Photography Planner

ทะเลบัวแดง PLAN B+

ในห้วงช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ กระแสความนิยมในการถ่ายภาพพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้คนทั่วไปหันมาถ่ายภาพกันมากขึ้น แถมไม่ว่าพื้นที่เหล่านั้นจะอยู่ส่วนใดของเมืองไทย สัญญาณโทรศัพท์หรือกระทั่ง wifi ล้วนมีอย่างทั่วถึง เรียกได้ว่าถ่ายปุ๊ปก็โพสปั๊ป ถ่ายแล้วโพส ดูแล้วแชร์ ทำให้ข้อมูลข่าวสารและภาพสวยๆ ของสถานที่ต่างๆ เข้าถึงทุกผู้คนอย่างรวดเร็วและง่ายดายยิ่ง หากกระแสจุดติดผู้คนในพื้นที่ก็เตรียมรับทรัพย์กันได้เลย

ทะเลบัวแดงแห่งจังหวัดอุดรธานีก็เป็นหนึ่งในสถานที่ยอดฮิตติดลำดับต้นๆ ที่นักถ่ายภาพจำนวนมากปักหมุดเป็นจุดหมายไว้ว่าจะต้องไปเก็บภาพให้ได้ ไม่แพ้ดงซากุระตามยอดดอยต่างๆ เลย ส่วนผมเองแม้จะเป็นพวกนักถ่ายภาพยุคเก่าเต่าคลานตามทัน ที่ไม่ได้ตั้งใจจะไปกับเขาสักเท่าไร แต่ด้วยกระแสความร้อนแรงของทะเลบัวแดงเอง ทำให้ผมมีโอกาสได้ไปเก็บภาพถึงสามครั้งซ้อนๆ ในระยะเวลาเพียงหนึ่งเดือนได้ไปเห็นไปถ่าย กลับไปซ้ำจนได้ภาพตรงตามความต้องการพอสมควร ซึ่งจริงๆ มันก็น่าจะเป็น Plan A ที่ทุกอย่างราบรื่นดี แต่มันมาได้ตามความต้องการของผมจริงๆ ก็ในครั้ง 2-3 นั่นเองครับ จึงถูกร่นลงมากลายเป็น Plan B+ เท่านั้น

ทะเลบัวแดงอุดรธานี อยู่ในเขตอำเภอกุมภวาปี หากมาจากขอนแก่นตามถนนสายหลักขึ้นอุดรฯ ให้ขับเลยแยกทางเข้าตัวอำเภอกุมภวาปีไปประมาณ 16 กิโลเมตร สังเกตปั๊มเพียวทางซ้ายมือ (ดึกๆ ไม่เปิดป้ายไฟอาจจะเลยได้ง่ายๆ) เลยปั๊มไปนิดจะมีจุดกลับรถ กลับรถแล้วก็ให้มองหาป้ายทะเลบัวแดงไว้ เขาทำป้ายบอกทางไว้ค่อนข้างชัดเจนในทุกแยกทุกเลี้ยว ขับรถไม่ต้องเร็วมากรับรองเห็นป้ายแน่นอน แถมยังปลอดภัยด้วย เพราะเป็นทางผ่านหมู่บ้านหลายแห่ง ถนนราดยางสภาพดีตลอดทาง รถเก๋งก็เข้าถึงได้สบาย ใกล้ๆ จุดลงเรือ มีที่พักแบบโฮมสเตย์หลายแห่ง อาจไม่สะดวกสบายเหมือนการพักโรงแรม-รีสอร์ท แต่ก็แลกมาด้วยการที่ไม่ต้องตื่นแต่มืดเพื่อมาให้ทันก่อนพระอาทิตย์ขึ้น เพราะถ้าเลือกพักโรงแรมในตัวเมืองอุดรฯ ต้องมีประมาณ 1 ชั่วโมง จึงจะขับรถมาถึงจุดลงเรือ

ก่อนเดินทางครั้งแรก ผมไม่ได้ดูภาพของใครล่วงหน้าซะด้วยซ้ำไปครับ ไม่รู้เลยว่าสถานที่มันเป็นยังไง มีมุมไหนเด็ดๆ (คุณ Depth ฤทัยรัตน์ เป็นคนจัดการทุกอย่างครับ ผมตามไปเป็นลูกมือเท่านั้น) ใครเขาว่ายังไงก็ตามนั้น ซึ่งมันก็ได้ภาพเด็ดๆ มาบ้างแต่ไม่ครบตามความต้องการเท่านั้นเอง

ที่ผิดคาดเป็นลำดับแรกสุดคือ ผมคิดว่าทะลบัวจะสามารถมองเห็นและยืนถ่ายภาพได้ตั้งแต่ริมฝั่ง แบบว่ากะจะหามุมถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้น-ตก เด็ดๆ แจ่มๆ โดยใช้ขาตั้งแบบเนี้ยบๆ เน้นๆ อะไรอย่างนั้น แต่จริงๆ คือ กว่าจะมองเห็นทะเลบัวได้ก็ต้องใช้เวลานั่งเรือเข้าไปราวๆ 10-15 นาทีโน่น ยืนบนฝั่งนี่มองไม่เห็นอะไรแม้แต่น้อยครับ

อีกเรื่องที่คิดผิดสุดๆ ก็คือ ไม่คิดว่าทะเลบัวมันจะกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตาขนาดนี้!!! มันกว้างจริง ใหญ่จริง เยอะจริง ยิ่งกว่าที่จินตนาการไว้มากครับ เพราะผมไม่ได้ดูภาพใครมาก่อนเลยจริงๆ อย่างที่บอกไป พอเห็นของจริงแล้วก็เลยอึ้งๆ ไปพักใหญ่ จับต้นชนปลายไม่ถูก แบบว่าไม่รู้จะถ่ายอะไรยังไงดี

แต่สมาชิกที่ไปด้วยเขาทำการบ้านกันมาก่อนแล้วครับ จึงได้มีการจัดเตรียมนางแบบไว้เรียบร้อย เป็นคุณยายกับยอขนาดเล็ก แบบที่เขาใช้ยืนยกจากบนเรือได้โดยตรง ก็ชาวบ้านในพื้นที่และเครื่องมือหากินที่เขาใช้กันจริงๆ นั่นล่ะครับ แม้ผมจะไม่ได้ชื่นชอบการจัดถ่ายลักษณะนี้สักเท่าไร แต่ในเมื่อมีคนจัดมาให้ผมก็ไม่ขัด แถมดีซะอีกครับ เพราะผมยังนึกมุมนึกมุขอะไรไม่ออกด้วย

ซึ่งก็มีทั้งยกยอแบบซิลลูเอทตั้งแต่ช่วงพระอาทิตย์ขึ้น ไปจนถึงตอนสายๆ ในทิศทางตามแสง พร้อมเงาสะท้อนสวยๆ บนผิวน้ำ ทำให้ได้ภาพทะเลบัวอีกแบบ ชนิดที่ว่าถ้าผมไปเอง ยังไงก็ไม่มีภาพลักษณะนี้แน่ๆ เพราะผมไม่ถนัดกับการเซ็ทถ่ายเอาซะเลยจริงๆ

plan108_04

“ ยกยอ” ทะเลบัวที่อุดรธานี กว้างใหญ่ไพศาลตระการตาจริงๆ ครับ แต่ในอีกทางหนึ่ง สำหรับการถ่ายภาพ มันก็อาจดูโล่งๆ กว้างๆ จนเวิ้งวางไปสักหน่อย การมีคนทำกิจกรรมอะไรสักอย่างเพิ่มเข้าไปในภาพ ก็เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ดี ซึ่งก็แล้วแต่ว่าใครจะเซ็ทถ่ายอย่างไร อย่างผมถ้าให้จัดถ่ายก็คงจะได้ประมาณนี้ เพราะผมเน้นเรื่องความสมจริงค่อนข้างมาก หรือง่ายกว่านั้นก็รอให้มีเรือนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ ให้ผ่านเข้ามายังจุดที่ต้องการก็พอ แต่บางท่านอาจจะมีแนวทางที่ต่างออกไป เช่นการเซ็ทถ่ายนางแบบ หรือถ่ายพรีเว็ดดิ้ง อันนั้นก็แล้วแต่ความชอบโดยส่วนตัว ถ้าไม่ได้ทำให้สถานที่เสียหายก็ไม่ผิดอะไรหรอกครับ ใครชอบอย่างไหนแนวไหนก็จัดไปครับ EOS 5D MK II, LENS 50  MM. F/1.2L, 1/320 Sec. F/8, ISO 200

แต่ที่เขาเซ็ทกันนี้ผมรับได้แบบไม่ตะขิดตะขวงใจ เพราะถือว่าสมจริง ใช้ชาวบ้านจริง เสื้อผ้าก็บ้านๆ เครื่องมือก็ของจริง และที่จริงที่สุดก็คือ ชาวบ้านเขาก็หากินอยู่ในบริเวณนั้นอยู่แล้วด้วย แม้จะไม่ถึงกับพายไปกลางทะเลบัวอย่างที่ขอให้ทำนี้ก็ตาม (เพราะถ้าไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว ผมว่าชาวบ้านเขาก็ต้องมายกยอกลางทะเลบัวได้เหมือนกัน เขาคงไม่สงวนพื้นที่ไว้เพื่อชมความสวยงามอย่างเดียวแน่ๆ ครับ)

หลังจากถ่ายภาพชุดยกยอผ่านไป ผมก็เริ่มมีภาพในใจขึ้นมาเองบ้างแล้ว ซึ่งจะว่าไปมันก็เป็นมุมภาพธรรมดาๆ ที่ใครๆ ก็น่าจะคิดได้ถ่ายได้เหมือนกัน แต่บางภาพผมอาจจะเล่นให้หนักกว่าอีกขั้น ด้วยอุปกรณ์ที่ค่อนข้างจะพร้อมและหลากหลายกว่า

อย่างแรกคือการใช้เลนส์ฟิชอาย ถ่ายภาพทะเลบัวให้ขอบฟ้าโค้งๆ กลมๆ “The world of lotus” อะไรประมาณนั้น กับอีกภาพคือถ่ายให้บัวให้มันดูแน่นๆ เต็มตาด้วยเลนส์ช่วงเทเลโฟโต้ ที่ใครๆ ก็น่าจะมี แต่ผมมี 500 Reflex ซึ่งทำให้ได้ฉากหลังและฉากหน้าที่หลุดโฟกัสออกไป ดูแปลกตาขึ้นอีกหน่อย

plan108_02

“ The World of Lotus” ภาพนี้ผมตั้งใจใช้ความสามารถของอุปกรณ์เพื่อสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้น แต่ก็ยังใส่อะไรเล็กๆ น้อยๆ ลงไปด้วย เพื่อให้ภาพดูไม่ตื้นจนเกินไป อย่างแรกคือ รอถ่ายในจังหวะที่มีเรือผ่านเข้ามาเพื่อเสริมบรรยากาศให้กับภาพ และที่ตั้งใจมาก คือแสงแฟลร์จากดวงอาทิตย์ที่ทะลุวงกลมของภาพออกไปปรากฏบนพื้นดำๆ ผมว่ามันดูแปลกตาดีครับ
ความยากในการถ่ายภาพนี้อยู่ตรงที่ขอบเขตองศาการรับภาพของเลนส์ที่กว้างมากๆ หากไม่ระมัดระวังให้ดีก็จะติดส่วนกราบเรือลำที่เรานั่งเข้ามาด้วย ผมจึงต้องใช้วิธีนั่งหมอบไปบนหัวเรือ (หางยาวลำเล็ก) เอาสายกล้องพันข้อมือไว้ ปรับโฟกัสแมนนวลไว้ที่ระยะใกล้สุด เปิดระบบไลฟ์วิวเพื่อตรวจสอบองค์ประกอบภาพ แล้วยื่นกล้องออกไปให้พ้นตัวเรือ แล้วก็ กด กด กด!  EOS 5D MK II, LENS EF 8-15  MM. Fish-eye F/4L, 1/200 Sec. F/11, ISO 400

plan108_08

การถ่ายภาพด้วยเลนส์ฟิชอายแบบวงกลม

plan108_03

“Sea of Lotus” ภาพนี้ก็ง่ายๆ ครับ ใช้เลนส์ฟิชอายถ่ายมุมกดลงเล็กน้อยเพื่อให้เส้นขอบฟ้าโค้งอย่างชัดเจน สิ่งสำคัญสำหรับการใช้เลนส์ฟิชอายถ่ายภาพลักษณะนี้ คือต้องพยายามหาบริเวณที่บัวขึ้นเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างหนาแน่น เพราะด้วยเพอร์สเปคทีฟที่รุนแรง พอเราเอาเลนส์จ่อเข้าไปใกล้ดอกใดดอกหนึ่งมากๆ ดอกบัวที่เหลือจะถูกผลักออกไปให้ดูไกลกว่าความเป็นจริงและมีขนาดเล็กมากๆ ในภาพ
อีกอย่างที่ต้องระมัดระวังคือเรื่องของทิศทางแสง ถ้าเป็นเลนส์ช่วงอื่นหรือแม้แต่ฟิชอายแต่ไม่ได้ถ่ายแบบจ่อใกล้ๆ อย่างนี้ การใช้ทิศทางตามแสงจะให้ภาพที่มีสีสันสวยงามกว่า แต่สำหรับเลนส์ฟิชอายกับการถ่ายใกล้ๆ มากๆ จะเจอปัญหาเงาของตัวเองหรือเงาของกล้องกับเลนส์ตกทับลงบนวัตถุที่เราจะถ่ายนั่นเอง จึงมักจะต้องเลี่ยงไปใช้แสงที่เฉียงมาจากด้านข้างมากๆ หรือเฉียงจากด้านหน้าไปเลย LTS 03 : EOS 5D MK II, LENS EF 8-15  MM. Fish-eye F/4L, 1/200 Sec. F/11, ISO 500

นอกนั้นก็เก็บภาพแบบทั่วๆ ไป เก็บบัวดอกเดี่ยวๆ บ้าง เก็บเป็นกอบ้าง ถ้าหากดูแล้วจังหวะการเรียงตัวมันสวยงาม ผมก็ถ่ายไว้ก่อนแบบไม่ต้องคิดอะไรซับซ้อนมากครับ ของมันสวยในตัวเองอยู่แล้วบางทีก็ไม่จำเป็นต้องทำอะไรให้มันพิศดารพันลึกเกินความจำเป็นก็ได้ ภาพที่มันดูเรียบๆ ธรรมดาๆ นี่ล่ะครับ ขายง่ายดีนักแล

พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียก็ไม่ได้ภาพสิครับ แฮ่ม! ว่าแล้วก็ได้เวลาหิ้วกล้องท่องทะเลบัวกันสักที

หากเป็นนักท่องเที่ยวทั่วไป สายๆ หลังมื้ออาหารเช้า เป็นเวลาที่เหมาะกับการชมบัวมากที่สุด แต่กับนักถ่ายภาพแล้ว เวลาเช่นนั้นถือว่าสายไปมากครับ เราควรต้องตื่นแต่เช้ามืดไปให้ถึงท่าเรือก่อนพระอาทิตย์ขึ้นสักครึ่งชั่วโมง ถ้าเป็นช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ อย่างที่ผมไป พระอาทิตย์จะโพล่พ้นขอบฟ้าราวๆ 6.45 น. หมายความว่าเวลาในการออกเรือไม่ควรเกิน 6.15 น. ครับ ราวๆ 6.30 น. เมื่อถึงกลางทะเลบัวแล้ว ก็มองหากอบัวแน่นๆ เผื่อใช้เป็นฉากหน้าในการถ่ายด้วยเลนส์มุมกว้าง และเตรียมอุปกรณ์ที่จะใช้ให้พร้อม ในช่วงเวลานี้อุปกรณ์พิเศษที่มีโอกาสได้ใช้มากที่สุดคือฟิลเตอร์กราดูเอทสีเทาสำหรับลดความเปรียบต่างของท้องฟ้ากับทะเลบัวในส่วนล่างของภาพ ถ้าไม่มีก็เปิดระบบ HDR รอไว้ได้เลยครับ (ถ้ายังไม่มีอีก ก็ไปว่ากันบนหน้าจอคอมพ์ฯในภายหลัง)

plan108_01

“Lotus with sunrise”  ภาพในลักษณะนี้ ในทางเทคนิคไม่มีอะไรยุ่งยากครับ แค่ใช้ฟิลเตอร์ปรับความแตกต่างของพื้นที่ทั้งสองส่วนให้ใกล้เคียงกัน หรือใครจะใช้ระบบ HDR หรือจะมาทำไฟล์ในภายหลังก็ได้ทั้งนั้น ปัญหาที่แท้จริงของการถ่ายภาพนี้ คือจุดที่ถ่ายไม่ใช้บนพื้นดินแต่เป็นบนเรือที่โคลงไปโคลงมาได้ แถมมันยังเป็นเวลาเช้ามืดแสงค่อนข้างน้อย ตัวเลือกเพียงอย่างเดียวคือการปรับ ISO ให้สูงขึ้น จนได้ความไวชัตเตอร์เพียงพอกับความต้องการ
สำหรับกล้อง 5D MK II ผมคิดว่ามันให้คุณภาพที่รับได้ที่ ISO ไม่เกิน 1600 ดังนั้นถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ผมจะไม่ใช้ ISO สูงกว่านี้ แต่สำหรับกล้องรุ่นใหม่ๆ อาจดันขึ้นไปถึง ISO 6400 หรือสูงกว่าได้สบายๆ โดยที่คุณภาพยังดีอยู่ อันนี้ก็แล้วแต่ความสามารถของกล้องใครกล้องมันนะครับ กับเลนส์มุมกว้างที่ใช้ ผมคิดว่าหากนั่งนิ่งๆ ถือกล้องนิ่งๆ ความไวชัตเตอร์ 1/125 วินาที น่าจะเอาอยู่  ผมจึงตั้งช่องรับแสงไว้ที่ F/8 ตั้งความไวชัตเตอร์ที่ 1/125 วินาที แล้วก็ปรับ ISO ไปจนกระทั่งได้แสงที่พอดี ซึ่งมันอยู่ที่ ISO 1000 ยังไม่เกินลิมิตส่วนตัวที่ ISO 1600 แล้วก็ใช้ค่านี้ถ่ายภาพไปเรื่อยๆ กดชัตเตอร์มาเผื่อค่อนข้างเยอะเพื่อให้ชัวร์ว่าได้ภาพที่คมชัดแน่ๆ EOS 5D MK II, LENS EF 17-40  MM. F/4L + Singh-Ray Revers ND 2 stop, 1/125 Sec. F/8, ISO 1000

ตามปกติแล้วการถ่ายภาพในช่วงเวลาอย่างนี้ ผมใช้ขาตั้งกล้อง 100% ครับ เพื่อคุณภาพและความคมชัดแบบชัวร์ๆ แต่บนเรืออย่างนี้มันใช้ไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่ต้องปรับกล้องไว้ก่อนล่วงหน้าเลยก็คือการตั้ง ISO ไว้สูงๆ เลือกใช้ช่องรับแสงกลางๆ ร่วมกับการใช้เทคนิค Hyper Focus เพื่อให้ภาพมีช่วงความชัดมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เมื่อแสงแรงขึ้นก็ค่อยๆ ปรับลดค่า ISO ลงเป็นระยะๆ เพื่อให้ได้คุณภาพของภาพดีสุดเสมอ แต่อย่างไรก็ยังคงต้องดูเรื่องความไวชัตเตอร์ให้สูงเป็นหลักไว้ก่อนครับ เพราะเราไม่ได้ยืนถ่ายบนพื้นนิ่งๆ แต่เป็นบนเรือที่โคลงไปมาได้

จากหลักเบื้องต้นในเรื่องการถือกล้องถ่ายภาพด้วยมือ ที่ความไวชัตเตอร์ต้องสัมพันธ์กับทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่ใช้ เช่นใช้เลนส์ 200 มม. ต้องใช้ความไวชัตเตอร์ 1/200 วินาทีขึ้นไป แต่ในกรณีนี้ผมคูณสองหรือสามไปเลยคือ อย่างต่ำๆ ก็ 1/400 วินาที + กับการเปิดระบบลดความสั่นไหวด้วย

ถ้าเมื่อไรใช้เลนส์ 500 Reflex ผมก็ต้องทำให้ความชัตเตอร์สูงเกิน 1/1250 วินาทีขึ้นไป ถึงจะพออุ่นใจว่าจะมีภาพที่คมชัดระดับหวังผลได้ รวมไปถึงต้องถ่ายย้ำจุดโฟกัสเผื่อไว้หลายภาพในมุมเดิม เพราะเลนส์ทางยาวโฟกัสขนาดนี้ช่วงความชัดน้อยมากจริงๆ โฟกัสผิดจุดได้ง่ายมากครับ ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ ผมจะรีบขยายภาพขึ้นมาตรวจสอบทันทีว่าภาพมีความคมชัดหรือไม่ ทั้งในแง่ของความสั่นไหว และในแง่ของจุดโฟกัส

plan108_05

“Sea of Lotus by 500 Reflex” พอได้ยินคำว่าทะเลบัว มันก็ควรจะต้องมีภาพที่เห็นดอกบัวแน่นขนัดเต็มภาพเต็มตา ซึ่งมันจะเกิดขึ้นได้ก็จากเลนส์ช่วงเทเลโฟโต้เท่านั้นครับ และบังเอิญว่าผมมีเลนส์ 500 Reflex ติดกระเป๋าอยู่เสมอ ซึ่งมันก็เหมาะกับความต้องการในสถานการณ์นี้มาก  ได้บัวที่แน่นเต็มพรืดไปทั้งภาพสมใจ แถมยังได้เอฟเฟกต์แปลกๆแถมมาอีกด้วย ถ้าใครไม่มีก็ไม่ต้องถึงกับลงทุนซื้อก็ได้ครับ ดัดแปลงเอาเหรียญบาทหรือกระดาษดำตัดเป็นวงกลมแปะไว้กลางฟิลเตอร์ ก็จะได้ภาพในลักษณะนี้เช่นกัน
ข้อกังวลของผมสำหรับการใช้เลนส์ตัวนี้บนเรือ คือเรื่องความคมชัดที่เกิดจากความสั่นไหว เพราะลำพังเลนส์ช่วงทางยาวโฟกัส 500 mm. มันก็ไม่ควรจะถือถ่ายภาพด้วยมืออยู่แล้ว แต่ในเมื่อเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องใช้ความไวชัตเตอร์ที่ค่อนข้างสูงสักหน่อย ผมเลยคูณสามจากสูตร 1/ทางยาวโฟกัส คือ ใช้ความไวชัตเตอร์ที่ 1/1600 วินาที กับ ISO 1250 ถือว่าพอรับได้ ผมยืนถ่ายจากบนหัวเรือ (เรือท้องแบนลำขนาดกลาง) เพื่อให้เห็นดอกบัวไล่ระดับกันไป เลือกโฟกัสไปยังจุดที่บัวหนาแน่น ถ่ายคร่อมมาหลายภาพ แล้วมาขยายและคัดภาพที่เข้าโฟกัสไม่สั่นไหวมาใช้งานอีกที  EOS 5D MK II, LENS Samyang 500  MM. Reflex F/6.3 DX, 1/1600 Sec. F/6.3, ISO 1250

มีอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งที่คาดว่าน่าจะได้ใช้บ่อย ด้วยความที่ถ่ายภาพอยู่เหนือน้ำตลอดเวลานั่นล่ะครับ แต่เอาเข้าจริงผมกลับเอามันออกมาใช้น้อยครั้งมาก มันคือ “ฟิลเตอร์โพลาไรซ์” สำหรับตัดแสงสะท้อนผิวน้ำนั่นเอง

ด้วยว่าของจริงที่เห็น คือน้ำที่นี่ใสสะอาดมากๆ และท้องน้ำเป็นสีค่อนข้างเข้มอยู่แล้ว กอรปกับส่วนใหญ่จะเป็นการถ่ายภาพตามแสง แสงสะท้อนผิวน้ำจึงน้อยกว่าที่คาดคิดไว้เยอะ ใช้กับไม่ใช้มองเห็นความต่างอยู่บ้าง แต่ไม่มากนัก ผมจึงเลือกที่จะไม่ใช้มากกว่า เพราะทำให้ได้ความไวชัตเตอร์ที่สูงกว่า ส่วนสีสันที่อาจจะดรอปลงไปบ้างนั้น คิดว่ามาเร่งขึ้นนิดๆ หน่อยๆ ในภายหลังก็ได้ถ้าต้องการอย่างนั้นจริง ปัญหาจริงๆ ที่พบและแก้ได้ค่อนข้างยากกว่า กลับกลายเป็นเรื่องของเส้นขอบฟ้าขอบน้ำที่มักจะ “เอียง” มากบ้างน้อยบ้าง ตามจังหวะการ “โคลง” ของเรือ แม้ว่าตอนมองจะเล็งจนมือ “เกร็ง” มันก็ยังไม่วายที่ภาพจะเอียงอยู่ดีครับ

คำแนะนำที่พอจะมีให้ได้คือ ควรจัดองค์ประกอบภาพให้ “หลวม” ไว้สักหน่อย “เผื่อ” สำหรับการนำภาพมาหมุนและครอปใช้ในภายหลังอีกที

plan108_07

เรือท้องแบน นั่งได้ 8-10 คน

เรื่อง “เรือโคลง” นี่ขึ้นอยู่กับจำนวนคนบนลำเรือเป็นสำคัญ ถ้าจำนวนคนมาก โอกาสโคลงก็มากตามไปด้วยทุกครั้งที่ใครสักคนขยับตัว หากเอาชัวร์เอาสบายก็เหมาลำไปเลยครับ

อ้อ! แล้วอย่าได้ไปลงเรือในช่วงบ่ายเชียวนะครับ เพราะจะได้เจอกับบัวตูมเท่านั้น พอแดดร้อนจัดดอกบัวก็จะค่อยๆ หุบลงเรื่อยๆ ถ่ายไปก็ไม่สวยและไม่เห็นสีสันใดๆ และถ้าเป็นไปได้ ควรลงเรือสักสองรอบสองเช้าครับ รอบแรกถือว่าดูลาดเลาไปก่อน ไม่ต้องเครียดมากนัก เช้าที่สองรอบที่สอง ค่อยถือเป็นรอบเอาจริง แก้ไขข้อผิดพลาดจากรอบแรกให้หมดไป เพื่อให้ได้ภาพทะเลบัวที่สมบูรณ์แบบอย่างที่ต้องการ

เรื่อง / ภาพ : จิรชนม์ ฉ่ำแสง


เรือสำหรับการล่องถ่ายภาพทะเลบัวมี 2 แบบ 2 ไซส์ ให้เลือกครับ

plan108_06

ขนาดเล็ก เป็นเรือหางยาว ราคาเหมาชั่วโมงละ 300 บาท นั่งได้ราวๆ 3-5 คน แล้วแต่ขนาดเรือ ข้อดีคือคล่องตัวกว่า เคลื่อนที่ได้เร็วกว่า ซอกแซกเข้าไปตามจุดต่างๆ ได้มากกว่า แต่ข้อเสียก็คือ มันโคลงได้ง่ายกว่า โอกาสตกน้ำก็ง่ายกว่า โดยเฉพาะกับคนที่การทรงตัวไม่ดี แนะนำว่าควรหลีกเลี่ยง แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ (เพราะเรือท้องแบนเต็ม) ก็นั่งถ่ายอย่างเดียวพอครับ “ห้ามยืน” ข้อเสียอีกอย่างคือมันเป็นเรือที่ไม่มีหลังคา เวลาสายๆ ก็ร้อนเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน ดังนั้นควรเตรียมหมวกหรือเสื้อแขนยาวกันแดดเผาไว้ให้พร้อม (ใช้กันหนาวในยามเช้าด้วย)

ขนาดกลาง เป็นเรือไฟเบอร์ท้องแบน ราคาเหมาชั่วโมงละ 500 บาท นั่งได้ 10 คน ข้อดีคือยืนถ่ายภาพได้สบายบรื๋อ อาการโคลงมีน้อยกว่าเรือหางยาว แถมมีหลังคากันแดดอีกต่างหาก แต่ข้อเสียก็คือมันเคลื่อนที่ได้ช้า จะเอาเรือฝ่าเข้าไปกลางทะเลบัวก็ลำบาก อยู่ได้แค่ริมๆ ดงบัวเท่านั้น

บริเวณท่าเรือมีลานจอดรถ มีเต็นท์นั่งรอ มีคนออกบัตรคิวสำหรับการลงเรือ ถือว่าการจัดการดีทีเดียวเชียวล่ะครับ ปีล่าสุดนี้มีเรือทั้งขนาดเล็กและกลางรวมๆกันแล้ว 57 ลำ แต่สำหรับวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดตามเทศกาล เรืออาจไม่เพียงพอกับจำนวนนักท่องเที่ยว ต้องเสียเวลารอคิวกันนานนับชั่วโมง ทางที่ดีคือไปให้เช้าเข้าไว้ครับ แต่ถ้าหลีกเลี่ยงวันหยุดเหล่านี้ได้ก็จะดีมาก

สำหรับนักถ่ายภาพเวลาชั่วโมงเดียวไม่เพียงพอแน่นอนครับ ต้องมีสัก 3 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย และถ้าออกแต่เช้ามืด อย่าลืมพกน้ำพกอาหารเช้าแบบง่ายๆ ไว้กินบนเรือด้วยเลย ห้องน้ำห้องท่าเข้าให้เรียบร้อย เพราะในทะเลบัวมีจุดเข้าห้องน้ำได้จุดเดียวคือบนเกาะดอนหลวง อันเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ ที่มีพระพุทธรูปสีขาวขนาดใหญ่มองเห็นได้แต่ไกล

และไหนๆ ก็ไปถึงที่แล้ว ควรต้องเอาให้จบในคราวเดียว ดังนั้นเพื่อความชัวร์ให้เวลากับที่นี่สักสองครั้งสองเช้า วันแรกพลาดอะไรไป วันที่สองกลับมาซ้ำใหม่อีกที โอกาสได้ภาพดีๆ มีสูงครับ

 

 


  • บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นตัวอย่าง สำหรับการวางแผนถ่ายภาพเมื่อต้องเดินทางไปในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ อันแปลกหูแปลกตา โดยเอาประสบการณ์การถ่ายภาพของผู้เขียนมาบอกเล่าแบ่งปันสู่กันฟัง โดยเอาความชอบของผู้เขียนเป็นที่ตั้ง หากแนวทางการถ่ายภาพจะไม่ถูกใจใครบ้างก็ขออภัยไว้ด้วยครับ และจริงๆ ก็ไม่ได้เน้นเรื่องสถานที่สักเท่าไร แต่อยากเน้นเรื่องวิธีการคิดและวางแผนสำหรับการถ่ายภาพ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสถานที่อื่นๆ ได้
    Plan A หมายถึง การถ่ายภาพที่สามารถทำได้ตามแผนทุกอย่างที่วางไว้โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไร
    Plan B หมายถึง การถ่ายภาพที่พบเจออุปสรรคบางประการ ทำให้ต้องมีการปรับแผนกันบ้าง อย่างเช่น เจอสภาพอากาศไม่เป็นใจ หาที่พักในจุดใกล้เคียงไม่ได้ ฯลฯ
    Plan C หมายถึง การถ่ายภาพที่พบเจออุปสรรคค่อนข้างมาก สิ่งที่คาดหวังไว้ ไม่เป็นอย่างที่คิด จนถึงขั้นต้องทำให้เปลี่ยนแผนไปเลย อย่างเช่น เจอกับการปิดซ่อมแซมสถานที่ เจอการเดินขบวนประท้วง เจอน้ำท่วมฉับพลัน หรือสถานการณ์ที่ล่อแหลมอันตราย หรืออาจหมายถึงอุปกรณ์ถ่ายภาพเสียหายหรือสูญหาย ฯลฯ