Photo Techniques

ความผิดพลาด ในการถ่ายภาพสัตว์เลี้ยง

การถ่ายภาพสัตว์เลี้ยงเป็นเรื่องที่หลายท่านให้ความสนใจ เพราะคนที่รักสัตว์ก็ย่อมอยากได้ภาพสัตว์เลี้ยงของตนเองสวยๆ ในอิริยาบทที่ต้องการ แต่บ่อยครั้งจะพบว่า ภาพที่ได้มักจะมีความผิดพลาดในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือหลายๆ เรื่องรวมกัน ทำให้พลาดโอกาสได้ภาพดีๆ แล้วอะไรคือความผิดพลาดที่พบเห็นได้บ่อยๆ บ้าง

ภาพเบลอเพราะกล้องโฟกัสผิดตำแหน่ง มือใหม่มักจะไม่ทราบวิธีการเซ็ทอัพ
กล้องในการถ่ายภาพ หากถ่ายภาพสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข หรือแมว ที่อยู่นิ่งๆ ก็จะไม่มีปัญหา แต่เมื่อต้องการภาพแอ็กชันของสัตว์เลี้ยงที่กำลังวิ่ง กำลังเล่นอยู่ ความผิดพลาดจากการโฟกัสของกล้องจะพบได้เสมอ เพราะมือใหม่จะไม่ทราบว่าเมื่อต้องการถ่ายภาพเคลื่อนไหวของสัตว์เลี้ยง ควรปรับโฟกัสไปที่ AF-C เพื่อให้กล้องโฟกัสตามสัตว์เลี้ยงตลอดเวลา และควรเลือกพื้นที่โฟกัสให้เหมาะสม การเลือกพื้นที่โฟกัสแคบเกิน จะทำให้การเคลื่อนกล้องตามสัตว์เลี้ยง โดยยังให้จุดโฟกัสอยู่ที่ใบหน้าและดวงตาสัตว์เป็นเรื่องยากมาก แต่ถ้าเลือกพื้นที่โฟกัสแบบกว้าง (Wide) กล้องก็อาจโฟกัสผิดตำแหน่ง โดยเฉพาะการถ่ายภาพสุนัขที่มีใบหน้ายาว หากถ่ายหน้าตรง กล้องมักจะโฟกัสที่จมูกของสุนัขเสมอ ทำให้ตาของสุนัขเบลอ (ฟังก์ชัน Animal Eye AF ของกล้องรุ่นใหม่ๆ จะช่วยให้การโฟกัสง่ายและแม่นยำขึ้น)

ภาพเบลอเพราะแสงน้อย ในการถ่ายภาพสัตว์เลี้ยง บ่อยครั้งเราต้องถ่ายแสงตามสภาพ ไม่สามารถเลือกสภาพแสงได้ดังใจ เพราะอิริยาบทที่น่ารักของสัตว์เลี้ยงอาจอยู่ในจังหวะ ในสถานที่ที่มีสภาพแสงน้อย หากรีบร้อนถ่ายภาพโดยไม่ดูค่าความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสม มักจะพบว่า ภาพมักจะเบลอเพราะความเร็วชัตเตอร์ตํ่าเกินกว่าจะถือกล้องด้วยมือ หรืออาจจะสูงพอถือด้วยมือได้ แต่ไม่พอจะหยุดการเคลื่อนไหวของสัตว์เลี้ยง ดังนั้น จึงควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ให้สูงพอทุกครั้งก่อนลั่นชัตเตอร์ การฝึกควบคุมกล้องให้คล่อง ปรับค่าต่างๆ ได้รวดเร็ว จะทำให้คุณแก้ไขการปรับตั้งที่ผิดพลาดได้เร็ว เพิ่มโอกาสการได้ภาพที่ดีมากขึ้น

ไม่ได้จังหวะที่ดี ในการถ่ายภาพสัตว์เลี้ยง คุณควรเตรียมพร้อมอยู่เสมอการวัดแสงควรเตรียมไว้ล่วงหน้า โดยลองบันทึกภาพแล้วดูความสว่างของภาพว่าโอเคหรือไม่ เลือกความเร็วชัตเตอร์ไว้ล่วงหน้าให้เหมาะกับสภาพแสงและการเคลื่อนไหวของสัตว์เลี้ยง หากเป็นการถ่ายภาพสัตว์เลี้ยงที่อยู่นิ่งๆ มักจะไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าสัตว์เลี้ยงเคลื่อยไหว ควรปรับการบันทึกเป็นโหมดถ่ายภาพต่อเนื่อง เพื่อจับทุกอิริยาบทของการเคลื่อนไหว การบันทึกแบบทีละเฟรมด้วยการจับจังหวะเอง อาจเป็นวิธีฝึกฝนการถ่ายภาพเคลื่อนไหวได้ แต่หากคุณไม่เชี่ยวชาญมากพอ มักจะพลาดจังหวะที่ดีเสมอ ดังนั้น หากต้องการภาพแอ็กชันดีๆ จับจังหวะได้ตรงตามต้องการ ควรตั้งระบบถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูงสุดเสมอ

ฉากหลังไม่ดี การถ่ายภาพสัตว์เลี้ยงโดยไม่มีการมองภาพมองเฟรมไว้ล่วงหน้า หยิบกล้องออกมาถ่ายตามสภาพแสงโดยดูอิริยาบทของสัตว์อย่างเดียว ทำให้ละเลยฉากหลัง ฉากหลังที่รกรุงรังด้วยข้าวของในบ้าน ฉากหลังที่สว่างจ้า ฉากหลังที่มีสีสว่างเหล่านี้มักรบกวนสายตา ทำให้สัตว์เลี้ยงของคุณดูไม่โดดเด่นอย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้น จึงควรมองจุดวางตำแหน่งกล้องก่อนว่า ควรถ่ายจากจุดใด ฉากหลังเป็นอะไร ควรใช้เลนส์ช่วงใด เพื่อเก็บฉากหลังกว้างหรือแคบเพียงใด

วัดแสงผิดพลาด ปัญหาเรื่องวัดแสงผิดพลาดมักเกิดขึ้นได้เสมอเมื่อถ่ายภาพสัตว์เลี้ยง เพราะการถ่ายภาพในสถานที่ บางมุมต้องถ่ายย้อนแสงออกไปภายนอกอาคาร นอกบ้าน ค่าแสงที่แตกต่างกันหลายสตอปทำให้กล้องวัดแสงผิดพลาดได้ แต่ปัญหานี้ควรจะเกิดกับกล้อง DSLR เท่านั้น (หากผู้ใช้ไม่ชำนาญเรื่องการวัดแสง) กล้องมิเรอร์เลสไม่ควรมีปัญหาเรื่องวัดแสง เพราะภาพที่เห็นจากช่องมองภาพหรือจอ LCD เป็นค่าแสงที่จะได้บนภาพจริง ดังนั้น หากมองภาพแล้วภาพอันเดอร์ หรือโอเวอร์ ก็ควรชดเชยแสงให้เรียบร้อยก่อนกดปุ่มลั่นชัตเตอร์


แสงสำหรับการถ่ายภาพสัตว์เลี้ยง

แสงมีส่วนสำคัญอย่างมากสำหรับการถ่ายภาพสัตว์เลี้ยง นอกเหนือไปจากความน่ารักของสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ การเลือกใช้แสงให้เหมาะสมย่อมส่งผลทั้งต่ออารมณ์ของภาพ บรรยากาศ สีสัน และความงดงามของภาพ ช่างภาพจึงไม่ควรปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามสภาพ เป็นไปตามวิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของสัตว์เลี้ยงแต่เพียงอย่างเดียว บางครั้งเราต้องจัด ต้องเลือกมุมภาพ และเลือกแสงที่ดีด้วยตัวเองก่อน แล้วจึงนำสัตว์เลี้ยงไปวางยังตำแหน่งที่ต้องการ ที่เหลือก็คือทักษะในการหลอกล่อสัตว์ และความเร็วในการจับจังหวะภาพของผู้ถ่าย

แสงธรรมชาติในช่วงเช้าหรือเย็น เป็นแสงที่เหมาะสมต่อการถ่ายภาพสัตว์เลี้ยง แสงอาทิตย์อุ่นๆ สาดในมุมตํ่า นอกจากจะสร้างมิติให้ภาพ สร้างอารมณ์ให้ภาพแล้ว ยังสร้างเงาที่สวยงามทอดตัวบนพื้นหญ้าพื้นสนาม และแสงยามเช้า หรือยามเย็น ก็มักจะมาพร้อมกับอากาศที่ไม่ร้อนอบอ้าว สัตว์เลี้ยงยังร่าเริง จึงเหมาะต่อการถ่ายภาพ โดยเฉพาะภาพแอ็กชั่น เช่น ให้สุนัขไปคาบสิ่งของ เรียกสุนัขให้วิ่งเข้ามาหาเจ้าของ ควรเลือกมุมภาพที่ไม่เป็นทิศทางตามแสงอย่างเดียว ทิศทางแสงที่เข้าด้านข้าง มุมย้อนแสง ก็ควรบันทึกให้หมด และอย่าพะวงกับการชดเชยแสงมากนัก ภาพสัตว์เลี้ยงที่อันเดอร์ไปบ้างจากการถ่ายย้อนแสงไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร แสงในช่วงเช้าหรือเย็น มีข้อดีอีกเรื่องคือ เหมาะทั้งการภ่ายภาพเจาะให้เห็นเฉพาะสัตว์เลี้ยง หรือถ่ายกว้างเพื่อเก็บบรรยากาศ ทำให้สามารถใช้เลนส์ได้ทุกช่วง ตั้งแต่เลนส์ฟิชอาย จนถึงซุปเปอร์เทเลโฟโต้

แสงหน้าต่าง เป็นแสงที่ช่างภาพยอมรับกันว่าให้ผลดีมากกับการถ่ายภาพบุคคล ดังนั้น จึงเป็นแสงที่ดีสำหรับการถ่ายภาพสัตว์เลี้ยงด้วยเช่นกัน แสงที่ผ่านชายคาบ้าน ผ่านหน้าต่าง ให้ความนุ่มนวลราวกับใช้ซอฟท์บอกซ์ขนาดใหญ่ในสตูดิโอ เราสามารถเลือกทิศทางแสงได้ด้วยการขยับมุมกล้องและสัตว์เลี้ยง และเลือกใช้เลนส์ให้เหมาะสมกับสภาพฉาก แสงหน้าต่างมีข้อดีคือ ทำให้ภาพสัตว์เลี้ยงดูมีมิติ เห็นรูปทรงของใบหน้าลำตัวชัดเจนกว่าการถ่ายภาพตามแสง และจะได้ความเปรียบต่างของแสงดี ไม่มีส่วนที่โอเวอร์หรืออันเดอร์จนขาดรายละเอียด

แสงช่วงโพล้เพล้ แสงช่วงนี้จะแตกต่างๆ จากช่วงเวลาอื่นอย่างชัดเจน คุณจะต้องวัดแสงจากฉากหลังที่เป็นท้องฟ้า หรือแสงของสิ่งก่อสร้างอาคารต่างๆ ในช่วงโพล้เพล้ และหาวิธีบาลานซ์แสงที่สัตว์เลี้ยง ให้สมดุลกับแสงฉากหลังช่วงโพล้เพล้ โดยอาจจะใช้แฟลช ใช้ไฟ LED ฉายไปยังสัตว์เลี้ยง จึงจะได้ภาพที่ดูน่าสนใจ เพราะค่าแสงที่สัตว์เลี้ยงกับฉากหลังมักจะแตกต่างกันค่อนข้างมาก การชดเชยแสงไม่ใช่วิธีที่ดี เพราะจะทำให้แสงฉากหลังโอเวอร์ สีสันที่สวยงามของท้องฟ้า อาคารสิ่งก่อสร้างต่างๆ จะหายไป เราสามารถควบคุมความสว่างของแสงที่สัตว์เลี้ยงกับฉากหลังได้ บางครั้งการควบคุมให้แสงที่สัตว์เลี้ยงสว่างกว่าฉากหลัง ก็จะทำให้ตัวแบบเด่น และลอยออกมาจากฉากหลังได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับสภาพฉากด้วย แต่ถ้าไม่มีแฟลชหรือไฟเลย การถ่ายให้เป็นซิลลูเอทก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพียงแต่ต้องหามุมที่จะเห็นรูปทรงของสัตว์เลี้ยงได้ชัดเจน

แฟลช การถ่ายภาพสัตว์เลี้ยงในสถานที่ บ่อยครั้งจะพบว่า สภาพแสงในห้องไม่เอื้อเท่าใด แสงอาจน้อยเกิน ทิศทางแสงไม่ดี มีเงาไม่สวย ดังนั้น การใช้แฟลชก็เป็นทางออกที่ดี แต่ไม่ควรใช้แฟลชติดหัวกล้องแล้วยิงตรง เพราะภาพจะดูแบน ไม่มีมิติ แสงแข็ง เกิดเงาชัดเจน วิธีแก้คือ ใช้แฟลชเบาซ์กับเพดานหรือผนัง (ถ้าเพดานหรือผนังเป็นสีขาว) คุณจะได้แสงที่นุ่มนวล และใสเคลียร์ทั้งภาพได้ง่ายๆ เพียงแต่แฟลชที่ใช้จะต้องมีกำลังสูงพอควร การเบาซ์แฟลชควรดึงแผ่นสีขาวบนหัวแฟลชออกมาด้วย เพื่อสะท้อนเปิดเงาใต้ตาใต้จมูก ใต้ปาก ทำให้แสงเคลียร์ขึ้น การแยกแฟลชก็เป็นอีกวิธีที่ทำให้สามารถควบคุมทิศทางแสงได้ แต่ต้องคำนึงถึงความนุ่มนวลของแสงด้วย

อีกกรณีที่จะใช้แฟลชถ่ายภาพสัตว์เลี้ยงได้ดี คือ การใช้แฟลชเป็นแสงหลักในการ Fill-in กับแสงแดดแรงๆ ในช่วงเที่ยงหรือบ่าย หากแฟลชแรงพอ คุณจะสามารถควบคุมความสว่างของแสงแฟลช และควบคุมความสว่างของฉากหลังได้ สามารถกดค่าแสงที่ฉากหลังให้อันเดอร์ได้ตามต้องการแสงที่ดีสามารถภาพสัตว์เลี้ยงที่น่าสนใจได้ ดังนั้น ก่อนถ่ายภาพสัตว์เลี้ยงทุกครั้ง ลองดูเรื่องแสงก่อนว่า จะใช้แสงรูปแบบใด ถ่ายจากทิศทางใด และถ่ายในมุมใด เท่านี้ โอกาสได้ภาพสัตว์เลี้ยงดีๆ ก็มีมากขึ้นแล้วครับ.

 

เรื่อง : กองบรรณาธิการ
ภาพ : Pixelbay


📢 ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่ 💻
📌Line@ : @fotoinfo
📌YouTube : Fotoinfo Channel
📌Website : fotoinfomag.com
📌e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine

ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/tip-trick/photo-techniques/