Shooting Destination

ท่องเที่ยววิถีไทย : จากต้นตำรับ “ชามตราไก่” สู่ธนบดีเซรามิค

ลำปาง เมืองรองของการท่องเที่ยวที่ผมเองก็มักจะผ่านทางอยู่บ่อยครั้ง เมื่อจะต้องเดินทางไปเชียงใหม่ จุดเด่นอย่างหนึ่งที่สะดุดตาผม เวลาผ่านจังหวัดลำปางคือ ?? …. ฮ่าๆ!! ต้องทายกันว่ารถม้าแน่ๆ ..ผิดครับ ไม่ใช่รถม้า… แต่เป็นร้านจำหน่ายเซรามิค ที่มีอยู่ริมทางมากมายทีเดียว จนต้องเสริชหาข้อมูลดู จึงได้รับรู้ว่า ลำปางคือต้นกำเนิดของชามตราไก่ ที่ผมเองก็คุ้นเคยมานาน เวลาไปทานก๋วยเตี๋ยวเรือนั่นเองงงง

ต้นฉบับ หรือผู้ก่อตั้ง “ชามตราไก่” นั้น เดินทางข้ามนํ้าข้ามทะเลมาจากเมืองจีน เมื่อกว่าหกสิบปีมาแล้ว โดย นายอี้ หรืออาปาอี้ (ซิมหยู) แซ่ฉิน ชาวมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งอพยพหนีความยากจนจากสงครามโลกครั้งที่ 1 เข้ามา โดยครั้งแรกนั้น ไปอยู่ที่เวียดนามก่อน

หลังจากนั้นประมาณปี 2490 ก็ได้เข้าเดินทางมาอยู่ที่ธนบุรี อยู่ได้ 3 ปีก็ย้ายตามเพื่อนขึ้นมาทำสวนผักอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ และบังเอิญได้เห็นหินลับมีดที่ชาวบ้านเอามาขาย ซึ่งจากประสบการณ์ที่ทำเซรามิคอยู่ที่กวางตุ้งอยู่แล้ว ก็รู้ได้ว่าหินลับมีดนั้นคือแร่ดินขาว จึงได้สอบถามถึงที่มา และได้ปั่นจักรยานไปถึงที่มาของแร่ดินขาว ที่บ้านปางค่า อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง

จากนั้นก็ได้จ้างเกวียนบรรทุกแร่ดินขาวออกมา และเอาขึ้นรถไฟกลับมาทดลองปั้นถ้วยชาม ซึ่งก็พบว่าเป็นเนื้อดินขาวคุณภาพดี และเผาที่อุณหภูมิไม่สูงมากนัก ซึ่งเหมาะสำหรับการปั้นถ้วยชาม หลังจากนั้นก็ได้ชักชวนเพื่อนก่อตั้งโรงงานผลิตถ้วยชามขึ้นเป็นแห่งแรกในจังหวัดลำปาง เมื่อปี 2500 และใช้ชื่อว่า โรงงานร่วมสามัคคี

พาหนะที่พาผมและทีมงานเดินทางไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ชามตราไก่ธนบดี ยังคงเป็น New Toyota Vios สีนํ้าตาลอ่อนคันเก่งคันเดิม ซึ่งหลังจากที่ลงจากดอยสูง ดอยผาฮี้ ที่ผมและทีมงานเดินทางไปชมประเพณีโล้ชิงช้าของชาวอาข่ามาก่อนหน้านี้แล้ว

ขากลับมายังลำปาง ผมเลือกเส้นทางลงจากดอยผาฮี้ โดยผ่านมาทางดอยตุง และลงมาทางพื้นราบด้านล่าง ซึ่งก็คือ ถนนหมายเลข 1 นั่นเอง ในการขับขี่ในช่วงบนเขานี้ ผมยังคงปรับเปลี่ยนระบบขับเคลื่อน หรือใช้เกียร์แบบปรับชิฟท์ด้วยตัวเอง เพราะนอกจากจะเพิ่มแรงบิดได้ดั่งใจแล้ว ยังช่วยลดความเร็วของรถในขณะลงเขา ด้วย Engine Breake ซึ่งเป็นการผ่อนแรงของการใช้เบรกเพื่อลดความเร็วหรือหยุดรถ ทำให้เบรกไม่เกิดความร้อนจนเกินไปอีกด้วยครับ

New Toyota Vios ใช้โครงสร้างตัวถังนิรภัย GOA ซึ่งเป็นโครงสร้างที่แข็งแกร่ง และให้ความปลอดภัยมาตฐานระดับโลก พร้อมเสริมคานนิรภัยด้านหน้าและด้านข้าง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการซับแรงกระแทก ซึ่งก็คือตัวถังรถยนต์จะซับแรงกระแทกจากการชน เพื่อลดความสูญเสียของผู้ขับขี่และผู้โดยสารนั่นเอง นอกจากนี้ ยังมีระบบความปลอดภัยอีกมากมายทีเดียว อาทิ ดิสก์เบรก 4 ล้อ ช่วยให้หยุดรถได้อย่างมั่นใจมากขึ้น และช่องระบายความร้อนของดิสก์เบรกคู่หน้า ที่จะช่วยป้องกันความร้อนสะสมของดิสก์เบรก ในขณะที่ต้องใช้เบรกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขับลงเขาในเส้นทางยาวๆ แบบนี้ครับ

และนอกจากระบบเบรก ABS (Anti-lock Braking System) ที่จะช่วยป้องกันล้อล็อกตาย เมื่อเบรกอย่างกะทันหันแล้ว ยังมีระบบเสริมแรงเบรก BA (Brake Assist) ที่จะช่วยเพิ่มแรงเบรกให้มากขึ้น เพื่อให้รถหยุดในระยะที่สั้นลงเมื่อจำเป็นต้องเบรกอย่างกระทันหันนั่นเอง ส่วนระบบกระจายแรงเบรก EBD (Electronic Brake-force Distribution) จะช่วยกระจายแรงเบรกไปยังล้อแต่ละล้อให้ทำงานอย่างสมดุล เพื่อให้ควบคุมตัวรถได้อย่างมั่นใจ แม้จะต้องเบรกในขณะเข้าโค้ง ซึ่งผมเองก็ต้องใช้เบรกอยู่บ่อยครั้ง จากความไม่คุ้นเคยกับเส้นทาง และรถราของชาวบ้านที่ขับสวนมาในเส้นทางบนเขาที่ค่อนข้างแคบอีกด้วย

อีกหนึ่งระบบที่ผมเองได้สัมผัสอยู่บ้างจากสภาพเส้นทางที่ชำรุดที่เดิมนั้น เป็นเส้นทางลาดยางราบเรียบ แต่นานๆ ไปเกิดจากผุกร่อนจากฝนและสภาพอากาศ ทำให้เส้นทางผุพังเป็นกรวดลื่น ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TRC (Traction Control) จะช่วยป้องกันอาการล้อหมุนฟรีที่อาจจะทำให้รถลื่นไถลเสียการทรงตัวได้ ซึ่งทำงานผสานกันเป็นอย่างดีกับระบบควบคุมการทรงตัว VSC (Vehicle Stability Control) ซึ่งจะมีไฟโชว์ให้เห็นแว่บนึง และระบบก็จะควบคุมตัวรถให้อยู่ในสภาพการขับขี่ที่ปกติเช่นเดิม ซึ่งระบบความปลอดภัยต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยให้การขับขี่มีความมั่นใจมากขึ้นครับ

ทางเข้าพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงภาพถ่ายและประวัติของอาปาอี้ไว้

การเข้าชมพิพิธภัณฑ์เซรามิกธนบดีนั้น จะมีค่าธรรมเนียมเข้าชมคนละ 60 บาท และมีเจ้าหน้าที่นำชมส่วนต่างๆ ภายในพิพิธภัณฑ์ พร้อมให้ความรู้เรื่องราวความเป็นมาของชามตราไก่ และก่อนที่จะมาเป็นธนบดีเซรามิกในปัจจุบัน ซึ่งส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ ก็คือบ้านพักของอาปาอี้ในอดีตนั่นเองครับ

โถงทางเข้าพิพิธภัณฑ์จะจัดแสดงภาพของอาปาอี้และครอบครัว รวมทั้งเอกสารสำคัญที่ทางราชการออกให้ ถัดเข้าไปจะเป็นประวัติและความเป็นมาของโรงงานร่วมสามัคคี ที่เป็นโรงงานเครื่องปั้นดินเผาแห่งแรกของจังหวัดลำปาง ที่ใช้เงินลงทุนประมาณ 20,000 บาท โดยการปั้นเครื่องปั้นในสมัยนั้น เป็นการปั้นด้วยมือล้วนๆ ไม่มีการใช้เครื่องจักรใดๆ และเผาในเตาเผามังกร ซึ่งเป็นเตาที่มีลักษณะยาว และข้างในจัดเป็นขั้นๆ สำหรับวางเครื่องปั้น โดยจะมีการเผาสองครั้ง ครั้งแรกนั้นเป็นการเผาเคลือบ จากนั้นจะนำออกมาวาดลวดลาย และเผาอีกครั้ง ก่อนนำออกไปจำหน่าย ซึ่งก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากทีเดียว

ในแต่ละรอบเข้าชม จะมีเจ้าหน้าที่คอยแนะนำ และให้ข้อมูลต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์

การเดินชมพิพิธภัณฑ์นั้น เป็นการเดินชมทางเดียว ลัดเลาะตามห้องโถงไปเรื่อยๆ และเจ้าหน้าที่นำชมก็จะให้ข้อมูลไปตลอดทาง สำหรับรูปแบบของชามตราไก่นั้น มีอยู่หลายแบบทีเดียว โดยมี 4 ขนาดคือ ขนาด 5 นิ้ว และ 6 นิ้ว จะเป็นขนาดที่ใช้ตามบ้าน และร้านข้าวต้มชั้นดี ส่วนขนาด 7 นิ้ว และ 8 นิ้ว จะใช้สำหรับกรรมกรที่มักจะกินจุนั่นเอง

รูปแบบของตัวไก่เอง ก็มีอยู่หลายแบบ เช่น ไก่เตี้ย, ไก่เดินเยื้องย่าง, ไก่วิ่ง, ไก่อ้วน และไก่ตัวสีแดงสด เป็นต้น สำหรับชามตราไก่ของธนบดีนั้น ยังคงรูปลักษณ์ของชามตราไก่โบราณเอาไว้ โดยจะเป็นไก่ที่มีตัวและขนลำคอสีส้ม ขาและหางสีดำ เดินอยู่บนหญ้าสีเขียว มีดอกเบญจมาศสีชมพูอมม่วง มีใบสีเขียวตัดเส้นด้วยสีดำอยู่ด้านซ้าย มีต้นกล้วยสีเขียว ตัดเส้นด้วยสีดำอยู่ด้านขวา บางใบจะมีค้างคาวห้อยหัวอยู่ด้วย และแต้มก้นชามด้านในด้วยดอกจิก ถ้าใครต้องการชามตราไก่ธนบดีที่เป็นต้นตำหรับก็ดูดีๆ นะครับ หรือเอาง่ายๆ ก็ไปซื้อที่ร้านค้าของโรงงานที่อยู่ก่อนถึงพิพิธภัณฑ์ได้เลย
จุดเด่นก่อนจะพ้นโซนพิพิธภัณฑ์นั่นคือ ชามตราไก่จิ๋ว ที่มีความกว้างของชามเท่าๆ กับเมล็ดข้าวเปลือก เล็กมากทีเดียวล่ะครับ ซึ่งในการจัดแสดง เค้าก็จะให้มองผ่านเลนส์แว่นขยาย ซึ่งทำให้ดูชัดเจนมากขึ้น

โซนถัดไป เป็นส่วนของโรงงงาน ที่ยังคงทำงานกันเป็นปกติ แต่จะมีส่วนที่จัดสาธิตการเขียนลวดลายชาม และการทำเครื่องเซรามิคในรูปแบบโมเดิร์น ที่ส่งขายทั่วโลกนั่นเอง

ภายในพิพิธภัณฑ์ ยังคงมีเจ้าหน้าที่ที่กำลังทำงานเป็นปกติ

เตามังกรโบราณในยุคแรกเริ่ม และรอขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุ

ในโซนของเตามังกรโบราณ ที่ปัจจุบันไม่ได้ใช้งานแล้ว และรอขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุอยู่ด้วย ก็แสดงให้เห็นว่ามีการจัดวางถ้วยชามลงในหีบดิน หรือ “จ้อ” ก่อนที่จะนำเข้าไปวางเรียงในเตาเผา ด้านบนของเตาเผาจะมีช่องเอาไว้สังเกตุอุณหภูมิของเปลวไฟในเตาที่จะเป็นสีต่างๆ ให้เห็น ซึ่งเตามังกรเตาแรกนั้น ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 1 ปี เนื่องจากใช้แรงงานคนเพียง 2 คนเท่านั้น รวมทั้งมีข้อจำกัดในเรื่องของเงินทุนด้วย ส่วนเตาที่สอง ใช้เวลาก่อสร้างเพียง 1 เดือนเท่านั้น

อีกหนึ่งขั้นตอนคือการชุบเคลือบ ซึ่งผู้ที่สาธิตให้เราชม ก็คือหนึ่งในทายาทของอาปาอี้นั่นเอง และท่านยังคงทำถ้วยชามด้วยตนเองอยู่เป็นปกติ

เจ้าหน้าที่กำลังสาธิตการต่อก้นชาม

เซรามิกยุคใหม่ที่ดูนำสมัยมากขึ้น

การสาธิตการวาดลวดลายลงบนชาม

โซนสุดท้าย ใกล้ๆ กับเตาเผาลูกที่สอง เป็นส่วนแสดงนวตกรรมใหม่ๆ และผลงาน รวมทั้งรางวัลที่ได้รับมาด้วย นอกจากนี้ยังมีของสะสมของคุณพนาสิน ธนบดีสกุล ทายาทรุ่นที่สอง ที่ได้เดินทางไปดูงานทั่วโลก และเป็นผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ขึ้นมานั่นเอง และท่านเองก็เป็นกำลังหลักที่ผลักดันให้แบรนด์ “ธนบดี” ก้าวไปแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างภาคภูมิใจ และส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิค “ธนบดี” ไปยัง 70 ประเทศทั่วโลก!!

ชามตราไก่จิ๋ว ที่แสดงในพิพิธภัณฑ์

ชามตราไก่ต้นตำหรับจากเมืองจีน

สำหรับชิ้นงานที่ชำรุดแตกหัก ก็จะนำมาใช้งานอย่างอื่น เช่น ทำเป็นส่วนประดับตกแต่งห้องนํ้า เป็นต้น

ส่วนหนึ่งที่เราใช้เวลาอยู่กันนานพอสมควรคือ ส่วนของร้านค้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีราคาย่อมเยามากกกกก.. จนผมและทีมงาน ได้ของฝาก ของที่ระลึกติดไม้ติดมือออกมากันเพียบเลยทีเดียว ขากลับเราย้อนกลับทางเดิมคือ เส้นทางหมายเลข 1 ตรงเข้าสู่จังหวัดตาก ที่คาดไว้ว่าจะเป็นที่พักก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ ซึ่งเส้นทางที่ลาดยางราบเรียบตลอดเส้นทางนั้น ผมของวางมือจากการเป็นพลขับชั่วคราว ปล่อยให้น้องทีมงานรับหน้าที่แทน ส่วนผมกระโดดไปยังเบาะหลัง และนอนเหยียดยาวอย่างสบายกาย เนื่องจากกระเป๋าสัมภาระทั้งสามใบ รวมทั้งกระเป๋ากล้อง และอุปกรณ์ถ่ายภาพต่างๆ ถูกนำไปเก็บยังท้ายรถหมดแล้ว อ้อออ!! ยังมีของฝากอีกเพียบด้วย ซึ่งก็ไม่เป็นปัญหาครับ ห้องสัมภาระของ New Toyota Vios กว้างขวางมาก จะแวะช้อปรายทางอีกก็ยังรับไหว เกรงใจก็แต่กระเป๋าสตางค์เท่านั้นเองงงงงงง!!

ส่วนจัดแสดงนวตกรรมใหม่ๆ ตัวอย่างสินค้าในปัจจุบัน และรางวัลต่างๆ ที่ได้รับ

ส่วนของร้านค้าที่มีของให้เลือกช้อปกันอย่างจุใจทีเดียว

ทริปหน้า เราจะพาไปชมประเพณีวิ่งควาย ชลบุรี และประเพณีรับบัว สมุทรปราการ เดินทางไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เท่าไหร่นัก ส่วนจะเป็นรถยนต์โตโยต้า รุ่นไหนนั้น ติดตามได้ฉบับหน้าครับ ..สวัสดีครับ…


การเดินทางไป พิพิธภัณฑ์ธนบดีเซรามิก จังหวัดลำปาง

จากจังหวัดนครสวรรค์ใช้เส้นทางหมายเลข 1 ผ่านจังหวัดตาก ตรงไปยังจังหวัดลำปาง จากตัวเมืองลำปาง ใช้เส้นทางหลัก ผ่านทางเข้าสนามบินมาจนถึง แยกถนนสาย 11 ให้เลี้ยวขวาและกลับรถมายังถนนคู่ขนานจนถึงแยกเข้าวัดจองคำ จะมีป้ายพิพิธภัณฑ์ธนบดีเซรามิกให้เห็น เลี้ยวซ้ายเข้าซอยมาประมาณ 300 จะเจอป้ายพิพิธภัณฑ์ธนบดีเซรามิกด้านขวามือ ก็ให้เลี้ยวเข้าไปตามป้ายก็จะถึงพิพิธภัณฑ์

เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ
ขอขอบคุณ… บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด

 


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

? ขอบคุณครับ


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

ติดตามเรื่องราวการท่องเที่ยววิถีไทยที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/travels/shooting-destination/