Knowledge Photography

ตากล้องต้องรู้ : 7 เรื่องที่มักเข้าใจผิด

 

ตากล้องต้องรู้ :

7 เรื่องที่มักเข้าใจผิด

มีหลายๆ เรื่องถ่ายภาพ ที่ช่างภาพ, ตากล้อง หรือผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพหลายๆ คนยังเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับการถ่ายภาพ หรือการตั้งค่ากล้อง อาทิ

– ห้ามฟอร์แมทเมมกล้อง

เข้าใจว่า : ข้อมูลของเมมกล้องจะหายไป ทำให้เมมกล้องเสีย

ความจริง : การฟอร์แมทเมมกล้อง จะเป็นการล้างข้อมูลส่วนเกินและสร้างโปรไฟล์ของกล้องในเมมกล้องให้ทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น ตากล้องควรจะทำ เมื่อโหลดรูปออกจากกล้องไปแล้ว ซึ่งการฟอร์แมทการ์ดนั้น จะไม่ทำให้โปรไฟล์ของการ์ดใบนั้น หายไป

– ใส่ซิลิก้าเจลไว้ในกระเป๋ากล้อง

เข้าใจว่า : จะช่วยดูดความชื้นในกระเป๋ากล้องได้

ความจริง : ซิลิก้าเจลจะทำงานได้ดีในพื้นที่ปิดสนิท ไม่มีอากาศถ่ายเทเท่านั้น เช่น กล่องที่มีฝาปิดสนิทหรือถุงพลาสติกที่รัดปากถุงให้สนิท แต่กระเป๋ากล้องอากาศสามารถผ่านได้ ดังนั้นตากล้องเอาซิลิก้าเจลใส่กระเป๋ากล้อง ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร

 

– มีระบบกันสั่น ภาพชัดแน่นอน

เข้าใจว่า : มีระบบกันสั่น ช่วยให้ภาพไม่เบลอ ถ่ายยังไงก็ชัด

ความจริง : ระบบกันสั่นจะช่วยลดการสั่นไหวได้ประมาณ 3-4 สตอปจากความเร็วชัตเตอร์ปกติ ซึ่งคำนวณคร่าวๆ จากค่า 1/ทางยาวโฟกัสของเลนส์ เช่น ใช้เลนส์ 50มม. ความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมก็คือ 1/50 วินาที หรือสูงกว่า ดังนั้นความเร็วชัตเตอร์ที่ชดเชยได้ 4 สตอปคือ คือ 1/3 วินาที แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการจับถือของตากล้องเองด้วย ถ้าชัตเตอร์ต่ำมากๆ ก็ยังทำให้ภาพเบลอได้ และวิธีนี้จะใช้ไม่ได้กับซับเจคต์ที่มีการเคลื่อนไหว เพราะอาจจะชดเชยกล้องสั่นได้จริง แต่ความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ ก็ไม่สามารถหยุดจังหวะการเคลื่อนไหวของซับเจคต์ได้ ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

– ปิดกันสั่น เมื่อใช้ขาตั้งกล้อง

เข้าใจว่า : ต้องปิดระบบกันสั่นทุกครั้ง เมื่อตั้งกล้องบนขาตั้งกล้อง

ความจริง : ไม่ใช่ทุกๆ ครั้ง ครับ บางครั้งตากล้องก็ใช้เลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้ ถ่ายภาพในระยะไกล โอกาสสั่นได้เช่นกัน ทั้งจากกำลังขยายสูงๆ ทั้งจากการกระดกของกระจกสะท้อนภาพ ของกล้อง DSLR เมื่อม่านชัตเตอร์เปิดรับแสง ที่อาจจะทำให้กล้องสั่นได้ กรณีแบบนี้ ไม่ต้องปิดระบบกันสั่น

– ND ใช้แทน CPL ได้

เข้าใจว่า : ใช้สำหรับลดแสงที่จะเข้ามาในกล้องได้เหมือนกัน

ความจริง : ทั้ง ND และ CPL ต่างมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ทั้งคู่ใช้ลดความเข้มแสงที่จะเข้ามาในกล้องได้ แต่ ND ใช้ตัดแสงสะท้อนที่พื้นผิวไม่ได้เหมือน CPL และการลดความเข้มของแสงที่จะเข้ามาในกล้อง ฟิลเตอร์ ND ก็มีให้เลือกได้หลายระดับความเข้ม ตั้งแต่ ND2 ลดแสงไปได้ 1 สตอป ไปจนถึง ND1000 ลดแสงไปได้ 10 สตอป รวมทั้งมีแบบ Graduate ND หรือแบบแผ่นครึ่งซีก สำหรับลดแสงในบางส่วนของเฟรมภาพ และ ND Variable หรือ ND Adjustable ที่สามารถปรับเปลี่ยนความเข้มแสงได้ โดยการหมุนปรับที่ตัวฟิลเตอร์ ซึ่งตากล้องต้องเลือกใช้งานให้ถูกกับรูปแบบภาพที่ต้องการด้วย

อยากเข้าใกล้ ก็ใช้ซูมเอา

เข้าใจว่า : ใช้เลนส์ซูม อยากจะเข้าไปใกล้ๆ ซับเจคต์ ก็ใช้วิธีปรับซูมเลนส์เอา

ความจริง : เลนส์แต่ละช่วงจะมีมุมรับภาพที่แตกต่างกัน การซูมเลนส์ ทำให้ได้ภาพใหญ่ขึ้นจริง แต่พื้นที่ของฉากหลังในเฟรมภาพ ก็จะแตกต่างกันด้วย ดังนั้น ตากล้องต้องใช้วิธีขยับเข้าหาซับเจคต์เอง เพื่อรักษามุมมองด้านหลังเอาไว้สำหรับนำเสนอเรื่องราวของภาพ แต่ถ้าจะซูมเพื่อเน้นนำเสนอเฉพาะส่วนนั้นๆ ก็อีกเรื่องหนึ่งครับ

– ลดความละเอียดกล้อง จะถ่ายรูปได้เยอะๆ

เข้าใจว่า : ไม่ต้องถ่ายเต็มความละเอียดกล้อง เพราะเปลืองเมม ลดความละเอียดลง จะทำให้ถ่ายรูปได้เยอะขึ้น

ความจริง : เมื่อตากล้องซื้อกล้องความละเอียดสูง ก็ต้องถ่ายภาพให้เต็มความละเอียดของกล้อง เผื่อต้องครอบตัดส่วนภาพในภายหลัง โดยจะยังคงได้คุณภาพที่ดีอยู่ รวมทั้งเมื่อต้องย่อภาพ ก็ยังคงให้คุณภาพและความคมชัดที่มากกว่าไฟล์ภาพขนาดเล็ก เมื่อนำมาย่อในขนาดที่เท่าๆ กัน นอกจากนี้เมมโมรี่การ์ด ยังมีราคาที่ถูกลงเป็นอย่างมาก ดังนั้น ตั้งความละเอียดภาพที่คุณภาพสูงสุดดีกว่าครับ

เรื่อง : พีร วงษ์ปัญญา