Basic Photography

ความสัมพันธ์ของรูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์ และ ค่าความไวแสง ฉบับย่อ เข้าใจง่าย ครบ จบในภาพเดียว

A Picture To Show You Clearly The Effects of Aperture, Shutter Speed and ISO On Images
ผู้เขียน  : Anthony Dejolde
ความสัมพันธ์ของรูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์ และ ค่าความไวแสง ฉบับย่อ เข้าใจง่าย ครบ จบในภาพเดียว

มีช่างภาพมือใหม่หรือมือสมัครเล่นจำนวนมากที่ยังคงไม่เข้าใจว่า จะใช้ความเร็วชัตเตอร์เท่าไหร่ เมื่อไหร่, รูรับแสงทำงานอย่างไร และค่าความไวแสงช่วยอะไรได้บ้าง
     หลายคนยังคงไม่รู้ว่า รูรับแสง ใช้ควบคุมปริมาณแสงที่ส่องผ่านจากเลนส์ไปที่เซ็นเซอร์กล้อง มาก-น้อยตามตัวเลขแทนค่าที่เรียกว่า F/stop ตัวเลขมากคือรูรับแสงแคบ ปริมาณแสงจะผ่านเข้าไปได้น้อย ส่วนตัวเลขน้อยจะเป็นค่าตรงข้าม ซึ่งตัวเลขน้อยนี้สามารถสร้างเอฟเฟคหน้าชัดหลังเบลอหรือละลายฉากหลังได้ แล้วควรปรับรูรับแสงกว้างหรือแคบในสถานการณ์แบบไหนบ้าง?

     ความเร็วชัตเตอร์ เป็นการปล่อยให้แสงผ่านเข้าไปในเซ็นเซอร์ โดยใช้รูปแบบของเวลาเป็นตัวกำหนด ความเร็วชัตเตอร์สูง หรือแสดงด้วยตัวเลข 1/xxx  ตัวเลขยิ่งมากหมายถึงความเร็วชัตเตอร์ที่สูงมาก ม่านชัตเตอร์จะเปิดและปิดในระยะเวลาเป็นเศษส่วนของวินาที แสงจะเข้าไปได้ตามเวลาที่ม่านชัตเตอร์เปิดเท่านั้น กลับกัน ตัวเลขน้อยๆ หมายถึงความเร็วชัตเตอร์ต่ำ เช่น 10, 5, 2, หมายถึงเวลาที่ม่านชัตเตอร์เปิดเป็นวินาที แสงจะเข้าได้มากตามเวลาที่เลือก แต่ภาพที่ได้อาจจะเบลอถ้าใช้มือเปล่าถือกล้อง  แล้วควรเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์เร็วหรือต่ำ?

     ค่าความไวแสง หรือ iso แสดงค่าเป็นตัวเลข ตัวเลขน้อยหมายถึงค่าความไวแสงต่ำ ตัวเลขมากค่าความไวแสงสูง ภาพจะมีความสว่างมากขึ้นตาม แต่การใช้ค่าความไวแสงสูงจะทำให้ภาพเกิด noise หรือสัญญาณรบกวน ที่มีลักษณะเป็นจุดเล็กๆในภาพ ทำให้ภาพสูญเสียรายละเอียด ความคมชัดและสี ยิ่งความไวแสงสูงมากยิ่งมี noise มากตามไปด้วย แล้วเมื่อใดต้องเลือกใช้ค่าความไวแสงสูงหรือต่ำ?

ภาพถ่ายที่ดีต้องมีค่าแสงที่ถูกต้อง ไม่มืดหรือสว่างเกินไป มีความคมชัด ซึ่งพื้นฐานของการได้มาซึ่งภาพถ่ายที่ดี เกิดจากความสัมพันธ์ของทั้งสามค่านี้ รูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์ และ ความไวแสง การถ่ายภาพในเวลากลางวันที่มีแสงสว่างพอ คุณอาจเลือกใช้รูรับแสงแคบได้ตามชอบ แต่รูรับแสงแคบก็ต้องปรับความเร็วชัตเตอร์ต่ำลงมาให้สัมพันธ์กันเพื่อให้แสงผ่านไปเซ็นเซอร์ได้ค่าที่ถูกต้อง หรือการถ่ายภาพกลางคืนที่ต้องใช้รูรับแสงกว้าง ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ หากยังไม่เพียงพอก็ต้องปรับค่าความไวแสงช่วย

     จากภาพ แนะนำให้ปรับตั้งค่ารูรับแสง หรือ ความเร็วชัตเตอร์ ตามลักษณะแสงหรือภาพที่ต้องการก่อน หากปรับทั้งสองค่าแล้วยังไม่เพียงพอ จึงเลือกปรับค่าความไวแสงเป็นอันดับสุดท้าย ปรกตินิยมตั้งค่าความไวแสงที่ iso ต่ำเพื่อไม่ให้เกิด noise เช่น iso 100, 200, 400 หรือหากจำเป็นค่อยขยับไปที่ 800  เช่น ต้องการถ่ายภาพบุคคลละลายฉากหลัง ให้เลือกปรับรูรับแสงกว้าง ปรับความเร็วชัตเตอร์ตามเพื่อให้ค่าแสงพอดี หากปรับทั้งสองค่าแล้วยังไม่เพียงพอ ค่อยปรับค่าความไวแสงเพิ่ม อย่างไรก็ตามภาพถ่ายที่ดีที่มีค่าแสงถูกต้อง จะกลายเป็นภาพถ่ายที่สวย ดึงดูดสายตาคนมอง ยังมีองค์ประกอบอื่นๆอีกหลายอย่าง ความสัมพันธ์ของทั้งสามค่าเป็นเพียงหลักพื้นฐานเท่านั้น หากมีความชำนาญพอสามารถนำไปประยุกต์ใช้ตามความต้องการได้ครับ

ที่มา  :  lifehack.org