Photo Techniques

ฉากหลัง ช่วยให้ภาพดูปังขึ้นนะ

คงจะปฏิเสธได้ยากว่า ในการถ่ายภาพภาพหนึ่งนั้น สิ่งที่จะทำให้ภาพดูสวยปัง ไม่ใช่แค่กล้องดี เลนส์ดี ที่ทำให้ถ่ายภาพมาได้คมชัดเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่องค์ประกอบหลายๆ อย่าง ที่รวมๆ มาเป็นภาพหนึ่งภาพ ทั้งมุมมองของช่างภาพ การวางองค์ตำแหน่งของซับเจคต์ รวมทั้งฉากหลังที่เรากำลังจะพูดถึงกันต่อจากนี้ไปนั่นเอง เพราะฉากหลัง มีส่วนที่จะช่วยส่งเสริมให้ภาพนั้น หรือซับเจคนั้น ดูโดดเด่นมากขึ้น หรือดูแล้วด้อยลง ซึ่งคงจะได้ยินอยู่บ่อยครั้ง กับการถ่ายภาพบุคคล ที่เน้นเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างๆ เพื่อต้องการให้ฉากหลังเบลอๆ และนายแบบ หรือนางแบบ จะได้โดดเด่นลอยออกมาจากฉากหลังนั่นเองมาดูกันว่า ฉากหลังแบบต่างๆ นั้น มีวิธีที่จะสร้างสรรค์ขึ้นได้อย่างไรครับ

การเลือกฉากหลังตามธรรมชาตินี้ เป็นวิธีที่ง่ายและยุ่งยากน้อยที่สุด แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับมุมมองและประสบการณ์ของช่างภาพด้วยเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็มักจะต้องการฉากหลังที่เบลอๆ และเน้นความคมชัดที่ซับเจค เพื่อให้โดดเด้งออกมาจากฉากหลังนั่นเอง วิธีที่จะทำให้ฉากหลังเบลอๆ นั้น อย่างแรกเลยคือ เลนส์ต้องมีขนาดรูรับแสงที่กว้างๆ เช่น f/1.2, f/1.4 หรือ f/1.8 หรือถ้าเป็นช่วงเทเลโฟโต้ ตั้งแต่ระยะ 100 มม. ขึ้นไป อาจจะกว้าง f/2.8 หรือ f/4 ก็ยังพอได้ครับ

องค์ประกอบถัดไปคือ ซับเจคต์ต้องอยู่ห่างจากฉากหลังให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ครับ ส่วนระยะจากกล้องถึงซับเจค ก็พยายามเข้าให้ใกล้ที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตามองค์ประกอบภาพและรูปแบบที่ต้องการครับ ถ้าใช้เลนส์ซูม ก็ให้ซูมที่ระยะไกลที่สุดของเลนส์นั้น เช่น เลนส์ 18-135 มม. ก็ซูมที่ระยะ 135 มม. หรืออย่างน้อยก็ที่ระยะ 100 มม. ขึ้นไปครับ

หลายๆ คนอาจจะคุ้นเคยกับโบเก้อยู่แล้ว ซึ่งเจ้าโบเก้ที่ว่านี่คือ จุดสว่างๆ ที่อยู่นอกระยะโฟกัสไกลออกไป ซึ่งเมื่อใช้เลนส์ที่มีขนาดรูรับแสงกว้างๆ โดยเฉพาะช่วงเทเลโฟโต้ เจ้าโบเก้นี้ก็จะกลมโต ดวงใหญ่ แต่ถ้าหากอยู่ใกล้เข้ามา หรือหรี่รูรับแสงเล็กลง เจ้าโบเก้ที่ว่าก็จะมีขนาดเล็กลง และมองเห็นเหลี่ยมได้ชัดเจนตามจำนวนของกลีบรูรับแสง
 
การสร้างโบเก้ก้จะเหมือนๆ กับการเลือกฉากหลังตามธรรมชาตินั่นแหละครับ แต่ฉากหลังที่ว่าเนี่ย จะต้องมีส่วนที่แสงส่องผ่านออกมาได้ เพราะจุดสว่างที่ลอดออกมาจากสุมทุมพุ่มไม้ หรือแสงที่ลอดลงมาจากช่องว่างระหว่างใบไม้ และควรจะเลือกพื้นที่ที่อยู่ห่างออกไป ไม่ใช่พื้นที่ที่ติดๆ หรือใกล้ๆ กันกับซับเจคต์ ซึ่งเมื่อโฟกัสไปยังซับเจคต์ และใช้รูรับแสงกว้าง ส่วนที่เป็นฉากหลังนั้นจะเบลอ จุดสว่างๆ ที่ลอดลงมาจากช่องใบไม้ก็จะเบลอเป็นวงๆ ที่เราเรียกว่า “โบเก้นั่น” ยังไงล่ะครับ
 
สำหรับการถ่ายภาพภายในสถานที่ หรือในห้อง จะเอาไฟประดับตามต้นคริสมาสต์ หรือไฟประดับตามงานรื่นเริงต่างๆ ที่เราเห็นเป็นดวงเล็กๆ กะพริบๆ อยุ่นั่นแหละครับ เอามาใช้ได้ และเปลี่ยนโหมดกะพริบให้เป็นการส่องสว่างค้างไว้เท่านั้นเอง
 

เลือกใช้ผ้าหรือกระดาษสี เป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกมากที่สุด ถ้าถ่ายภาพซับเจคที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก แค่เดินเข้าร้านเครื่องเขียน ก็มีให้เลือกจนตาลายกันเลยทีเดียว แต่ถ้าหากต้องการใช้ขนาดใหญ่ๆ สำหรับถ่ายภาพบุคคล หรือใช้งานแบบจริงๆ จังๆ ก็ต้องติดต่อตัวแทนที่จำหน่ายกระดาษฉากถ่ายภาพล่ะครับ หรือเดินเข้าร้านขายผ้า เลือกสีและขนาดตามที่ต้องการก็ได้เช่นกันครับ

เวลาใช้งานก็แค่เอาไปกางไว้ด้านหลังของซับเจค ถ้าใช้งานเอ๊าท์ดอร์ ก็คงต้องหาขาตั้งมายึดไว้ด้วย หรือหาคลิปหนีบติดไว้กับขาตั้งกล้อง เพื่อจะได้ไม่ต้องคอยถืออยู่ตลอด หรือเมื่อต้องไปคนเดียว ก็สะดวกดีนะครับ จะเลือกวางใกล้หรือไกลตามระยะชัดที่ต้องการก็ได้หมดครับ

สำหรับผู้ที่ใช้แฟลชอยู่เป็นประจำ ก็สามารถเลือกใช้กระดาษขาว หรือผ้าขาวก็ได้ เอามาสร้างแกหลังสีสันต่าง ครับ ซึ่งผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งคือ ผ้าหรือกระดาษขาวเอาไว้ทำเป็นรีเฟล็กได้ด้วย และใช้แฟลชเจลสีต่างๆ ตามที่ต้องการ ติดเข้าไปที่หน้าแฟลช แล้วก็ส่องไปยังกระดาษขาว ก็เหมือนกับการย้อมสีฉากนั่นแหละครับ อยากจะได้สีไหน ก็เปลี่ยนได้ตามต้องการ เพราะแฟลชเจลชุดหนึ่ง มีให้เลือกโทนสีได้มากมายทีเดียวครับ แฟลชควรจะให้สว่างน้อยกว่าค่าที่วัดแสงได้ หรือค่าแสงที่ซับเจคต์ประมาณ 1 สตอป เพื่อให้สีสันชัดเจนมากขึ้นครับ

ปัญหาฉากหลังไม่ตำเข้มตามที่ต้องการนี้ มักจะเกิดขึ้นเมื่อถ่ายภาพในวันที่อากาศทึมๆ ครึ้มๆ ไม่มีแดดนั่นแหละครับ ซับเจคอยู่ในสภาพแสงที่เหมือนๆ กันกับฉากหลัง หรือแสงที่ตกลงฉากหลัง กับแสงที่ซับเจคต์เท่าๆ กัน หรือแตกต่างกันเล็กน้อย ยังไงก็ไม่สามารถถ่ายภาพให้ซับเจคต์สว่างพอดี แล้วให้ฉากหลังดำทึบแน่ๆ ดังนั้นต้องใช้แฟลชช่วยครับ
 
วิธีการก็คือ ตั้งแฟลชให้ส่องไปที่ซับเจคที่ต้องการ และหลีกเลี่ยงแสงที่จะไปตกที่ฉากหลังด้วย ดังนั้นการแยกแฟลชออกจากตัวกล้องและควบคุมด้วยสายพ่วงแฟลช หรือควบคุมด้วยระบบ Wireless จะสะดวกที่สุด และปรับซูมหัวแฟลชให้ส่องไปที่ซับเจคต์เพียงอย่างเดียวครับ
 
การใช้แฟลชให้ฉากหลังดำนั้น แฟลชควรจะรองรับกับระบบ Hi-Speed Sync หรือแฟลชสัมพันธ์กับความเร็วชัตเตอร์สูง ซึ่งโดยปกติแล้ว ความเร็วชัตเตอร์ของแฟลชที่ใช้กับกล้องรุ่นหนึ่งๆ จะถูกตั้งค่ามาจกโรงงานผู้ผลิต แตกต่างกันไปตามรุ่นหรือยี่ห้อกล้อง เช่น แคนนอนบางรุ่น ความเร็วชัตเตอร์สัมพันธ์กับแฟลชที่ 1/200 วินาที นิคอนบางรุ่น ความเร็วที่สัมพันธ์กับแฟลชที่ 1/250 วินาที เป็นต้น ซึ่งเราสามารถใช้ต่ำกว่าค่านั้นๆ ได้ แต่ใช้สูงเกินไม่ได้ กล้องจะล็อกค่าความเร็วชัตเตอร์ไว้สูงสุดแค่นั้น เมื่อเปิดใช้แฟลช
 
ดังนั้น การถ่ายภาพกลางแจ้งที่ต้องการฉากหลังดำ โดยการใช้แฟลช อาจจะต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงกว่าค่าความเร็วชัตเตอร์ที่สัมพันธ์กับแฟลช เพื่อให้ภาพที่ได้ติดอันเดอร์ หรือมืดกว่าปกตินั่นเองครับ เช่น วัดแสงปกติ ได้ ชัตเตอร์ 1/125 วินาที f/11 ซึ่งถ้าหากว่าถ่ายภาพมาตามค่าที่วัดได้นี้ ทั้งซับเจคต์และฉากหลัง จะได้ค่าแสงที่เท่ากัน ทำให้ซับเจคต์ไม่โดดเด่นเท่าที่ควร
 
ดังนั้นจึงต้องวัดแสงให้อันเดอร์ลงไปอีก สมมุติว่าต้องการ 3 สตอป นั่นคือต้องปรับเพิ่มความเร็วชัตเตอร์อีก 3 สตอป ค่าที่ได้จะเป็นชัตเตอร์ 1/1000 วินาที f/8 นั่นคือแสงอันเดอร์ไป 3 สตอป ซึ่งเมื่อกดชัตเตอร์ถ่ายภาพนั้นออกมา จะได้ภาพที่ดำมืด จากนั้นให้เปิดแฟลช เมื่อกดชัตเตอร์ถ่ายภาพออกมา แสงแฟลชจะทำให้ซับเจคต์ สว่างพอดี ส่วนฉากหลังจะมืดดำ เพราะค่าการวัดแสงอันเดอร์ และไม่มีแสงแฟลชไปทำให้สว่างขึ้นนั่นเอง แสงแฟลชช่วยให้ซับเจคต์ โดดเด่นขึ้นมาได้ครับ ถ้าหากว่าต้องการซับเจคต์ที่สว่างมากขึ้น หรือลดความสว่างลง ก็เพียงแค่ปรับชดเชยแสงแฟลชเท่านั้นเอง โดยไม่ต้องไปยุ่งกับค่าความเร็วชัตเตอร์ หรือรูรับแสงแต่อย่างใดครับ
 
Tips : สำหรับวิธีการถ่ายภาพแบบนี้ เลือกใช้โหมดถ่ายภาพแบบแมนนวล หรือโหมด M จะทำให้การปรับตั้งต่างๆ สะดวกมากกว่าโหมดอื่นๆ และได้ค่าแสงที่คงที่มากกว่า และสามารถปรับตั้งค่าได้ทั้งความเร็วชัตเตอร์และรูรับแสง เพื่อให้แสงอันเดอร์รวมๆ กันได้ ไม่จำเป็นจะต้องปรับค่าใดค่าหนึ่งเพียงค่าเดียวครับ

ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/tip-trick/photo-techniques/