่งตัวช้างที่ใช้แห่

หลังจากที่แต่งช้างกันเรียบร้อยแล้ว ช้างแต่ละเชือกก็จะเดินไปรับนาคตามบ้านงาน และเข้ามารอที่วัด สำหรับนาคสามัคคี หลังจากที่นาคโกนผมเรียบร้อยแล้ว ก็จะแต่งตัวกันตามธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมาตั้งแต่โบราณ โดยมีผ้านุ่ง ผ้าม่วงที่มีสีสันสดใส ประดับประดาด้วยเครื่องประดับต่างๆ เช่น เข็มขัดนาค หรือเพชรพลอย เป็นต้น มีการแต่งหน้า ทาปากสวยงาม โดยมีนัยยะคือ เป็นการลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งสวยงามต่างๆ นอกกาย ก่อนที่จะสละทั้งหมด เพื่อมุ่งไปหาอริยทรัพย์ หรือทรัพย์จากภายใน ส่วนแว่นดำนั้น บ่งบอกถึงการเป็นคนที่มืดบอด เพราะยังไม่ได้ศึกษาธรรมวินัยนั่นเอง

ในช่วงเช้าของวันงาน จะเป็นการโกนผมนาค

การแต่งตัว แต่งหน้า และสวมแว่นตาดำ ล้วนมีนัยยะข้อคิดแฝงอยู่

นาคสักการะศาลปู่เกื้อ หรือศาลเจ้าวัด ก่อนที่จะเข้าไปทำพิธีต่อในพระอุโบสถ

หลังจากที่แต่งตัวเสร็จ นาคทั้งหมดจะต้องไปกล่าวคำสักการะที่ศาลปู่เกื้อ หรือศาลเจ้าวัด ก่อนที่จะเข้าไปทำพิธีต่อในพระอุโบสถ และหลังจากนั้นก็จะขึ้นหลังช้างอีกครั้ง ก่อนที่จะแห่รอบเมือง และไปข้ามแม่นํ้ายมที่หลังตลาด ซึ่งถือเป็นไฮไลท์ของงานในครั้งนี้ และเป็นไฮไลท์ที่ดึงดูดช่างภาพจากทั่วสารทิศมาเก็บภาพงานประเพณีที่สำคัญในครั้งนี้

ผมและทีมงาน เดินมาดูจุดที่ช้างจะข้ามแม่นํ้ายม พร้อมเล็งไว้ว่าจะถ่ายภาพมุมไหนดี เพราะยังไม่แน่ใจกับมวลชนที่มารอดูไฮท์ไลท์ของประเพณีเก่าแก่นี้ ว่าจะมากมายขนาดไหน จะบังมุมที่เล็งไว้หรือไม่ เพราะถ้าจะให้ขยับเคลื่อนย้ายก็คงจะยาก และเสียเวลาเหมือนกัน

“ฝั่งโน้นมีคนไปรอถ่ายภาพด้วย” น้องทีมงานชี้ให้ดูช่างภาพ 5-6 ที่ไปรออยู่ริมนํ้าฝั่งตรงข้ามนั้นแล้ว “ไม่รู้ว่ามุมจะเป็นแบบไหนบ้าง แต่คงจะไม่ต้องใช้เลนส์ยาวมากนัก” ผมรำพึงอยู่ในใจ ก่อนจะบอกทีมงาน “ไปรอฝั่งโน้นดีกว่า คนน้อย น่าจะเลือกมุมได้ไม่ยาก แล้วอยู่ไม่ไกลด้วย”

ฝนที่ตกลงมา ทำเอาชุ่มฉ่ำไปตามๆ กัน

ไฮไลท์ของงาน ขบวนช้างข้ามแม่นํ้ายม

ถ้านาคมีบ้านอยู่อีกฝั่งนํ้า ช้างจะเดินข้ามไปส่งที่บ้านนาคเลย แต่ถ้าไม่มี ช้างก็จะเดินกลับไปส่งยังฝั่งตลาดเช่นเดิม

แต่หลังจากที่ข้ามไปแล้ว มุมมองที่ดีที่สุดคือ ช่วงที่ช้างเดินแถวลงมายังแม่นํ้ายมครับ แต่มุมมองระหว่างที่ช้างข้ามนํ้า แล้วมีฉากหลังเป็นภูเขานั้น จะอยู่ฝั่งตลาดนั่นแหละครับ และต้องใช้เลนส์ช่วงเทเลโฟโต้ เพื่อดึงฉากหลังที่เป็นภูเขา ให้ใกล้ชิดเข้ามาอีกหน่อย “ไม่เป็นไร ปีหน้าเอาใหม่” ผมได้แต่ปลอบตัวเองอยู่ในใจ…

ปีนี้ ระดับนํ้าในแม่นํ้ายมค่อนข้างสูง ขนาดช้างตัวใหญ่ๆ ยังจมหายไปตั้งครึ่งค่อนลำตัว ไม่รู้ว่านาคที่นั่งอยู่บนคอช้างจะรู้สึกหวิวๆ กับระดับนํ้าหรือเปล่านะครับ ช้างบางเชือกก็กล้าๆ กลัวๆ ไม่เดินลุยลงมาในแม่นํ้า ทำให้ขบวนช้างรอบแรกไม่สวยงามเท่าไหร่นัก ช่วงเดินกลับค่อยปรับขบวนให้เดินเรียงแถวกันได้มากขึ้น หลังจากที่ขึ้นจากแม่นํ้ายม ช้างแต่ละเชือกก็จะเดินกลับไปส่งนาคตามจุดที่รับมา ในปีนี้ มีนาคบางรายมาจากฝั่งนํ้ายม ด้านที่ผมมารอถ่ายภาพ ช้างก็เดินไปส่งนาคที่บ้าน แล้วก็เดินข้ามแม่นํ้ากลับมาที่ฝั่งตลาดตามเดิมครับ

ผมและทีมงานเดินทางกลับมาพักผ่อนยังที่พัก สำหรับภารกิจหลักๆ ในการเก็บภาพงานถือว่าเพียงพอแล้ว ส่วนกิจกรรมของงาน ยังคงมีพิธีบรรพชาอุปสมบทในเช้าวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นกิจกรรมภายในพระอุโบสถเป็นหลัก หลังจากที่สตาร์ทรถยนต์ ผมจัดการเชื่อมต่อ Wi-Fi ในรถที่เป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยี Toyota T-Connect Telematics ซึ่งสามารถปล่อยสัญญาณ Wi-Fi ให้ใช้งานได้ทุกที่ เพื่อส่งภาพไปอวดน้องทีมงานที่ไม่ได้มาด้วย ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า Toyota CHR 1.8 HV Hi คันนี้ ตอบสนองการใช้งานได้เป็นอย่างดีครับ ทั้งในเรื่องของฟิลลิ่งการขับขี่ เรื่องของช่วงล่างที่นุ่มหนึบ และเกาะถนนได้เป็นอย่างดี เรื่องของระบบความปลอดภัยต่างๆ ที่มีมาให้เต็มพิกัด และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ ครบครันครับ

จุดหมายต่อไปของผมและทีมงาน ยังคงอยู่ภายในพื้นที่ของอำเภอศรีสัชนาลัย แต่เป็นที่บ้านนาต้นจั่น ที่มีชื่อเสียงในการทำผ้าหมักโคลน สินค้า OTOP ที่สร้างชื่อให้กับชาวบ้านนาต้นจั่น และยังคงมีเรื่องราวของ Toyota CHR 1.8 HV Hi คันนี้มาเล่าให้ฟังอีกมากมายครับ พบกันฉบับหน้านะครับ
………………..
..สวัสดีครับ


การเดินทางไปตำบลหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จ. สุโขทัย

จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหมายเลข 32 ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปอ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท เข้าสู่จังหวัดนครสวรรค์ จากนั้นใช้เส้นทางหมายเลข 117 ตรงเข้าสู่จังหวัดพิษณุโลก และเลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 12 ไปยังจังหวัดสุโขทัย ช่วงจังหวัดสุโขทัย ให้ใช้ทางเลี่ยงเมืองหมายเลข 125 จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 101 ก่อนที่จะขึ้นสะพานข้ามแม่นํ้ายม ไปยังตำบลหาดเสี้ยว จากแยกนี้ถึงวัดหาดเสี้ยวมีระยะทางประมาณ 59 กิโลเมตร

เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ
ขอขอบคุณ… บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด

 


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

? ขอบคุณครับ


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

ติดตามเรื่องราวการท่องเที่ยววิถีไทยที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/travels/shooting-destination/