Knowledge

ถ่ายด้วยเลนส์ ช่วงไหนดี !

การออกทริปแต่ละครั้ง มักจะมีคำถามมากมายจากผู้ร่วมเดินทาง คำถามแรกที่มักจะพบบ่อยๆ ก่อนออกเดินทางคือ “ทริปนี้ควรเตรียมเลนส์ช่วงไหนไปดี ?” สำหรับคนที่ไม่เคยไปสถานที่นั้นๆ มาก่อน คำถามนี้บอกถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อไม่พลาดโอกาสสำคัญในการเก็บภาพ เพราะการที่ไม่ทราบว่าสถานที่จะไปนั้นมีลักษณะอย่างไร สามารถเข้าใกล้สิ่งที่จะถ่ายได้มากน้อยแค่ไหน เป็นตัวแปรที่ค่อนข้างสำคัญ สำหรับทริปท่องเที่ยวถ่ายภาพวิวทิวทัศน์แบบทั่วๆ ไป ถ้าเจอคำถามนี้จากนักถ่ายภาพมือใหม่ก็มักจะแนะนำให้เตรียมอุปกรณ์ที่มีช่วงทางยาวแบบครอบคลุมตั้งแต่มุมกว้างไปจนถึงช่วงเทเลต้นๆ เนื่องจากพื้นฐานความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของแต่ละคนอาจจะหลากหลาย การเตรียมตัวให้พร้อมมากที่สุด จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีโดยเฉพาะมือใหม่ บางครั้งกระบวนการคิดต่างๆ อาจจะช้า ถ้าสถานการณ์มีข้อจำกัดมากๆ อุปกรณ์พร้อมก็จะช่วยให้เก็บภาพได้ง่ายมากขึ้น..

ต่อจากคำถามแรกสำหรับมือใหม่ที่เจอบ่อยไม่แพ้กันคือ ถ่ายด้วยเลนส์ช่วงไหนดี ? สำหรับคำถามนี้ ไม่สามารถตอบแบบฟันธงได้แป๊ะๆ ว่าควรถ่ายด้วยเลนส์ช่วงไหนถึงจะดีกว่ากัน เพราะการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ทั่วไปนั้น หลายสถานการณ์พบว่า เลนส์ช่วงไหนก็ถ่ายได้ดี ขึ้นอยู่กับว่ามองเห็นอะไรในภาพ ต้องการนำเสนอสิ่งใด สถานการณ์ ณ เวลานั้นทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน

สำหรับมือใหม่อาจจะต้องเริ่มจากพิจารณามุมที่เราต้องการนำเสนอว่าเหมาะที่จะถ่ายด้วยเลนส์ช่วงไหน ซึ่งการเลือกใช้เลนส์ช่วงไหนถึงจะดีนั้น ขั้นแรกต้องมีทักษะความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับช่วงเลนส์ที่จะหยิบขึ้นมาใช้ก่อน เลนส์มุมกว้าง ช่วงกลาง ช่วงเทเลให้ผลกับภาพอย่างไร เลนส์มุมกว้างมากๆ จะเก็บบริเวณรอบๆ ได้มาก แต่เพอร์สเปคทีฟของเลนส์จะทำให้สิ่งที่อยู่ในภาพดูเล็กและไกลกว่าความเป็นจริงมาก เวลาถ่ายอาจต้องเข้าใกล้หรือไม่ก็ต้องหาฉากหน้าดีๆ เข้ามาเสริม ไม่เช่นนั้นภาพอาจเวิ้งวางขาดความน่าสนใจ เลนส์ช่วงนี้จึงเหมาะกับการเก็บภาพรวมๆ ที่ทุกสิ่งทุกอย่างตรงหน้าประกอบกันขึ้นมาแล้วสวย ถ้าเก็บภาพแล้วได้สิ่งหนึ่งสิ่งใดมาแบบครึ่งๆ กลางๆ อาจทำให้ภาพดูด้อยลง

ส่วนเลนส์ช่วงกลางให้ภาพที่มีขนาดสมจริงคือ ณ ตำแหน่งที่ยืนสายตาเห็น ขนาดวัตถุเท่าไหน เมื่อถ่ายภาพออกมาก็ได้ขนาดวัตถุใกล้เคียงกับที่ตาเห็น ระยะห่างของวัตถุต่างๆ ในภาพก็จะดูสมจริงเหมือนตาเห็นเช่นกัน ส่วนมุมนั้นจะเก็บเรื่องราวได้แคบหรือกว้างนั้นขึ้นอยู่กับระยะที่เรายืนถ่ายภาพ (ถ้าอยากได้ซ้ายขวาเพิ่มมากขึ้นก็ต้องถอยไปยืนถ่ายไกลกว่าเดิม)

เลนส์ช่วงเทเลโฟโต้ เพอร์สเปคทีฟของเลนส์ก็จะตรงกันข้ามกับเลนส์มุมกว้าง ภาพที่ได้วัตถุจะดูใกล้และขนาดใหญ่กว่าที่ตาเห็น เหมาะสำหรับการถ่ายเพื่อเก็บจุดสนใจเฉพาะส่วนที่มันโดดเด่นจริงๆ โดยตัดสิ่งแวดล้อมรอบๆ ออกไปให้หมดหรือเหลือน้อยที่สุด เช่นการเน้นทิวเขาในจุดที่มีการทับซ้อนเป็นชั้นเยอะๆ หรือถ่ายแสงที่ลอดเมฆออกมาเป็นลำๆ แบบเน้นๆ

สำหรับเรื่องเลนส์ ถ้าต้องการทราบรายละเอียดแบบเจาะลึกแนะนำให้หาข้อมูลอ่านเพิ่มเติม แต่เรื่องหลักๆ ที่มีผลกับภาพที่พอจะอธิบายให้มือใหม่เข้าใจได้ง่ายๆ ก็ตามที่กล่าวข้างต้น

ดังนั้น คำถามที่ว่า ..มุมนี้ถ่ายด้วยเลนส์ช่วงไหนดี ? ต้องถามกลับว่าคิดมุกคิดมุมที่จะถ่ายทอดออกมาแบบใด เลนส์ช่วงไหนเหมาะกับภาพในสมองที่คิดได้ ณ เวลานั้น สำหรับมือใหม่กระบวนการคิดการประมวลผลอาจจะช้า แต่ควรเริ่มกระบวนการคิดลักษณะนี้ก่อนที่จะถามว่า ..ถ่ายด้วยเลนส์ช่วงไหนดี? ฝึกคิด ฝึกถ่ายบ่อยๆ ช่วงแรกๆ อาจถ่ายได้ตรงใจบ้าง ไม่ตรงใจบ้าง แต่ก็เป็นการเริ่มต้นที่ถูกต้อง..

ชีวิตกลางนํ้า.. สองภาพนี้เป็นการนำเสนอในอารมณ์การใช้ชีวิตกลางนํ้าแบบเดียวกัน แต่เลือกใช้เลนส์ช่วงไม่เหมือนกัน ภาพที่ได้จึงแตกต่างกัน ซึ่งทั้งสองภาพนี้ปรับไปตามสถานการณ์ ณ เวลานั้น ภาพใหญ่เป็นจังหวะที่นํ้ายังนิ่งเห็นเงาสะท้อนชัดเจน จึงเลือกเลนส์มาเก็บภาพมุมกว้างๆ ไว้ก่อน หลังจากนั้นสมาชิกบางส่วนเดินลงไปเก็บภาพในนํ้า เรือขยับเข้าขยับออกเกิดคลื่นน้อยใหญ่ตีกันเป็นละลอก ณ เวลานั้นก็ยังอยากเก็บจังหวะชีวิตกลางนํ้าที่เห็นตรงหน้าอยู่ จึงเปลี่ยนมาใช้เลนส์ช่วงเทเลฯ ถ่ายเน้นต้นไม้กับเงาสะท้อนที่อยู่ในระยะไกล โดยมีคนเป็นส่วนประกอบเหมือนเดิม การที่บอกว่ามุมนี้ ถ่ายด้วยเลนส์ช่วงไหนดีนั้น บางครั้งบอกได้เพราะต้องปรับไปตามสถานการณ์ไอเดียของผู้นำเสนอเป็นหลัก ถ้าเป็นมือใหม่บวกกับสถานการณ์ตรงหน้ามีข้อจำกัดมากๆ การมีอุปกรณ์ครอบคลุมจึงเป็นตัวช่วยสำคัญ และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ต้องเลือกใช้ให้เหมาะตรงกับไอเดียที่ต้องการนำเสนอ ถ้ากราดยิงแบบไม่คิด ตอนกลับมาดูภาพเกิดคำถามตามมาอีกแน่นอน ฮาฮา ..ไปถ่ายอะไรมา ?..


ถ้าคิดค้นมุมได้ดี บวกถ่ายทอดได้ดี โอกาสได้ภาพดีๆ ก็ไม่ยากเกินความสามารถ แต่ถ้าถ่ายทอดออกมาไม่ได้ดังใจ ก็ต้องเรียนรู้ฝึกฝนให้มากขึ้น ที่สำคัญต้องเปิดใจให้กว้าง เวลาประเมินผลฝีมืออย่าเข้าข้างตัวเอง การประเมินผลแนะนำให้เริ่มที่ตัวเอง ครั้งนี้กับที่ผ่านมาดีขึ้นหรือแย่ลง จากนั้นค่อยนำไปเปรียบเทียบกับคนที่อยู่สถานการณ์เดียวกัน ลองวิเคราะห์ต่อว่าคนข้างๆ คิดอย่างไร ถ่ายทอดอย่างไร มุมมองที่แตกต่างกันจะช่วยต่อยอดให้มือใหม่เรียนรู้ได้เร็วขึ้น
………………………
“..แล้ววันหนึ่งจะทราบเองว่า มุมนี้ควรจะถ่ายด้วยเลนส์ช่วงไหนถึงจะดี เพราะไม่มีใครรู้ใจเราเท่าตัวเรา..”

วิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านแบบพอเพียง.. สองภาพนี้มีไอเดียการนำเสนอคล้ายๆ กันคือ ต้องการให้เห็นเรื่องราวแบบเน้นจังหวะแอคชั่นสวยๆ โดยเก็บบรรยากาศรอบๆ เป็นองค์ประกอบด้วย ซึ่งสองภาพนี้มีข้อจำกัดที่ต่างกัน ภาพแรกเรือเข้าใกล้ตัวแบบค่อนข้ามมาก บวกกับเป็นช่วงแรกที่นํ้ายังค่อนข้างนิ่ง กลุ่มเมฆด้านหลังรับกับตัวยอที่ยกขึ้นอีกด้านหนึ่ง จึงเลือกเก็บภาพด้วยเลนส์มุมกว้าง โดยวางกล้องมุมตํ่าที่สุดเท่าที่ทำได้เพื่อให้เห็นเงาสะท้อนทั้งตัวยอที่ยกขึ้นและเก็บกลุ่มเมฆเป็นตัวบาลานซ์ด้านซ้ายขวาให้ภาพสมดุลกัน ได้เรื่องราวครบสมบูรณ์ตามที่ต้องการ

อีกหนึ่งภาพเป็นยอตัวที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกัน แต่อยู่ห่างออกไป ประกอบกับเป็นช่วงเวลาที่นํ้าไม่นิ่ง ไม่มีเงาสะท้อน แต่บนยอตัวนี้มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน แว๊บแรกที่เห็นมุมนี้ไกลๆ เข้าใจว่ามีธงรูปทรงแหลมๆ ปักอยู่บนยอตัวนี้ด้วย ซึ่งดูจากรูปทรงแล้วรู้สึกว่าชอบ จึงเลือกเลนส์ช่วงเทเลฯ มาเก็บภาพ โดยรอกดชัตเตอร์ในจังหวะที่คนกำลังก้าวขาเดินไปมา และสังเกตเห็นว่าช่วงเวลานั้นยอตัวที่อยู่ด้านหลังยกขึ้นยกลงเป็นระยะๆ เรือก็ลอยลำอยู่ในมุมที่ยอทั้งสองตัวซ้อนกันพอดี เลือกใช้เลนส์ช่วงเทเลฯ เพื่อได้สัดส่วนการล้อกันในขนาดกำลังดีจึงได้จังหวะตามที่ปรากฏในภาพ ซึ่งธงที่เห็นนั้นก็คือ ผ้าที่ขึงไว้บังแดด แต่เป็นช่วงเวลาที่ยังไม่ได้ใช้งานจึงถูกรวบด้านล่างม้วนพันๆ เอาไว้ ซึ่งจังหวะที่มองเห็นระยะไกลรู้สึกว่ายอตัวนี้เท่ห์มากๆ

สองภาพเป็นการเปรียบเทียบจากการใช้ช่วงเลนส์ที่ไม่เหมือนกัน แต่ได้ลักษณะเรื่องราววิถีชีวิตกลางทะเลสาบคล้ายกัน ขนาดของตัวแบบหลักก็ใกล้เคียงกัน ดังนั้นจึงไม่สามารถบอกได้ว่าควรถ่ายด้วยช่วงเลนส์ไหนดี เพราะนอกจากไอเดียแล้ว สถานการณ์ ณ เวลานั้นก็เป็นตัวแปรสำคัญที่เราต้องพิจารณาเลือกใช้เลนส์ให้ตรงกับมุมที่เราต้องการนำเสนอด้วย เพราะช่วงเลนส์แต่ละตัวมีคุณลักษณะต่างกันตามที่อธิบายไว้ให้ทราบคร่าวๆแล้ว ภาพนี้อาจจะขอให้เรือลอยลำเข้าไปเก็บภาพด้วยเลนส์มุมกว้างก็ได้ แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ จะไม่ได้มุมที่ตัวยอซ้อนกันในลักษณะนี้ ถ้าเข้าใกล้ถ่ายด้วยเลนส์มุมกว้าง ยอตัวที่อยู่ด้านหลังจะดูเล็กและไกล สัดส่วนจะไม่พอดีกันเหมือนในภาพ..


ทุ่งนาและขุนเขาระหว่างการเดินทาง.. เป้าหมายการเดินทางมักจะอยู่ที่จุดหมายปลายทาง แต่บ่อยครั้งที่ระหว่างทางก็มีสีสันไม่แพ้จุดหมาย เคยไหม ต้องมองแบบเหลียวหลังด้วยความเสียดายเพราะไม่มีโอกาสเก็บภาพนั้นได้ หนึ่งในโอกาสที่เก็บเกี่ยวมาได้โดยต้องยูเทิร์นรถแล้ววิ่งย้อนกลับไป ซึ่งจังหวะและโอกาสที่สัมพันธ์กันลักษณะนี้ไม่ได้หาได้ง่าย ภาพตรงหน้าเป็นทุ่งนาเขียวขจีสวยงามสุดลูกหูลูกตา ปลายฟ้ามีขุนเขาสลับซับซ้อน ดวงอาทิตย์ซ่อนตัว ปล่อยลำแสงอยู่หลังกลุ่มเมฆขนาดใหญ่ เพื่อนสมาชิกวิ่งลงไปเก็บภาพกันอย่างสนุกสนาน ทุกอย่างที่เห็นสวยงามลงตัว เลนส์มุมกว้างจึงถูกหยิบมาเก็บบันทึกภาพบรรยากาศโดยรวมไว้ เลือกมุมที่เห็นสมาชิกเป็นฉากหน้าเนื่องจากต้องการถ่ายทอดอารมณ์ความสุขของนักถ่ายภาพกลุ่มหนึ่งที่ชื่นชอบและมีความสุขกับการเก็บภาพธรรมชาติในลักษณะที่เป็นธรรมชาติ คนหนึ่งกำลังง่วนอยู่กับการปรับขาตั้งให้ได้ระดับ อีก 2 คนกำลังเก็บภาพ ลักษณะสูงๆ ตํ่าๆ ด้วยการอาศัย 2 ขาของตัวเองเป็นหลัก และอีกหนึ่งที่ใช้เลนส์ทางยาวสูงกับขาตั้งกล้องเพราะเน้นคุณภาพเป็นสำคัญ จากสถานที่โดยรวมจะเห็นว่าการเก็บภาพมุมกว้างก็ยังสามารถเลือกถ่ายทอดภาพได้หลายมุม จะเดินไปใกล้เส้นคันนาแล้วใช้เส้นเป็นตัวนำสายตาวิ่งไปที่แนวเขาด้านหลังให้ภาพออกมาเหงาๆ ก็ได้ หรือจะเลือกถ่ายมุมกว้างแล้วใช้ต้นหญ้าด้านขวาที่มีแสงริมไลท์ เป็นฉากหน้าก็ได้อีกเช่นกัน การเก็บภาพด้วยเลนส์มุมกว้างที่ว่านี้สามารถถ่ายทอดออกมาสวยและดีได้ทั้งหมด นอกจากนี้การจะถ่ายทอดด้วยเลนส์ช่วงใดนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์บวกกับสิ่งที่ต้องการนำเสนอ เพราะในหนึ่งสถาณการณ์ สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้มากมาย เช่นตัวอย่างถัดไป..

สิงโตกระโจนอยู่ท่ามกลางทุ่งหญ้าสีเขียว.. เนื่องจากกลุ่มเมฆที่รวมตัวกัน ณ เวลานั้นมีรูปร่างคล้ายสัตว์ 4 ขา กำลังกระโจนลอยตัวอยู่ในอากาศ ส่วนหน้าหัวฟูลู่ลม กระโดดเท้าคู่ ขามีกล้ามเป็นมัดๆ ทำให้นึกถึงสิงโตกระโจนอยู่กลางอากาศ อีกหนึ่งจินตนาการที่มองเห็นในเวลานั้น จึงเลือกเก็บภาพด้วยเลนส์ช่วงกลาง เพื่อเน้นส่วนที่นำเสนอให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เหตุผลที่ไม่เลือกถ่ายด้วยช่วงเทเลฯ เพราะต้องการเก็บพื้นที่สีเขียน ด้านล้างไว้ให้มีสัดส่วนเหมือนเป็นทุ่งหญ้าขนาดใหญ่ด้วย..

ลำแสงที่ปลายฟ้า.. ถ้ามองภาพโดยรวมจะเห็นลำแสงที่สาดส่องอยู่ไกลลิบบริเวณขอบฟ้า แสงเป็นลำๆ ลักษณะนี้เป็นที่ชื่นชอบสำหรับนักถ่ายภาพอยู่พอสมควร พระเอกสำหรับภาพลักษณะนี้ต้องเป็นเลนส์ช่วงเทเลฯ จึงจะเห็นลำแสงที่อยู่ปลายฟ้านั้นชัดๆ หยิบเลนส์ทางยาวสูงสุดมี เลือกจัดองค์ประกอบภาพให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสมตามทางยาวที่ใช้ ได้ภาพลำแสงท่ามกลางขุนเขากับผืนพรมสีเขียวตามที่ต้องการ อีกหนึ่งมุมในเวลาและสถานที่เดียวกัน ..ดังนั้น จึงไม่สามารถตอบได้ว่า มุมนี้ควรถ่ายด้วยเลนส์ช่วงไหนดี ถ้าไม่มีไอเดียในการเก็บภาพก่อน ภาพที่ได้อาจไม่ตรงกับความคิดโดยเฉพาะมือใหม่ ถ้ามองสถาน-การณ์ตรงหน้าไม่ออก มีโอกาสที่จะเห็นไม่เหมือนกันค่อนข้างสูง จึงแนะนำให้คิดก่อนถ่าย ไม่ต้องไปยึดติดว่ามุมนี้ถ่ายด้วยเลนส์อะไรถึงจะดี..

เรื่อง/ภาพ : ฤทัยรัตน์  พวงแก้ว


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หรือสนใจดูเทคนิค How To ที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/tip-trick/leaning-by-doing