Photography Planner

ตลาดเช้า ลาวใต้ Plan A

หากเอ่ยถึง “ลาวใต้” ขึ้นมา ร้อยทั้งร้อยก็มักจะนึกถึงภาพของน้ำตกน้อยใหญ่หลายแห่ง  รวมไปถึงปราสาทหินวัดพู มีบ้างที่ไร่และร้านกาแฟสดมากมายเป็นหมุดหมายที่ปักไว้  แต่ผมเชื่อว่าน้อยคนเต็มทีที่จะมี “ตลาดเช้า” วางไว้เป็นหนึ่งในจุดหมายของการเดินทาง

อันที่จริง การเดินทางหนนี้ ก็ไม่ได้มีตลาดเช้าเป็นจุดหมายหลักหรอกครับ เพียงแต่ว่า สมาชิกร่วมทางทุกคนกลับชมชอบการเดินเที่ยวตลาดเช้าโดยพร้อมเพรียงอย่างมิได้นัดหมาย ไม่ว่าจะเป็น “พี่สันต์” ศรันย์ บุญประเสริฐ “พี่โป้ง” นคเรศ ธีระคำศรี หรือ “พี่เอ” รุ่งโรจน์ จุกมงคล ทริปนี้ พี่โป้งกับพี่เอไปทำงานร่วมกัน ในฐานะช่างภาพ และนักเขียน เพื่อทำไกด์บุ๊คท่องเที่ยวลาวใต้โดยเฉพาะ ส่วนพี่สันต์ถูกเชิญชวนไปในฐานะผู้เชี่ยวชาญพื้นที่และภาษาท้องถิ่น

ส่วนผมตำแหน่งหลักคือหลังพวงมาลัย เป็น “พลขับ” ประจำทริป การถ่ายภาพถูกวางเพียงหน้าที่รอง ซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่ต้องถ่ายเลยก็ยังได้ครับ เพราะ “พี่โป้ง” เอาอยู่แน่นอน แต่ว่างๆ ไม่มีอะไร ยังไงผมก็ต้องถ่ายภาพด้วยอยู่แล้ว เป็นการถ่ายภาพที่ผมสบายใจมากๆ เลยครับ เพราะไม่ต้องแบกความเครียดใดๆ ไว้สักนิด แถมยังได้เห็นไอเดีย มุมมอง ในการถ่ายภาพจาก “รุ่นใหญ่” เป็นของแถมอีกต่างหาก

จุดประสงค์หลักของการเดินทางครังนี้ คือการเก็บภาพสถานที่ท่องเที่ยวหลักๆ ทั้งเก่าใหม่ ตามข้อมูลที่พี่เอเตรียมมาไว้ให้ครบถ้วน ส่วนเรื่องตลาดเช้าก็อย่างที่ว่า มันแทบไม่ได้มีเอี่ยวเกี่ยวข้องใดๆ เลย กับงานไกด์บุ๊คที่จะทำ แต่ด้วยความชอบส่วนตัวที่ตรงกัน เราจึงแบ่งเวลาเกือบจะทุกเช้า เดินเข้า-ออกตลาดกันเป็นว่าเล่น ส่วนใหญ่ก็จะแยกย้ายกันเดิน แล้วค่อยกลับมาเจอกันเมื่อถึงเวลานัดหมาย

ที่เป็นดังนี้เพราะการเดินถ่ายภาพวิถีชีวิตผู้คนนั้น หากไปกันเป็นกลุ่ม จะเป็นการลดโอกาสในการถ่ายภาพลงไปมากกว่าจะส่งเสริมกันนะครับ เพราะจะทำให้ผู้ถูกถ่ายเกิดอาการ “ตื่นกล้อง” ขึ้นมาได้ง่ายๆ ไหนจะยังมีเรื่องการแย่งสายตา การบังมุมบังทางกันเองอีก (โดยเฉพาะในตลาดซึ่งสถานที่มันคับแคบจำกัดโดยธรรมชาติอยู่แล้ว)

พี่ๆ เขาจะชอบเดินตลาดด้วยเหตุผลกลใด ผมก็ไม่แน่ใจ ทว่าส่วนตัวผมชอบเดินดูผัก ปลา และผลหมากรากไม้ รวมไปถึงอาหารและขนมประจำถิ่นนั้นๆ ก็คือดูอะไรที่ตัวเองชอบกินเป็นหลักนั่นล่ะครับ ว่ามันมีอะไรเหมือนหรือแตกต่างจากที่เราเคยลองลิ้มชิมรสไปบ้าง ถ้ามีโอกาสก็จะซื้อติดมือติดปาก ลองชิมไปเรื่อยนั่นล่ะครับ

ในแง่ของการถ่ายภาพ ตลาดถือเป็นจุดดหมายโดยส่วนตัวอย่างหนึ่งของผมก็ว่าได้ ไม่ว่าจะดั้นด้นเดินทางไปยังแห่งหนตำบลใดบนโลกใบนี้ ผมจะพยายามมองหา “ตลาด” อยู่เสมอ ทั้งตลาดประจำท้องถิ่น และตลาดนัด เห็นเมื่อไรก็ต้องเดินเข้าไปหาทุกที มันมีแรงดึงดูดใจเสียยิ่งกว่าสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของเมืองนั้นๆ ซะอีกครับ

 “ในตลาดมีอะไรให้ถ่ายภาพด้วยหรือ?”

 “ตลาดเช้าบ้านขี้นาก” เนื่องจากตลาดเช้าในลาวใต้ส่วนใหญ่มักจะขายกันในพื้นที่ค่อนข้างโล่งอย่างนี้ ผมก็เลยถ่ายภาพเพื่อให้เห็นบรรยากาศทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องบรรยายอะไรมาก รอจังหวะให้บริเวณทางเดินด้านหน้าใกล้กล้อง ปลอดโปร่งคนโล่งสักหน่อย เพื่อที่จะได้เห็นแผงค้าและสินค้าต่างๆ ได้ถนัดชัดตา EOS 5D MK II, LENS Pentax SMC 16  mm. F/2.8 Fish-eye, 1/125 Sec. F/8, ISO 200

หลายท่านคงหล่นคำถามนี้ออกมาบ้างใช่ไหมครับ นั่นแสดงว่าส่วนใหญ่คุณอาจจะชอบถ่ายวิวทิวทัศน์ถ่ายสถาปัตยกรรมเลื่องชื่อเป็นหลัก แบบที่เขาเรียกกันว่า “สายแลนด์(สเคป)” นั่นเองครับ คุณก็เลยคิดไม่ออกว่า “ตลาด” มันจะมีมุมที่ “สวยงาม” ตรงไหนพอจะให้ถ่ายภาพได้

แต่สำหรับนักถ่ายภาพอีกประเภทหนึ่ง ผู้ชื่นชอบการถ่ายภาพผู้คนเป็นชีวิตจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นแนวไลฟ์ แนวสตรีท หรือแม้แต่แนวพอเทรต “ตลาด” นับได้ว่าเป็น “แหล่งรวมวัตถุดิบ” ชั้นยอดเลยทีเดียวเชียวครับ ผมเองเปรียบ “ตลาด” เป็นเหมือนดัง “โรงเรียน” สำหรับการถ่ายภาพที่เกี่ยวเนื่องกับผู้คนโดยเฉพาะ

และก็ไม่ใช่เพียงผู้คนหรอกนะครับที่ผมใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการถ่ายภาพ บรรดากองผัก ผลไม้ ปลา หรือสัตว์แปลกๆ (ในบางท้องถิ่น) ผมก็ชอบถ่ายภาพเก็บไว้เหมือนกัน เพราะหลายๆ แห่งก็ไม่ใช่ว่าแม่ค้าเขาจะกองพะเนินสุมกันไว้เฉยๆ ส่วนใหญ่เขาจะมีการจัดเรียงจัดวางแยกเป็นกองเล็กๆ ไว้อย่างสวยงาม บางแผงที่เคยเจอ ดูเหมือนอย่างกับงานศิลป์เลยก็มีนะครับเป็นเล่นไป !

และตลาดแต่ละแห่ง แต่ละประเทศมันก็มีลักษณะต่างกันออกไป ทั้งสินค้าที่วางขาย ผู้คนที่มาจับจ่าย และพื้นที่ที่ตลาดนั้นวางตัวอยู่ การเดินถ่ายภาพในตลาดสำหรับผมแล้ว มันจึงไม่ต่างอะไรกับ การได้ไปเห็นยอดเขา ทะเลสาบ ทุ่งดอกไม้ เห็นวิวทิวทัศน์แปลกใหม่ไม่คุ้นตา มันจึงมีอะไรให้ผมได้กดชัตเตอร์ถ่ายภาพอยู่เสมอๆ เผลอๆ บางทริปผมถ่ายภาพตลาดมากกว่าวิวทิวทัศน์ซะอีกนะครับ เพราะ ไม่ว่าจะเป็นเมืองไหนๆ จะเมืองเล็ก เมืองใหญ่ เมืองใหม่ เมืองเก่า ทุกเมืองล้วนต้องมี “ตลาด” ซ่อนตัวอยู่ทั้งสิ้น

“ อ๊บ อ๊บ!” มุขการเอาเลนส์มุมกว้างไปจ่อใกล้สินค้า โดยให้แม่ค้ายื่นสินค้านั้นมาหาเรา นับเป็นมุมพื้นฐานของการถ่ายภาพแนวนี้ ที่แม้มันจะดูเชยสักหน่อย แต่ก็เป็นมุมที่ยังนำมาใช้ได้อยู่ครับ แต่ก็ควรเลือกวัตถุที่ค่อนข้างน่าสนใจจริงๆ และใช้ให้น้อยๆ เข้าไว้ครับ   EOS 5D MK II, LENS EF 17-40  MM. F/4L, 1/200 Sec. F/5.6, ISO 100

สำหรับแผนการ(เดิน)ตลาด ในทริปลาวใต้ของผมครั้งนี้ ก็ไม่มีอะไรพิเศษครับ ยิ่งผมไม่ใช่ช่างภาพหลักอยู่แล้ว ไม่มีใบสั่ง ไม่มีไฟท์บังคับผมว่าต้องถ่ายอะไรยังไง ผมก็ถ่ายภาพตามใจสบายแฮ แบบว่าไปวางแผนเอาหน้างานหน้าตลาดโน่นเลยครับ

ต้องทำความเข้าใจกันก่อนนะครับว่า ตลาดแต่ละแห่งมันก็มีพื้นที่ มีผู้คนที่แปลกแตกต่างกันออกไป การวางแผนการถ่ายภาพจึงไม่เหมือนกันซะทีเดียว โดยเฉพาะในเรื่องของอุปกรณ์ ตลาดบางแห่งตามเมืองใหญ่ๆ มักจะมีผู้คนเนืองแน่น แต่พื้นที่เล็กนิดเดียว บางแห่งแทบจะต้องเดินไหลๆ ตามกันไปก็มี ตลาดประเภทนี้ อุปกรณ์ควรจะต้องน้อยที่สุด หากเป็นไปได้ ใช้กล้องกับเลนส์ตัวเดียวจบ จะเลนส์ซูมหรือเลนส์เดี่ยวอะไรก็ได้ ตามความถนัดครับ เพื่อจะได้ไม่เกะกะเวลาเดิน ไม่ต้องพะวงกลัวของสูญหายหรือเสียหายจากกระชน กระแทก เบียดเสียด ฯลฯ

แต่กับตลาดในเมืองต่างๆ ของลาวใต้ มันเป็นอีกแบบหนึ่งครับ ส่วนใหญ่ตลาดเช้าในลาวใต้ จะวางขายกันบนลานดินโล่งๆ ถ้าเจริญหน่อยก็เทปูนเป็นพื้นและมีอาคารเป็นหลังคาสูงเปิดโล่ง แต่ก็ไม่ได้ใหญโตอะไร ส่วนมากจะล้นออกมาเป็นแผงแบกะดินรอบๆ อยู่ดี

ปริมาณคนมาเดินตลาด ถือว่ากำลังดีสำหรับการถ่ายภาพ คือไม่แน่นจนเกินไป พอมีจุดให้ยืนถ่ายภาพนิ่งๆ แบบไม่เกะกะคนอื่นได้บ้าง และก็ไม่ว่างเปล่าโหรงเหรงจนบรรยากาศหงอยๆ ไม่ชวนถ่ายภาพเอาเสียเลย

ผมยังเอาอุปกรณ์ถ่ายภาพชุดใหญ่จัดเต็มไปเหมือนเคยครับ เพราะขับรถไปกันเอง แต่พอจะเข้าตลาด ผมก็จะจัดชุดอุปกรณ์ใหม่ ให้คล่องตัวขึ้น โดยกระเป๋าใหญ่แบบเป้หลังไม่เอาไป ถ้าไม่ทิ้งไว้ในห้องพัก ก็จะใส่ไว้ในกระบะหลังรถซึ่งมีที่ปิดมิดชิดปลอดภัย เลือกอุปกรณ์เฉพาะที่คิดว่าจะมีโอกาสได้ใช้ เอาใส่กระเป๋าแบบคาดเอวไป

 “…..” แผงนี้เห็นภาพก็ไม่ต้องบรรยายอะไรให้มากความจริงไหมครับ ?  แม้แสงจะเรียบๆ แบนๆ ไม่ดีเด่นอะไร แม่ค้าก็แต่งตัวธรรมดา หน้าตาธรรมดา  แต่ด้วยตัวสินค้ามันมีความน่าสนใจในตัวเองซะขนาดนี้ยังไงก็ต้องถ่ายไว้แน่นอน รอถ่ายในจังหวะที่แม่ค้ายกไม้ปัดแมลงวันกวาดไปมา เพื่อให้ภาพมันดูมีอะไรขึ้นมาอีกนิดนึง และแน่นอนว่าก่อนถ่ายผมต้องเข้าไปพูดคุย ทักทายกับแม่ค้าให้ดีซะก่อนครับ อาศัยว่า หน้าตาท่าทางเป็นนักท่องเที่ยวแน่ๆ ถ่ายภาพไปก็คงไม่มีผลอะไร ไม่ได้เอาภาพไปฟ้องร้องหน่วยงานที่ไหน เธอจึงยอมให้ถ่ายภาพตามสบาย นี่ถ้าเปลี่ยนแผงนี้มาโผล่ในตลาดบ้านเรา แล้วผมถ่ายภาพฉับเข้าให้โดยไม่ได้ขออนุญาต ก็อาจเสี่ยงต่อการมีเรื่องได้เหมือนกันนะครับ การประเมินสถานการณ์ตรงหน้าว่าจะใช้วิธีการเข้าหาสิ่งที่จะถ่าย แบบไหน ? อย่างไร ? หรืออาจไม่ควรถ่ายเลย ? มันมีความสำคัญเสียยิ่งกว่าเทคนิคการถ่ายภาพซะอีกครับ EOS 5D MK II, LENS EF 17-40  MM. F/4L, 1/160 Sec. F/5.6, ISO 250

ซึ่งมันประกอบไปด้วยเลนส์ฟิชอาย 1 ตัว เลนส์ซูมมุมกว้าง 1 ตัว เลนส์นอร์มอล 1 ตัว และเลนส์เทเลฯซูมอีก 1 ตัว ใช้กล้องหนึ่งตัวประกอบเลนส์ไว้ อีก 3 ตัวใส่กระเป๋าคาดเอวคอยปรับเปลี่ยนออกมาใช้ตามสถานการณ์ที่เหมาะสม ถ้าจะเก็บรรยากาศโดยรวม ผมก็จะเอาเลนส์ซูมมุมกว้างออกมาใช้ หรือไม่ก็เลยเถิดไปจนถึงฟิชอายเลยก็มี แต่ถ้าจะถ่ายแค่แม่ค้ากับกองสินค้าที่อยู่ตรงหน้า อันนี้ส่วนใหญ่มักจะเป็นหน้าที่ของเลนส์ซูมมุมกว้างครับ (หรือถ้าใครถนัดเลนส์เดี่ยวแนะนำว่าสัก 28 มม. หรือกว้างกว่าหน่อย เพราะพื้นที่ค่อนข้างจำกัด ไม่สามารถถอยห่างทิ้งระยะได้ – อันนี้ก็แล้วแต่ความถนัดด้วยนะครับ เพราะชาวสตรีทส่วนใหญ่ผมเห็นเขาชอบใช้ 35 มม.เป็นหลัก)

ส่วนเลนส์นอร์มอล ผมมักจะเอาไว้ถ่ายกองสินค้า กับถ่ายพอเทรตแม่ค้าแบบครึ่งตัว หรือเต็มหน้า หรือเอาไว้ใช้เมื่อต้องการเปิดช่องรับแสงกว้างๆ เพื่อทิ้งฉากหลังให้เบลอมากๆ หรือในสถานการณ์ที่แสงน้อยมากๆ ในบางมุมของตลาด และสำหรับเทเลฯซูมที่ปกติไม่ค่อยจะได้ใช้ถ่ายในตลาดสักเท่าไร แต่ตลาดลาวใต้ถือเป็นข้อยกเว้นครับ เพราะก็อย่างที่บอกว่าพื้นที่มักเป็นลานโล่ง ผู้คนก็ไม่มากเกินไป พอจะมีที่ยืนที่ถอยไปแอบเก็บภาพแบบแคนดิทจากระยะไกลได้บ้าง

เท่าที่สังเกตุได้ ตลาดเช้าลาวใต้จะมีช่วงเวลาที่คึกคักอยู่ในระหว่างหกโมงกว่าๆ ถึงประมาณแปดเก้าโมงเช้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีแสงเฉียงๆ เหมาะกับการถ่ายภาพพอดีครับ ไม่ว่าถ่ายแบบจะตามแสงหรือย้อนแสงก็ตาม แม้ว่าจริงๆ แล้วแสงอาจจะไม่ใช่ปัจจัยหลักสำหรับถ่ายภาพในตลาดก็ตามที แต่การได้แสงสวยๆ ดีๆ มาช่วยในบางมุมก็ทำให้ได้ภาพที่สวยงามขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย หลังจากช่วงเวลานั้นผู้คนก็จะเริ่มบางตาลงเรื่อยๆ เหลือเฉพาะส่วนร้านอาหารและร้านโชว์ห่วยทั่วไป

สิ่งสำคัญในการถ่ายภาพตลาดในความเห็นของผม คือบรรยากาศในภาพ หรือสีหน้าท่าทางและอารมณ์ต่างๆ ของผู้คน มากกว่าเรื่องอื่นๆ ครับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะได้มาก็ด้วยการสังเกตุ และความฉับไวในการถ่ายภาพ ที่ต้องเดาเหตุการณ์ล่วงหน้าได้นิดหน่อย และพร้อมจะฉกฉวยช่วงเวลาสั้นๆ ในวินาทีนั้นได้ทัน

หรือจำพวกสินค้าแปลกๆ ที่หาจากที่อื่นไม่ได้ ผมก็พยายามมองหาและถ่ายภาพเก็บไว้  เพราะมันก็เหมือนกับเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของตลาดนั้นๆ ได้เช่นกัน

 “แบกะดิน” ภาพนี้ผมเลือกใช้เลนส์นอร์มอล เพื่อจำกัดขอบเขตของภาพให้อยู่เฉพาะในจุดที่ต้องการจริงๆ ก็คือแผงเล็กๆ ที่แม่ค้าใส่หมวกแบบเวียดนามอย่างที่เห็นนี่ล่ะครับ คือถ้าถ่ายด้วยเลนส์มุมกว้างก็ได้ แต่ฉากหลังมันก็จะเต็มไปด้วย แผงอื่นๆ ผู้คนเดินไป เดินมา เศษขยะ ฯลฯ ซึ่งมันจะรบกวนสิ่งต่างๆ ที่ผมจะนำเสนอในภาพนี้ให้ด้อยลงไป ครั้นจะเลือกใช้เลนส์ช่วงเทเลฯกว่านี้มันก็ไม่มีที่ทางจะให้ถอยได้สักเท่าไร เลนส์นอลร์มอลจึงเป็นอะไรที่ลงตัวสำหรับแนวความคิดในการถ่ายภาพนี้ของผมครับ EOS 5D MK II, LENS Carl Zeiss Planar 50 mm. F/1.4 T*, 1/800 Sec. F/8, ISO 200

พวกนี้ต่อให้แสงดีไม่ดียังไงผมก็ถ่ายไว้ก่อนครับ ใช้การจัดองค์ประกอบภาพ ฉากหลัง เล่นเรื่องเส้น สี ทรง อะไรพวกนี้ ให้เต็มที่ ถ้าได้แสงดีด้วยมันก็ดี แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะของทุกอย่างมันก็มีข้อจำกัดของมันอยู่  จะจับย้ายที่ไปวางตรงแสงสวยๆ ก็อาจทำได้ครับ แต่ไม่ใช่จะทำได้ทุกครั้งเสมอไป และถ้าทำบ่อยๆ ก็จะติดนิสัยเป็นแนวจัดถ่ายอยู่ร่ำไป ซึ่งเป็นแนวที่ผมไม่ถนัดเลยจริงๆ ครับ

หากเป็นตลาดขนาดเล็ก ผมก็มักจะยืนดูลาดเลาอยู่รอบนอกสักพักหนึ่งก่อน มองหาจุดน่าสนใจจริงๆ พร้อมกับคิดภาพอย่างที่ต้องการล่วงหน้าไว้ในใจ จากนันก็เปลี่ยนเลนส์ที่คาดว่าน่าจะให้ภาพตรงกับที่ต้องการ แล้วก็เดินตรงเข้าไปยังจุดที่เล็งไว้ อาจต้องหยุดรอจังหวะเวลาอีกที เพื่อกดชัตเตอร์เพียงครั้งสองครั้งให้อยู่มือ เพราะถ้าไม่จบและต้องถ่ายซํ้า บรรยากาศและอารมณ์ของคนแถวนั้นจะผิดไปจากเดิมแล้วนะครับ ถ้าไม่เกรงจนแข็ง ก็ยิ้มหวานหัวเราะร่ากันสนุกสนานเถิดเทิงไปเลย!

ซึ่งมันก็อาจจะยังได้ภาพที่ดีอยู่ แต่อาจไม่ตรงกับความต้องการในครั้งแรกเท่านั้นเองครับ

 “ขนเป็ด” นอกจากในตัวตลาดแล้ว ผมยังมักเดินวนรอบนอกอีกด้วยครับ โดยเฉพาะตลาดในย่านอินโดจีน เพราะผมมักพบว่า บางทียานพาหนะในการเดินทางมาตลาดกระทั่งวิธีการขนสินค้า มันก็มีความน่าสนใจไม่ใช่น้อยเหมือนกัน EOS 5D MK II, LENS EF 17-40  MM. F/4L, 1/200 Sec. F/5.6, ISO 50

หลังจากได้ภาพหลักเรียบร้อย ผมก็จะเดินชมโน่น นี่ นั่นไปเรื่อยๆ โดยมักติดเลนส์ซูมมุมกว้าง หรือไม่ก็นอร์มอลค้างไว้ เพราะเป็นเลนส์ที่มีโอกาสใช้บ่อยกว่าอีกสองตัวที่เหลือ เจออะไรน่าสนใจก็ยิ้มแย้มให้แม่ค้าเป็นการทักทายและขออนุญาตไปด้วยในตัว ไม่ว่าจะเป็นการขอเพื่อถ่ายแม่ค้าโดยตรง หรือเพียงถ่ายสินค้าก็ตามที

ส่วนใหญ่แล้วแม่ค้าชาวลาวใต้ มักจะยิ้มกลับมาเป็นสัญญาณตอบรับว่าให้ถ่ายภาพได้เสมอๆ น้อยคนน้อยครั้งเต็มที ที่เธอจะบ่ายเบี่ยงไม่ยอมให้เราถ่ายภาพ ซึ่งโดยมากเป็นเหตุผลทางด้านความเอียงอายมากกว่าความไม่พอใจอีกต่างหาก บางครั้งผมจึงต้องเริ่มต้นด้วยการชวนคุยก่อนจะยกกล้อง ถามเกี่ยวกับสิ้นค้านั้นๆ ไปก่อน เป็นต้นว่า ผักนี้ภาษาลาวเรียกว่าอะไร รสชาติเป็นยังไง สัตว์หรือปลา ตัวนั้นๆ ชื่ออะไร ได้มาอย่างไร ฯลฯ

ส่วนหนึ่งก็เพราะความอยากรู้อยากเห็นจริงๆ แต่ยอมรับตามตรงครับว่าอีกส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศฉันท์มิตรให้เกิดขึ้น เป็นการปูทางเพื่อการถ่ายภาพอย่างที่เราตั้งใจไว้แต่แรก เพราะถ้าไม่ใช้วิธีการคุยนำไปก่อน โอกาสจะได้ภาพก็แทบเป็นศูนย์เหมือนกัน

 “ ….. ” โอกาสในการถ่ายภาพในตลาดด้วยเลนส์ช่วงเทเลโฟโต้ ตามปกติมีค่อนข้างน้อยถึงน้อยมาก ด้วยพื้นที่อันจำกัดคับแคบของตลาดส่วนใหญ่นั่นเอง ทว่าตลาดตามเมืองเล็กๆ ในลาวใต้ เป็นข้อยกเว้นครับ เพราะมักจะตั้งขายกันในที่เปิดโล่ง และประชากรชาวตลาดก็ไม่ได้มีความหนาแน่นจนเกินไป พอมีที่ทางให้ถอยไปซุ่มหามุมเก็บภาพได้บ้าง ซึ่งก็มักจะต้องเป็นภาพแบบที่เน้นจุดสนใจอย่างใดอย่างหนึ่งให้เด่นชัดขึ้นมาอย่างในภาพนี้ไม่ต้องบอกก็คงรู้ว่าสิ่งนั้นก็คือ “หมวกเวียด” นั่นเอง ส่วนดูแล้วจะมองแค่เรื่องแสงเงา หรือจะตีความหมายอะไรให้ลึกลงไปกว่านั้นอีกก็ตามใจไม่ว่ากันครับ EOS 5D MK II, LENS EF 70-200  MM. F/4L IS, 1/400 Sec. F/4.5, ISO 200

ในเรื่องนี้ต้องอาศัยประสบการณ์ หรือสัญชาตญาณในการประเมิน สถานการณ์หรือผู้คนตรงหน้าเอาเองนะครับว่า ควรจะใช้วิธีการเข้าหาอย่างไร จะเดินเข้าไปยกกล้องกดเลยแบบไม่ให้ทันตั้งตัวก็ได้ หรือใช้ยิ้มนำทางไปก่อนก็ได้ภาพเหมือนกัน แต่อารมณ์ของภาพอาจจะต่างกัน และอารมณ์ของผู้ถูกถ่ายภาพก็ย่อมแตกต่างกันด้วย

แต่ส่วนมากแล้ว พ่อค้าแม่ขายชาวลาวใต้ ล้วนยิ้มแย้มแจ่มใสใจดีไมตรีเป็นเลิศ การเดินเก็บภาพตลาดเช้าในลาวใต้ของผมจึงประสบความสำเร็จเป็น Plan A ง่ายๆ ด้วยประการละฉะนี้

การเดินทางท่องเที่ยวในลาวใต้จะสะดวกมากหากเป็นการขับรถส่วนตัวไปเที่ยวเอง เพราะจุดท่องเที่ยวแต่ละแห่งค่อนข้างอยู่ห่างไกลกันมาก ซึ่งการนำรถส่วนตัวเข้าไปเที่ยวในลาวใต้ก็นับว่าสะดวกง่ายดายมาก เพียงแค่มี “พาสปอร์ตรถ” เล่มสีม่วง เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของรถ (หากยังไม่มีก็ไปทำที่กรมการขนส่งทางบกได้ทั่วไปเทศครับ) และใบขับขี่ที่เป็นแบบการ์ดแข็ง หรือสมาร์ทการ์ด เราก็สามารถขับรถเที่ยวในลาวได้เลย

ข้อควรระวังอย่างยิ่งยวดสำหรับการขับรถเที่ยวในประเทศลาวก็คือ “ชิดขวา ชิดขวา และชิดขวา” เท่านั้น ท่องไว้ให้ขึ้นใจ และพยายามใช้ความเร็วให้ตํ่าเข้าไว้ โดยเฉพาะช่วงที่ขับผ่านหมู่บ้านต่างๆ ควรลดความเร็วให้ตํ่าเป็นพิเศษ เพราะเด็กๆ มักจะวิ่งเล่นกันริมถนน และรถเล็กต่างๆ ก็มักจะโผล่พรวดออกมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยอีกต่างหาก ชวนให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายดีนักแล

แม้ว่าก่อนนำรถข้ามแดนจะต้องมีการทำประกันภัยเป็นภาคบังคับไว้แล้ว แต่เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากใช้ประโยชน์จากประกันนั้นเป็นแน่ ใช่ไหมล่ะครับ ดังนั้นขับช้าๆ เข้าไว้นะครับ

อ้อ ! เนื่องจากประเทศลาว นำเข้านํ้ามันจากประเทศไทยอีกทีนะ ราคานํ้ามันต่อลิตรจึงสูงกว่าบ้านเราพอสมควร ดังนั้นก่อนข้ามแดนที่ด่านช่องเม็ก อย่าลืมเติมน้ำมันให้เต็มถังไว้ก่อนนะครับ

 

ตัวอย่างหน้าปกหนังสือ “หอมกลิ่นดอกจำปา เสน่หาลาวใต้” โดย รุ่งโรจน์จุกมงคล และนคเรศ ธีระคำศรี

ปล. ขณะนี้หนังสือ “หอมกลิ่นดอกจำปา เสน่หาลาวใต้” โดย รุ่งโรจน์จุกมงคล และนคเรศ ธีระคำศรี พิมพ์โดยสำนักพิมพ์สารคดี มีวางจำหน่ายตามร้านหนังสือทั่วไปแล้วนะครับ

เรื่อง / ภาพ : จิรชนม์ ฉ่ำแสง


  • บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นตัวอย่าง สำหรับการวางแผนถ่ายภาพเมื่อต้องเดินทางไปในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ อันแปลกหูแปลกตา โดยเอาประสบการณ์การถ่ายภาพของผู้เขียนมาบอกเล่าแบ่งปันสู่กันฟัง โดยเอาความชอบของผู้เขียนเป็นที่ตั้ง หากแนวทางการถ่ายภาพจะไม่ถูกใจใครบ้างก็ขออภัยไว้ด้วยครับ และจริงๆ ก็ไม่ได้เน้นเรื่องสถานที่สักเท่าไร แต่อยากเน้นเรื่องวิธีการคิดและวางแผนสำหรับการถ่ายภาพ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสถานที่อื่นๆ ได้
    Plan A หมายถึง การถ่ายภาพที่สามารถทำได้ตามแผนทุกอย่างที่วางไว้โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไร
    Plan B หมายถึง การถ่ายภาพที่พบเจออุปสรรคบางประการ ทำให้ต้องมีการปรับแผนกันบ้าง อย่างเช่น เจอสภาพอากาศไม่เป็นใจ หาที่พักในจุดใกล้เคียงไม่ได้ ฯลฯ
    Plan C หมายถึง การถ่ายภาพที่พบเจออุปสรรคค่อนข้างมาก สิ่งที่คาดหวังไว้ ไม่เป็นอย่างที่คิด จนถึงขั้นต้องทำให้เปลี่ยนแผนไปเลย อย่างเช่น เจอกับการปิดซ่อมแซมสถานที่ เจอการเดินขบวนประท้วง เจอน้ำท่วมฉับพลัน หรือสถานการณ์ที่ล่อแหลมอันตราย หรืออาจหมายถึงอุปกรณ์ถ่ายภาพเสียหายหรือสูญหาย ฯลฯ

อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หรือสนใจบทความท่องเที่ยวที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/travels/photography-planner