Basic Photography

ถ่ายภาพวิว แล้วสีซีดไป ทำไงดี

ถ่ายภาพวิว แล้วสีซีดไป ทำไงดี

หลายๆ ครั้งที่พกกล้องไปถ่ายภาพ โดยเฉพาะภาพวิวทิวทัศน์, ภาพวัดวาอาราม, ภาพพระพุทธรูป, ภาพพระอาทิตย์ขึ้นหรือตก หรือภาพดอกไม้ แล้วได้ภาพที่มีสีสันซีดไป ไม่อิ่มตัว ไม่สดใสเหมือนของจริง มีวิธีแก้ครับ

ปรับพารามิเตอร์ของกล้องให้เหมาะสม

 

สภาพอากาศที่ไม่เป็นใจในบางครั้ง ทำให้ได้ภาพมีสีสันไม่อิ่มตัวเท่าไหร่นัก การปรับพารามิเตอร์ที่เหมาะสม จะช่วยให้สีสันของภาพอิ่มตัวขึ้นได้  อย่างภาพนี้ เปลี่ยนจาก Standard ปกติ เป็นแบบ Landscape

พารามิเตอร์ หรือกล้องหลายๆ แบรนด์ จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป อาทิ Picture Style ของกล้องแคนนอน, Picture Control ของกล้องนิคอน, Creative Style ของกล้องโซนี่ หรือ Film Simulator ของกล้องฟูจิ ซึ่งพารามิเตอร์ของแต่ละแบรนด์ จะมีลักษณะการทำงานที่คล้ายๆ กัน เช่น Standdard สำหรับถ่ายภาพทั่วๆ ไป, Landscape สำหรับถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ หรือ Portrait สำหรับถ่ายภาพบุคคล หรือ Neutral ที่ให้สีสันที่เป็นธรรมชาติ เป็นต้น ภาพที่ต้องการสีสันที่สดใสอิ่มตัวอย่างภาพวิวทิวทัศน์ ก็ต้องปรับพารามิเตอร์เป็น Landscape ซึ่งกล้องจะปรับโทนสีเขียวและสีฟ้าให้สดใสอิ่มตัวขึ้นนั่นเอง รวมทั้งปรับ Contrast ให้มากกว่า Standard ปกติด้วย

ปรับไวท์บาลานซ์กล้องให้ถูกต้องเหมาะสม

ไวท์บาลานซ์แบบ Auto จะตัดแสงสีบางอย่างที่กล้องคำนวณได้ออกไป ซึ่งอาจจะทำให้องค์พระธาตุมีสีเหลืองซีดๆ เมื่อปรับไวท์บาลานซ์เป็น Daylight กล้องจะไม่ตัดแสงสีใดๆ ออกไป ทำให้สีสันขององค์พระธาตุเป็นสีเหลืองสุกปลั่งเหมือนที่ตาเห็น

ภาพนี้ ถ้าใช้ไวท์บาลานซ์ Auto กล้องจะตัดสีสันที่คำนวณได้มากเกินออกไป นั่นคือโทนสีแดง ซึ่งจะทำให้ภาพองค์พระที่ได้มีสีเหลืองซีดๆ ดังนั้นต้องเลือกไวท์บาลานซ์เป็น Daylight เพื่อให้กล้องเก็บแสงสีทั้งหมดในเฟรมภาพ

สำหรับกล้องรุ่นใหม่ๆ มักจะมีไวท์บาลานซ์แบบ Auto ที่ค่อนข้างแม่นยำดีทีเดียว แต่หลายๆ ครั้ง ที่ไวท์บาลานซ์แบบ Auto ก็มักจะให้สีสันที่ผิดเพี้ยนไป จากการคำนวณที่ผิดพลาด แน่นอนว่า ทำให้สีของภาพผิดเพี้ยนไปด้วยเช่นกัน อย่างการถ่ายภาพวัดที่มีเจดีย์สีทองอร่าม หรือถ่ายภาพพระพุทธรูปสีทองในวิหาร ซึ่งถ้าใช้ไวท์บาลานซ์ Auto สีของเจดีย์ หรือองค์พระจะเป็นสีเหลืองซีดๆ ไม่สุกอร่ามเหมือนตาเห็น เพราะกล้องคำนวณผิดพลาดนั่นเอง วิธีแก้ไขคือเปลี่ยนไวท์บาลานซ์เป็น Daylight หรือแบบแสงอาทิตย์ ซึ่งกล้องจะไม่ตัดแสงสีใดๆ ออกไป ทำให้บันทึกแสงสีได้เหมือนๆ กับที่ตาเห็น ซึ่งสีสันจะสดใสอิ่มตัวมากกว่า

ใช้ C-PL ตัดแสงสะท้อนออกไป

ฟิลเตอร์ C-PL จะช่วยตัดแสงสะท้อนทั้งในท้องฟ้า และตามพื้นผิวของใบไม้และดอกไม้ออกไป ทำให้เห็นสีสันที่ชัดเจนอิ่มตัวมากขึ้น

ภาพน้ำตก เป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่ใช้ประโยชน์ได้จากฟิลเตอร์ C-PL เพราะทำให้ได้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำลงด้วย รวมทั้งตัดเงาสะท้อนตามโขดหินและใบไม้ ทำให้สีสันอิ่มตัวขึ้นด้วย

แน่นอนว่าการสะท้อนจากแสงธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับพื้นผิวต่างๆ เช่น ใบไม้ หรือผิวน้ำ ทำให้เราไม่รู้ว่า จริงๆ แล้วใบไม้มีสีเขียวสด หรือสายน้ำนั้น ใสแจ่วจนมองทะลุลงไปยังพื้นด้านล่างได้ เพราะการสะท้อนมันเหมือนม่านบางๆ ที่บดบังสีสันต่างๆ เหล่านั้น ไม่ให้เรามองเห็นได้นั้นเอง

ฟิลเตอร์ C-PL มีคุณสมบัติในการสะท้อนแสงต่างๆ เหล่านั้นออกไป ช่วยให้มองเห็นพื้นผิวที่แท้จริง รวมทั้งตัดแสงสะท้อนที่มีอยู่ในท้องฟ้าให้หายไปด้วย ทำให้เรามองเห็นท้องฟ้าสีฟ้าได้เด่นชัดมากขึ้นนั่นเอง แต่กรณีนี้ ท้องฟ้าจะต้องมีสีฟ้าอยู่บ้างนะครับ แบบเมฆขาวหนาๆ หรือฟ้าหม่นๆ C-PL ช่วยไม่ได้แน่ๆ

ชิฟท์ไวท์บาลานซ์ที่ตัวกล้อง เพื่อให้ได้สีสันตามที่ต้องการ

ถ่ายภาพด้วยไวท์บาลานซ์ Daylight สีสันที่ได้ยังไม่จัดจ้านมากนัก

ปรับชิฟท์ไวท์บาลานซ์ ไปทางส้มแดง เพื่อให้สีสันเข้มและอิ่มตัวมากขึ้น

ช่างภาพ Landscape มักจะรู้กันดีว่า การบันทึกภาพในสภาพแสงธรรมชาติ หลายๆ ครั้ง เราก็เอาแน่เอานอนกับการสร้างสรรค์ของธรรมชาติได้ อย่างการถ่ายภาพ พระอาทิตย์ขึ้น หรือพระอาทิตย์ตก ซึ่งปกติก็มักจะมีสีสันแดงฉาน ทาบทาก้อนเมฆแผ่กระจายเต็มท้องฟ้า แต่ในบางครั้งสีสันต่างๆ เหล่านั้นก็หดหายไป ซึ่งเราไปกำหนดธรรมชาติไม่ได้อยู่แล้ว เราจึงต้องมากำหนดที่ตัวกล้องแทน ซึ่งตัวควบคุมในเรื่องของสีสันก็คือ ไวท์บาลานซ์นั่นเอง สีจะตรงหรือสีจะเพี้ยนก็ขึ้นอยู่กับไวท์บาลานซ์เป็นหลักล่ะครับ

ปรับชิฟท์ไวท์บาลานซ์ไปทางโทนเหลืองแดง เพื่อให้ได้โทนภาพที่อุ่นขึ้น

เมนูไวท์บาลานซ์ของกล้องจะมีค่ามาตรฐานให้เลือกตั้ง อาทิ Auto, Daylight, Tungsten หรือ Cloudy ซึ่งกล้องจะปรับสีสันของภาพให้สัมพันธ์กับไวท์บาลานซ์ที่ตั้งใช้ แต่กล้องไม่รู้ว่า เราถ่ายภาพอยู่ในสภาพแสงแบบไหน จึงทำให้บางครั้ง ภาพที่ได้มีสีสันไม่สดใสตามที่ต้องการ ดังนั้นเราจึงต้องใช้วิธีชิฟท์ไวท์บาลานซ์เพื่อให้ได้สีสันตามที่ต้องการ โดยเบื้องต้นคือใช้ไวท์บาลานซ์แบบ Daylight เนื่องจากกล้องจะไม่ตัดแสงสีใดๆ ออกไป แล้วปรับโทนสีของภาพในเมนูไวท์บาลานซ์ชิฟท์ ไปตามโทนที่ต้องการ เช่น โทนส้มแดง หรือโทนม่วง เป็นต้นครับ เมื่อถ่ายภาพเสร็จแล้ว ก็ต้องปรับกลับคืนให้เป็นค่า 0 (ศูนย์) เพื่อกล้องจะไม่ปรับค่านั้นๆ กับการถ่ายภาพอื่นๆ ด้วย

เรื่องและภาพ : พีร วงษ์ปัญญา